การเลี้ยง ’ควายปลักทะเลน้อย’ ได้ขึ้นทะเบียน ‘พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร'

การเลี้ยง ’ควายปลักทะเลน้อย’ ได้ขึ้นทะเบียน ‘พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร'

'ควายปลักทะเลน้อย' ได้รับการประกาศจาก FAO ให้ระบบการเลี้ยง ‘ควายปลักทะเลน้อย’ จ.พัทลุง เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร แห่งแรกของไทย

'ควายปลักทะเลน้อย' จ.พัทลุง ได้รับการประกาศจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้ ‘การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง’ เป็น ‘พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร’ แห่งแรกของไทยแล้ว

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม ได้รับแจ้งจากนาย Yoshihide ENDO ฝ่ายเลขานุการมรดกโลกทางการเกษตรว่า

ข้อเสนอโครงการ ‘การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง’ (Thale Noi Wetland Pastoral Buffalo Agro-ecosystem of Thailand) ได้ผ่านความเห็นชอบจากกรรมการที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Advisory Group: SAG) ของ FAO

ประกาศเป็น ‘พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร’ (Global Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) แล้ว นับเป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย

การเลี้ยง ’ควายปลักทะเลน้อย’ ได้ขึ้นทะเบียน ‘พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร\' Cr. จรูญ ทองนวล (Charoon Thongnual) 

  • หลักเกณฑ์ในการพิจารณา

ข้อเสนอการขึ้นทะเบียน (GIAHS Proposal) กำหนดหลักเกณฑ์เป็นมรดกทางการเกษตรโลก ต้องมีองค์ประกอบครบ 5 ข้อ ได้แก่

1) ความมั่นคงด้านอาหาร/ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

2) ความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร

3) ระบบความรู้/ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีมาแต่ดั้งเดิม

4) วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม

5) ลักษณะภูมิทัศน์/และภูมิทัศน์ทางทะเล

การเลี้ยง ’ควายปลักทะเลน้อย’ ได้ขึ้นทะเบียน ‘พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร\' Cr. จรูญ ทองนวล (Charoon Thongnual) 

  • ลงพื้นที่สำรวจความจริง

วันที่ 4-8 ตุลาคม 2565 Prof. Zekri Slim ชาวอิสราเอล ผู้แทนคณะกรรมการ SAG เดินทางมาตรวจสอบพื้นที่จริงในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย

และได้เสนอแนะให้ประเทศไทยแก้ไขเอกสาร ก่อนยื่นข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาในวันที่ 2-4 พฤศจิกายน 2565 เขากล่าวว่า

"รู้สึกยินดีที่จะได้สนับสนุน ได้เห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนให้ความสำคัญในการเลี้ยงควายปลัก โดยการขึ้นทะเบียนระบบมรดกทางการเกษตรของโลก (GIAHS) จะมีประโยชน์หลายด้าน

มีจุดประสงค์ให้ประชาชนรุ่นหลังได้เห็นความสวยงานและวิถีชีวิตในธรรมชาติของสัตว์ป่าที่พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย และเป็นการอนุรักษ์การเกษตร การเลี้ยงควายปลัก และผลิตภัณฑ์ในพื้นที่"

หลังการประกาศให้ ‘การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง’ เป็น ‘พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร’ แห่งแรกของไทยแล้ว

การเลี้ยง ’ควายปลักทะเลน้อย’ ได้ขึ้นทะเบียน ‘พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร\' Cr. จรูญ ทองนวล (Charoon Thongnual) 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า

"การขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางการเกษตรในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของชุมชนในพื้นที่ ที่ต้องการอนุรักษ์แนวทางการทำการเกษตรที่มีมาแต่ดั้งเดิม เพื่อส่งต่อทรัพยากรให้แก่คนรุ่นถัดไป

โดยมีเป้าหมายรักษาระบบนิเวศให้ยั่งยืน เป็นแหล่งวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์การเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้คนในชุมชน

โดย GIAHS เน้นให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในพื้นที่ ชุมชนจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ

การขึ้นทะเบียนในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ แต่ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโต และเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่"

การเลี้ยง ’ควายปลักทะเลน้อย’ ได้ขึ้นทะเบียน ‘พื้นที่มรดกโลกทางการเกษตร\'

Cr. Supasek Opitakon (ศุภเศรษฐ์ โอภิธากรณ์)

  • ควายดั้งเดิม ที่อยู่มานาน 250 ปี

ทะเลน้อยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากจนได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ Ramsar site เมื่อปี พ.ศ. 2541 และมีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ FAO

ชาวบ้านทะเลน้อย จ. พัทลุง สืบทอดการเลี้ยงควายในพื้นที่แห่งนี้มานานกว่า 250 ปี ปล่อยออกไปให้กินหญ้าเอง ในช่วงฤดูน้ำหลาก น้ำขึ้นสูงนานหลายเดือน ทุ่งหญ้าจมอยู่ใต้น้ำ

ควายก็ต้องปรับตัวว่ายน้ำไประยะทางไกล ๆ ดำน้ำลงไปกินหญ้าใต้น้ำนั้น จนมันสามารถดำน้ำได้นานหลายนาที ส่วนลูกควายก็ดำลงไปทั้งตัว ชาวบ้านได้เห็นจึงเรียกว่า ‘ควายน้ำ’

ควายน้ำผสมพันธุ์กันเอง จนมีประชากรเพิ่มมากขึ้น มีวิถีชีวิตคล้ายควายป่า มีจ่าฝูงพาฝูงออกจากคอกไปหากินในตอนเช้า แล้วกลับเข้าคอกในตอนเย็น ปัจจุบัน มีควายน้ำประมาณ 3,500 ตัว

...........

อ้างอิง : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง