ทำไม "ฟุตบอลโลก 2022" ถึงเป็นครั้งที่เหงาใจที่สุดในประวัติศาสตร์?

ทำไม "ฟุตบอลโลก 2022" ถึงเป็นครั้งที่เหงาใจที่สุดในประวัติศาสตร์?

​อะไรนะ ฟุตบอลโลกจะมาแล้วเหรอ? จัดที่ไหนนะ แข่งเมื่อไร? นี่คือประโยคคำถามในบทสนทนาปกติในช่วงที่ผ่านมาของใครหลายคน เพราะมีคนที่ไม่รู้จริง ๆ ว่า มหกรรมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากแค่กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนกำลังจะกลับมาอีกครั้งหลังห่างหายเป็นเวลานานกว่า 4 ปี

ทวนกันก่อนอีกครั้งว่า “ฟุตบอลโลก 2022” จะจัดขึ้นที่ ประเทศกาตาร์ ในระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน - 18 ธันวาคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มีการแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี 1930 ที่ฟุตบอลโลกจะเดินทางมาถึงตะวันออกกลาง​

​โดยเจ้าภาพมีการทุ่มทุนมหาศาลมากถึง 220,000 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8.3 ล้านล้านบาท (อ่านไม่ผิดนะตัวเลขนี้!) เพื่อเนรมิตทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับขึ้นมาบนแผ่นดินทะเลทรายแห่งนี้

​แต่ถึงอย่างนั้น ฟุตบอลโลก ครั้งนี้กลับไม่เป็นที่สนใจหรือมีกระแสพูดถึงในทางที่ดีมากนัก ซึ่งแตกต่างจากบรรยากาศฟุตบอลโลกในอดีตที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน คึกคัก และบทสนทนาภาษาลูกหนังว่าใครกันนะที่จะได้ครองถ้วยแชมป์โลกสีทองใบนั้น

​มันเกิดอะไรขึ้นกับฟุตบอลโลกในครั้งนี้?

  • ฟุตบอลโลกในฤดูที่แตกต่าง

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ฟุตบอลโลกครั้งนี้ไม่อยู่ในกระแสที่พูดถึงเหมือนทุกครั้งมาจากระยะเวลาในการจัดการแข่งขัน

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ฟุตบอลโลกจะทำการแข่งขันในช่วงกลางปีซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลีกฟุตบอลในยุโรปที่ต้องยอมรับว่าเป็นเสาหลักต้นใหญ่ของวงการลูกหนังโลกปิดพักการแข่งขันในฤดูกาลปกติ นักฟุตบอลที่แข่งให้ต้นสังกัดจนจบฤดูกาลแล้วก็จะมารายงานตัวกับทีมชาติเพื่อทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประเทศได้อย่างเต็มที่ไม่มีอะไรต้องพะวง

​แต่ฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ถูกย้ายเวลาจัดการแข่งขันมาเป็นช่วงฤดูหนาว หลังจากที่มีความกังวลในเรื่องของสภาพอากาศอันโหดร้ายของกาตาร์ในช่วงเดือนมิถุนายนที่อาจจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพของทั้งนักฟุตบอลหรือแม้แต่แฟนฟุตบอลจากทั่วโลก แม้ว่าเดิมทีเจ้าภาพจะมั่นใจกับการเนรมิต “สนามฟุตบอลติดแอร์” ว่าจะสามารถทำให้ฟุตบอลโลกเกิดขึ้นได้ตามปกติก็ตาม

​ฟีฟ่ายืนยันการเปลี่ยนเวลาแข่งขันมาเป็นฤดูหนาวในเดือนมีนาคม 2018 โดยให้เวลา 4 ปีสำหรับองค์กรลูกหนังต่าง ๆ ในการหาทางออกเรื่องการจัดโปรแกรมการแข่งขัน ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ฟุตบอลยุโรปจะต้องถูกพักการแข่งขันกลางฤดูกาลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

​การที่โปรแกรมถูกคั่นกลางแบบนี้เป็นการแย่งความสนใจกันเองระหว่างการแข่งขันฟุตบอลยุโรปที่เข้มข้นกับฟุตบอลโลก ไม่เฉพาะกับแฟนบอลที่ทุกวันนี้ยังสนใจกับทีมรักของตัวเองที่ลงสนามทุกสุดสัปดาห์ แต่รวมถึงนักฟุตบอลเองที่ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ชัดเจน (ไม่นับเรื่องการบาดเจ็บของสตาร์ที่หัวใจสลายไปแล้วหลายต่อหลายคนเพราะเจ็บก่อนการแข่งไม่กี่สัปดาห์ ความฝันสลายทันที ล่าสุดคือ ปอล ป็อกบา สตาร์ทีมแชมป์โลกฝรั่งเศส และอาจรวมถึง ซน ฮึง-มิน ฮีโร่ทีมชาติเกาหลีใต้ด้วย)

