"ท้าวมหาพรหม" โรงแรมเอราวัณ ยอดบริจาคพันล้าน! นำเงินไปทำอะไรบ้าง?
ครบรอบ 66 ปี การประดิษฐานของ "ท้าวมหาพรหม" ณ โรงแรมเอราวัณ หรือที่คุ้นหูว่า "พระพรหมเอราวัณ" ซึ่งคนไทยและต่างชาตินิยมมาสักการะบูชา สะสมเป็นยอดเงินบริจาคสูงระดับพันล้านบาท "มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ" มีวิธีจัดการเงินอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันครบรอบ 66 ปีของการประดิษฐานองค์ท้าวมหาพรหม ณ โรงแรมเอราวัณ หรือที่คุ้นกันในชื่อเรียก "พระพรหมเอราวัณ" ซึ่งในทุกๆ ปีจะมีการจัดพิธีสักการะและพิธีบวงสรวงอย่างยิ่งใหญ่ที่หน้าศาลท่านท้าวมหาพรหม ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ
สำหรับความสำคัญของศาลท้าวมหาพรหมนั้น นอกจากจะเป็น “ที่พึ่งทางใจ” ของเหล่า “สายมู” ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่มักมาไหว้ขอพรกันอย่างเนืองแน่นแล้ว เงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งดูแลโดย “มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ" ยังส่งต่อเงินบริจาคเป็นสาธารณกุศลโดยเฉพาะเพื่อการแพทย์และสาธารณสุขรวมแล้วกว่า 2 พันล้านบาท
เมื่อมีเงิน “จ่ายออก” สูงขนาดนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า แล้ว “เงินรับเข้า” ที่มีผู้บริจาคให้กับมูลนิธิฯ นั้น มีมากขนาดไหน?
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ มีเฉลยมาให้ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม พบว่า หากนับรวมยอดบริจาคสะสมตั้งแต่ปี 2536-2564 พบว่า มูลนิธิฯ ได้รับเงินบริจาคสะสมรวมทั้งสิ้น 1,085 ล้านบาท
แล้วจุดเริ่มต้นการก่อตั้ง “มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ" มีที่มาและหลักการดำเนินงานอย่างไร แล้วนำเงินมหาศาลนี้ไปใช้จ่ายเรื่องใดบ้าง !?
ที่นี่มีคำตอบ..
- 9 พฤศจิกายน 2499 วันประดิษฐาน “พระพรหมเอราวัณ”
สำหรับประวัติความเป็นมาของ “ศาลท่านท้าวมหาพรหม” หนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะของเหล่า “สายมู” ทั้งคนไทยและชาวต่างชาตินั้น ต้องย้อนไปตั้งแต่สมัยการก่อสร้าง “โรงแรมเอราวัณ” ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2499 ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จ และ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ได้แนะนำว่า เนื่องจากฤกษ์การวางศิลาฤกษ์ที่ได้กระทำไว้ไม่ถูกต้อง จะต้องแก้ไขโดยการขอพรจากพระพรหม
แนวคิดการสร้างศาลท่านท้าวมหาพรหมและศาลพระภูมิจึงเริ่มต้นขึ้นโดยพลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ เป็นผู้ทำพิธีบวงสรวง
บรรยากาศพิธีสักการะ ศาลท้าวมหาพรหมเอราวัณ เนื่องในวันครบรอบ 65 ปี (9 พ.ย.64)
สำหรับองค์พระพรหม ได้นายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและปั้นพระรูปตามแบบแผนของกรมศิลปากร โดยปั้นด้วยปูนพลาสเตอร์ปิดทอง ขณะที่นายเจือระวี ชมเสวี และหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล แห่งกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบศาล
ทั้งนี้ศาลท่านท้าวมหาพรหมได้สร้างเสร็จ และนำมาประดิษฐานที่โรงแรมเอราวัณ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2499 โรงแรมเอราวัณจึงได้ถือเอาวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปีทำพิธีบวงสรวงเทวสถานแห่งนี้เป็นประจำตลอดมา
