เดินทางไกลไปออฟฟิศ ทำ "วัยทำงาน" พึงพอใจในงานลดลง "ลาออก" มากขึ้น
ผลวิจัยชี้ การเดินทางไปออฟฟิศที่นานเกิน 38 นาทีขึ้นไป ทำให้ "วัยทำงาน" มีความพึงพอใจในงานลดลง และเพิ่มอัตราการ "ลาออก" มากขึ้น แต่ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แล้วใครที่เสี่ยงเกิดภาวะนี้บ้าง?
รู้หรือไม่? ปรากฏการณ์ The Great Resignation (การลาออกครั้งใหญ่) ยังไม่สิ้นสุด และเกิดขึ้นทั่วโลกตลอดปี 2565 นี้ เนื่องจากในยุคโควิดระบาด "พนักงานออฟฟิศ" หลายคนปรับเปลี่ยนมาทำงานจากที่บ้านเป็นเวลานานโดยไม่มีการเดินทาง หลังจากวิกฤติโควิดผ่านพ้นไป หลายคนตัดสินใจว่าสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานมีความสำคัญต่อพวกเขามากขึ้น การปฏิวัติโลกของการทำงานครั้งนี้ ดูเหมือนจะยังคงดำเนินต่อไปในปีนี้
ยืนยันจากผลสำรวจของ “Price waterhouse Coopers” (PWC) หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และผู้ให้บริการที่ปรึกษาธุรกิจระดับโลก ที่พบว่า 1 ใน 5 ของพนักงานทั่วโลกวางแผนที่จะลาออกในปี 2565 โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้พวกเขาอยากลาออก ก็คือ บริษัทไม่มี "ความยืดหยุ่นในการทำงาน"
โดย 26% ของพนักงานกล่าวว่าพวกเขาต้องการทำงานเต็มเวลาจากนอกออฟฟิศ แต่มีเพียง 18% เท่านั้นที่บอกว่านายจ้างของพวกเขามีแนวโน้มที่จะให้ทำงานรูปแบบดังกล่าวได้
นอกจากนี้ อีกหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการ “ลาออก” ที่มากขึ้นเช่นกัน นั่นคือ การเดินทางไกลเพื่อเข้าสำนักงาน หรือเสียเวลาอยู่กับรถติดนานๆ กว่าจะถึงที่ทำงาน มักทำให้ความพึงพอใจในงานของพนักงานลดลงเรื่อยๆ ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นปัญหาเชื่อมโยงกับความยืดหยุ่นในการทำงานเช่นกัน
โดยมีงานวิจัยจาก Harvard Business School เมื่อปี 2020 ระบุไว้ว่า พนักงานออฟฟิศที่ต้องเดินทางไกลหรือใช้เวลาเดินทางไปออฟฟิศยาวนานกว่า 38 นาทีต่อเที่ยว มักจะรู้สึกเคร่งเครียด กังวล และทำให้ความพึงพอใจในงานลดลง เมื่อความรู้สึกนี้สะสมมากเข้าก็ส่งผลให้ “ลาออก” จากงานได้ง่าย
โดยเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมทำสิ่งผ่อนคลายหรือมีความสุข เช่น การฟังเพลงหรือเสพสื่อโซเชียลระหว่างเดินทาง (ใช้เวลานานๆ) เพื่อเข้าออฟฟิศไปทำงาน กลับยิ่งไปขัดขวางความสามารถของผู้คนในการเข้าสู่โหมดการทำงานได้อย่างราบรื่น ซึ่งทำให้พวกเขายิ่งรู้สึกเศร้าหมองมากขึ้นเมื่อต้องหยุดฟังเพลงแล้วเข้าสู่โหมดการทำงาน และนั่นทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะลาออกได้ง่ายในเวลาต่อมา
“ฉันรู้สึกประหลาดใจกับการค้นพบนี้ด้วยตัวเอง” ศาสตราจารย์ Francesca Gino จาก Harvard Business School กล่าว และอธิบายเพิ่มว่า “การที่คนเราต้องเปลี่ยนจากโหมดอยู่บ้านไปเป็นโหมดการทำงาน ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป สำหรับบางคนมันต้องใช้ความพยายามมากทีเดียว”
การศึกษาชิ้นนี้ยังพบอีกว่า การฝ่ารถติดและเดินทางนานๆ เกินกว่า 38 นาที - 1 ชั่วโมงทุกวันเพื่อไปออฟฟิศ มีส่วนทำให้ "พนักงานออฟฟิศ" เกิดความตึงเครียด ส่วนหนึ่งเกิดจากการคาดเดาไม่ได้ของภาวะรถติด และหากรถติดมากจนทำให้พวกเขามาประชุมสาย พวกเขาก็จะเริ่มวันทำงานด้วยความรู้สึกเร่งรีบ กระวนกระวาย และอยู่ไม่นิ่ง
ถึงกระนั้น แม้ว่าผู้คนจะบอกว่าพวกเขาไม่ชอบการเดินทางนานๆ เพื่อเข้าออฟฟิศมาทำงาน แต่เมื่อถามถึงระยะเวลาในการเดินทางที่ “เหมาะสม” พนักงานส่วนใหญ่ไม่ปฏิเสธการเดินทาง เพียงแต่พวกเขาเห็นว่าระยะเวลาเดินทางที่รับมือได้คือ ประมาณ 16 นาทีต่อเที่ยว
ทั้งนี้ ภาวะการเดินทางนานๆ แล้วรู้สึกเครียด ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน โดยผลการศึกษาของ Francesca Gino ชี้ชัดว่า การเดินทางตอนเช้ายากขึ้นสำหรับกลุ่มคนที่ “ควบคุมตนเองได้ต่ำ” หมายถึง กลุ่มคนที่มักควบคุมอารมณ์ และความเครียดของตนเองได้ยาก มักไม่ชอบวางแผนเรื่องงานล่วงหน้า แต่มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมที่ให้ความสุขในทันทีในขณะนั้น เช่น ฟังเพลง เสพสื่อออนไลน์ คิดกังวลถึงเรื่องที่บ้าน ฯลฯ
ในขณะที่ พนักงานที่มีลักษณะ “ควบคุมตนเองในระดับสูง” มักจะมีความสามารถในการควบคุมพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ของตนเอง พวกเขาจะตั้งเป้าหมายสำหรับตนเอง จดจ่อ และติดตามเป้าหมายของพวกเขา และไม่มีปัญหากับการเดินทางไปออฟฟิศนานๆ ในแต่ละวัน เนื่องจากว่าพวกเขามีความสามารถในการเปลี่ยนโหมดอยู่บ้านเข้าสู่โหมดการทำงานได้เร็วกว่านั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้บอกว่าพนักงานฝ่ายใดผิดหรือถูก เพราะแต่ละคนพบเจอกับสภาวะกดดันทางทางเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว แตกต่างกันไป เพียงแต่เมื่ออ่านงานวิจัยนี้แล้วอาจช่วยให้คนทำงานทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันและกันได้มากขึ้น หรือนำวิธีคิดบางอย่างไปปรับใช้ในชีวิตการทำงานได้ รวมถึงในมุมของนายจ้างก็จะได้ทำความเข้าใจลูกจ้างได้มากขึ้นด้วย
-------------------------------------
อ้างอิง : Harvard Business School, weforum.org