​สุดท้ายกระแสของฟุตบอลโลกจึงยังไม่เกิดแม้ว่าจะใกล้เวลาการแข่งขันมากระดับเหลือไม่ถึง 2 สัปดาห์แล้วก็ตาม

  • ฟุตบอลโลกที่เสื่อมเสีย

​การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมักจะมาพร้อมกับความฉาวโฉ่เสมอ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการคอร์รัปชันงบประมาณเป็นส่วนใหญ่

​แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่เจ้าภาพฟุตบอลโลกจะถูกประณามจากทุกฝ่ายมากมายในระดับที่กาตาร์เผชิญตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

​เริ่มจากเรื่องของการคอร์รัปชันในการได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกที่ถูกกล่าวหาพร้อมกับรัสเซีย (เจ้าภาพในปี 2018 ที่ได้รับเลือกในวันเดียวกัน) โดยศาลประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนในเรื่องนี้เลยทีเดียว ซึ่งแม้ว่าจะไม่พบการกระทำผิด แต่คนอย่างเซปป์ แบลตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่าระบุว่า กาตาร์ใช้วิธีในการทำให้ได้รับคะแนนโหวตจากคณะกรรมการฟีฟ่าก็ถือว่าน่าสนใจ

​ขณะที่ในรายงานสืบสวนยังระบุว่า มีการจ้างอดีต CIA คอยสอดแนมข้อเสนอจากคู่แข่งและดูว่าคู่แข่งพยายามล็อบบี้ใครจนได้รับชัยชนะ เรียกได้ว่าฟุตบอลโลกที่กาตาร์นั้นถูกมองว่าไม่ขาวสะอาดตั้งแต่แรก

  • ฟุตบอลโลกบนรอยเลือด

แต่เรื่องใหญ่ที่สุดคือปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานที่ถูกเกณฑ์มาจากหลายประเทศเช่น เนปาล อินเดีย ปากีสถาน หรือเคนยา ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ยากจนเพื่อก่อสร้างทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับฟุตบอลโลกครั้งนี้ แต่แรงงานเหล่านี้กลับไม่ได้รับการดูแลอย่างที่สมควรได้รับ

ตามรายงานพิเศษของ The Guardian สื่ออังกฤษ ระบุว่ามีแรงงานเสียชีวิตจากงานก่อสร้างโครงการฟุตบอลโลกมากกว่า 6,500 คน นอกจากนี้แรงงานยังได้รับการปฏิบัติที่เลวร้าย มีกฎหมาย “ผู้คุ้มครอง” ที่ทำให้แรงงานตกเป็นเบี้ยล่างของตัวแทนนายจ้าง และยังไม่ได้ค่าจ้างหรือครอบครัวของผู้สูญเสียยังไม่ได้รับเงินเยียวยาจากการเสียเสาหลักของครอบครัวด้วย

จนปัจจุบันยังไม่มี “ความยุติธรรม” กลับคืนมาให้แก่แรงงานเหล่านี้แต่อย่างใด ท่ามกลางการเรียกร้องจากทุกฝ่ายให้ฟีฟ่าทำอะไรสักอย่างเพื่อที่อย่างน้อยเช็ดรอยเลือดและคราบน้ำตาของคนที่อยู่เบื้องหลังสิ่งก่อสร้างที่สวยงามมากมายในกาตาร์

  • ฟุตบอลโลกที่แบ่งแยกผู้คน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายในประเทศกาตาร์ที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าจากเจ้าภาพจะยืนยันว่ายินดีต้อนรับแฟนฟุตบอลทุกเพศจากทั่วโลก

​เรื่องนี้ก็สร้างความกังวลให้แก่แฟนฟุตบอลจำนวนมากที่ไม่กล้าเดินทางมาเยือนกาตาร์ เพราะไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่าเมื่อมาถึงแล้วพวกเขาจะต้องเผชิญกับอะไร จะมีใครรับประกันความปลอดภัยให้แก่พวกเขาได้หรือไม่ และจะเกิดอะไรขึ้นหากพวกเขาถูกจับกุมทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิดเลยนอกจากแค่เป็นตัวของตัวเอง

ฟุตบอลโลกครั้งนี้จึงเป็นฟุตบอลโลกที่แบ่งแยกผู้คนจากกันทั้งที่ ๆ มันเป็นยุคสมัย Diversity แล้ว