- จุดเริ่มต้นสู่การเป็น “มูลนิธิ”
ในเวลาต่อมา เมื่อเทวสถานท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณ เป็นที่รู้จักและเคารพสักการะของประชาชนทั่วไป และมีการบริจาคเงินไว้เพื่อใช้ในการบูรณะซ่อมแซมและทำนุบำรุง โดยได้นำฝากธนาคารแยกบัญชีไว้โดยเฉพาะ ปรากฏว่ามีเงินเหลือจากการบูรณะซ่อมแซมอยู่เป็นจำนวนมาก
ปี พ.ศ. 2512 จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้มอบเงินนี้แก่โรงพยาบาลและสถานสาธารณกุศลต่าง ๆ โดยใช้ชื่อทุนที่มอบนี้ว่า "ทุนพรหมวิหารโรงแรมเอราวัณ" โดยได้ดำเนินการเป็นครั้งคราวตลอดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512
- ผู้บริจาคสามารถตั้ง “กองทุน” ของตัวเองไว้กับมูลนิธิฯได้
เกี่ยวกับระบบรับบริจาคเงินของมูลนิธิพระพรหมเอราวัณนั้น เรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่ทราบ คือ นอกจากการบริจาคเงินแบบทั่วไปแล้ว เรายังสามารถตั้ง “กองทุน” ในนามตัวเอง หรือใส่ชื่อที่ต้องการตั้งได้ โดยในการเปิดกองทุนครั้งแรก กำหนดเงินบริจาคไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท และต่อไปถ้าต้องการเพิ่มเติมจะ เป็นจำนวนเท่าใดก็ได้
วิธีจัดการเม็ดเงินในกองทุนชื่อของเรานั้น หลักการก็คือ ทางมูลนิธิฯ จะนำเงินเฉพาะ “ดอกผล” ของเงินทุน ไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเท่านั้น หรือยกเว้นถ้าเราอนุญาตให้มูลนิธิฯ จ่ายเงินของเราได้เต็มจำนวนโดยไม่ต้องใช้แค่ดอกผลก็สามารถระบุไว้ให้ชัดเจนได้เช่นกัน
หากนับย้อนตั้งแต่ปีแรกของการเปิดให้ตั้งกองทุนได้ คือ ปี 2536 จนถึงปี 2564 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีการสรุปยอดบริจาค คือ 2564 นั้น มีผู้บริจาคโดยตั้งกองทุนไว้ในมูลนิธิ ฯ ทั้งสิ้น 1,026 ราย รวมเงินบริจาคสะสมที่ 1,085 ล้านบาท
ขณะที่ ยอดการนำเงินออกไปบริจาคแก่สาธารณประโยชน์ นับตั้งแต่ครั้งแรกในปี 2512 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (รวม 54 ปี) พบว่า มูลนิธิฯ บริจาคออกไปทั้งสิ้น 2,469 ล้านบาท
โดยปีล่าสุด พ.ศ. 2564 มูลนิธิฯ ได้มอบเครื่องมือแพทย์ให้หน่วยงาน และโรงพยาบาลต่างๆ รวม 112 แห่ง มูลค่ากว่า 96 ล้านบาท และมอบเครื่องช่วยหายใจให้หน่วยงานและโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 รวม 377 เครื่อง มูลค่าทั้งสิ้น 55 ล้านบาท
จากหลักการข้างต้น จะเห็นว่า มูลนิธิฯ ใช้จ่ายเงินกองทุนฯ บริจาคต่อยังโรงพยาบาล หรือ สาธารณกุศลต่างๆ โดยนำออกไปเพียง “ดอกผล” ของเงินทุนเท่านั้น (ยกเว้นผู้ตั้งกองทุนอนุญาตให้ใช้เงินทุนได้) นั่นเท่ากับว่า เงินต้นไม่ได้หายไปไหน และยอดเงินบริจาคมีแต่สมทบมากขึ้นเรื่อยๆ และในปีถัดๆ ไป ก็จะมีดอกผลในการบริจาคเงินมากขึ้นไปด้วยนั่นเอง
[Note] นอกจากเงินบริจาคทั้งที่เปิดเป็นกองทุน และที่หยอดในตู้รับบริจาคแล้ว มูลนิธิฯ ยังมีอีกหนึ่งรายรับ นั่นคือ “ค่าบำรุงสถานที่” ซึ่งได้มีการกำหนดเรตราคาแตกต่างกัน อาทิ
- การรำแก้บน (ด้วยตนเอง) คนละ 500 บาท
- การขอแสดงสิงโต (ไม่เกิน 20 คน) ครั้งละ 1,000 บาท
- การขอวางถวายช้าง (เฉพาะช้างไม้เท่านั้น) เสียค่าวางตั้งแต่ 500 - 2,000 บาท ขึ้นอยู่กับความสูง (ห้ามเกิน 40 นิ้ว) เป็นต้น