​ยังไม่นับเรื่องค่าใช้จ่ายที่แพงระยับในการเดินทางไปกาตาร์ช่วงฟุตบอลโลก ที่พักที่ราคาสูงและมีไม่เพียงพอจนต้องมีการแก้ปัญหาด้วยการสร้างที่พักชั่วคราวในตู้คอนเทนเนอร์หรือโรงแรมกลางทะเลที่นำเรือสำราญมาแก้เกมซึ่งดูแล้วไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายเลยแม้แต่น้อย ยังเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่แฟนบอลทั่วโลกไม่อยากเดินทางไปกาตาร์สักเท่าไร​(หรือคนที่ไปก็ไม่แฮปปี้นักเพราะกฎหมายทำให้ใครอยากดื่มแอลกอฮอล์ต้องดื่มในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น!)

​ฟุตบอลโลกที่ไม่ได้ใจแฟนบอลก็ไม่น่านับเป็นฟุตบอลโลกนัก

  • ฟุตบอลโลกที่ไร้ตัวตนในประเทศไทย

ในประเทศไทยเองยิ่งแล้วหนัก ฟุตบอลโลกครั้งนี้แทบจะเป็นฟุตบอลโลกที่ไร้ตัวตน ​ไม่มีคนพูดถึง ไม่มีใครสนใจ ไม่มีอะไรเลย ซึ่งแตกต่างจากบรรยากาศฟุตบอลโลกในอดีตที่เต็มไปด้วยสีสัน ความสนุกสนาน ความคึกคักจากบรรดากิจกรรมของแบรนด์ต่าง ๆ ทั้งที่เป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นทางการ เช่น โค้ก แม็คโดนัลด์ การจัดกิจกรรมออนกราวด์นั่งดูฟุตบอลโลกไปด้วยกัน (ทั้ง ๆ ที่เวลาการแข่งในครั้งนี้ค่อนข้างดีมาก) หรือแบรนด์ต่าง ๆ ที่ขอเกาะกระแสการแข่งขันไปด้วยสารพัดไอเดียที่แข่งกันสุดฤทธิ์

สิ่งเหล่านี้แทบมองไม่เห็นในช่วงที่ผ่านมาหรือหากมีก็ไม่ได้รับการโหมกระแสเท่าที่ควร ซึ่งปัญหาใหญ่เกิดจากการที่ยังไม่มีใครรู้ว่าคนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลกครั้งนี้หรือไม่?

ต้นตอที่ปฏิเสธไม่ได้คือกฎ “Must Have” ที่กลายเป็นอุปสรรคสำหรับภาคเอกชนที่จะลงทุนเพื่อซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด เพราะข้อกฎหมายที่ระบุว่าฟุตบอลโลกเป็น 1 ใน 7 ชนิดกีฬาที่คนไทยต้องได้ดูฟรีนั้นไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ

ปัญหานี้เริ่มมีมาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล ซึ่ง RS เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดแต่ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากทำใจเพราะกฎ Must Have ที่ออกมาก่อนหน้านั้น 2 ปี (เพื่อแก้ปัญหาจอดำที่เกิดในช่วงฟุตบอลยูโร 2012) จนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตเพราะ RS หวังจะขายกล่องรับสัญญาณของตัวเองก็ทำไม่ได้ ต้องฟ้องร้องและสุดท้ายชนะได้รับเงินค่าชดเชยจาก กสทช.

ถึงแม้ว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลจะยื่นมือเข้ามาช่วยโดยการสั่งการให้หาทางซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกให้คนไทยได้ดูฟรีทุกนัดให้ได้ และเชื่อว่าน่าจะได้ข่าวดีในเร็ว ๆ นี้ (ขณะที่เขียนบทความยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ)

​แต่สภาวะสุญญากาศตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นไม่ได้เป็นผลดีต่อระบบนิเวศของฟุตบอลโลกที่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ภาคเอกชนจะได้เกาะกระแสสร้างความคึกคัก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนที่จะได้มีความสุขไปกับมหกรรมฟุตบอลที่ 4 ปีจะมีสักครั้ง

ลมหนาวพัดโชยมาอ่อน ๆ แบบนี้ พวกเรานั่งดูฟุตบอลโลกไปด้วยกัน ณ ที่ใดสักที่ มีความสุขจะตาย แต่ก็นั่นแหละ ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่เล่ามาคือสิ่งที่ทำให้ฟุตบอลโลกครั้งนี้มัน “เหงา”​ ตามลมหนาวไปด้วย

ได้แต่หวังว่า เมื่อเสียงนกหวีดแรกของเกมเริ่ม จิตวิญญาณของการแข่งขันจะทำให้พวกเรากลับมาคึกคักได้อีกครั้งนะ