‘ซอนต้ากรุงเทพ 1’ รวมพลังยุติ ‘ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี’
‘ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี’ เกิดมากขึ้นในสังคม ‘ซอนต้ากรุงเทพ 1’ มีพันธกิจปรับปรุงสถานภาพสตรีจึงไม่อาจนิ่งเฉย รวมพลังส่งเสียงให้ทุกคนในสังคม ป้องกันปัญหานี้ให้มากขึ้น
ซอนต้ากรุงเทพ 1 จัดงาน Stop Violence Against Woman and Girls รวมพลังคนไทยทั่วประเทศ ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ณ ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565
ดร.อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ นายกสโมสรซอนต้า กรุงเทพ 1 กล่าวว่า วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็น วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล
"ในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนเป็น เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี สอดคล้องกับอุดมการณ์ซอนต้าสากล ปัจจุบันมีสมาชิก 67 ประเทศทั่วโลก
จัดกิจกรรม Zonta Stop Says No ทุกปี วันนี้เรามารวมตัวกัน สานต่อกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรง วิสัยทัศน์และพันธกิจของสโมสรซอนต้า 1 มุ่งเน้นปรับปรุงสถานภาพสตรี ในทางกฎหมาย, เศรษฐกิจ, การศึกษา, อนามัย และอาชีพ
Cr. Kanok Shokjaratkul
ตลอดจนการช่วยเหลือสตรีในหลายด้าน มุ่งหวังให้สังคมตระหนักและร่วมกันป้องกันปัญหาความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นต่อเด็กและสตรีในสังคมทุกรูปแบบ
ปัจจุบันแม้จะมีหน่วยงานหลากหลายมารณรงค์เรื่องนี้แต่ก็ยังมีสถิติความรุนแรง จากข้อมูลกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมายังมีถึง 11,631 รายด้วยกัน
แล้วยังมีเคสที่เราไม่ได้รับอีก พวกเราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจแสดงพลังรณรงค์ยุติการกระทำรุนแรงต่อเด็ก สตรี และคนชรา ในทุกมิติ"
Cr. Kanok Shokjaratkul
ดร.ลาลีวรรณ กาญจนจารีย์ Past International Director Zonta International กล่าวว่า ซอนต้าสากลเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลก ที่ไม่แสวงผลกำไร
"ก่อตั้งในปี ค.ศ.1919 หรือ 103 ปีที่ผ่านมา โดย แมเรียน เดอ ฟอเรสต์ (Marian De Forest) นักแต่งบทละครและนักวิจารณ์
ในประเทศไทยก่อตั้งโดย ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา เป็นเวลา 53 ปีแล้ว ปัจจุบันมีสมาชิก 27,000 คนทั่วโลก ใน 67 ประเทศ
พันธกิจของซอนต้าสากล คือส่งเสริมสถานภาพสตรี ในทุกส่วน อาทิ การศึกษา, สุขภาพ, อนามัย, กฎหมาย, สังคม, สิทธิเท่าเทียม
Cr. KanokShokjaratkul
กิจกรรมหลักคือ ยุติการกระทำรุนแรงต่อสตรีและเด็ก, การบังคับการแต่งงานในเด็กผู้หญิง, การป้องกันการท้องไม่พร้อม
ซอนต้าสากลได้กำหนดวัน 16 วันช่วงรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กคือช่วง 25 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม ของทุกปี ปีนี้เรามี 20 สโมสร ทำไปแล้ว 40 กิจกรรม
เราต้องการให้ทุก ๆ คนตระหนักว่า ในโลกนี้จะไม่มีผู้หญิงหรือเด็กคนใด ต้องหวาดกลัว เผชิญกับความรุนแรง ความรุนแรงต่อสตรีและเด็กต้องหมดไป
จากสถิติกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่าประเทศไทยติด Top Ten ของโลก ที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด และผู้ถูกระทำก็เป็นเพศหญิง 81 เปอร์เซนต์
Cr. KanokShokjaratkul
สถานที่เกิดเหตุคือในครอบครัว ในบ้าน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร พบว่ามีผู้ถูกกระทำความรุนเรงเพิ่มมากขึ้น ในช่วงโควิดระยะ 2-3 ไม่เฉพาะในประเทศไทย ในทั่วโลกเพิ่ม 30 เปอร์เซนต์
เราได้เซ็น MOU เมื่อสองปีที่แล้ว กับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ตาม พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2560
มีแนวทางส่งเสริมสถานภาพ ความเสมอภาค ขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ยุติความุรนแรงต่อสตรีและเด็กทุกรูปแบบ
อยากให้เรื่องนี้เข้าไปอยู่ในใจของทุกคนว่า ต้องช่วยส่งเสริม โดยเฉพาะคนใกล้ตัว, ครอบครัว เพื่อน ๆ เพื่อให้พลังนี้มากขึ้น ขยายออกไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ"
Cr. KanokShokjaratkul
- พม.รวมกับซอนต้า
จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานเปิดงาน กล่าวว่า
"คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 เห็นชอบให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐประสานการดำเนินงานดังกล่าว โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์จัดกิจกรรมรณรงค์ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค
Cr. KanokShokjaratkul
ให้เห็นความสำคัญของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ในปีนี้ กระทรวง พม. ได้ร่วมกับสโมสรซอนต้า กรุงเทพ 1 จัดงาน Stop Violence Against Women and Girls
เพื่อแสดงพลัง เชิญชวนทุกคนให้ความสำคัญกับครอบครัว ด้วยความรัก การให้อภัย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
สตรีทั้งโลกมี 4,000 ล้านคน สตรีไทยมี 35 ล้านคน ซอนต้าไปไหนเราไปด้วย ความรุนแรงเกิดมาจากจิตที่ไม่นิ่ง คนที่จิตไม่นิ่งควรกินยาวันละ 4 เม็ด
Cr. KanokShokjaratkul
เม็ดเช้าคือ เมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา (พรหทมวิหาร4)
เม็ดกลางวันคือ สัจจะ, ทมะ, ขันติ, จาคะ (ฆราวาสธรรม)
เม็ดตอนเย็นคือ ทาน, ปิยวาจา, อัตถจริยา, สมานัตตตา (สังคหวัตถุ4)
เม็ดก่อนนอนคือ ฉันทะ, วิริยะ, จิตตะ, วิมังสา (อิทธิบาท4)
ถ้าทุกคนกินยา 4 เม็ดนี้แล้วก็จะดี คนที่เกิดมาแล้วมีคนช่วยเหลือ ถือว่าเป็นคนมีบุญ แต่คนที่เกิดมาแล้วมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่นถือว่ามีบุญกว่า
คนไทยเกิดมาแล้วต้องใช้สกุลเงินบาท แต่ถ้าจะไปชาติหน้าต้องใช้เงินสกุลบุญ ขอให้สะสมเงินสกุลบุญ ไปชาติหน้าด้วยนะครับ"
Cr. KanokShokjaratkul
ธีรภัทร์ สัจจกุล นักแสดงและนักร้อง ที่มาร่วมงาน กล่าวในฐานะคุณพ่อที่มีลูกสาวว่า
"ทุกครั้งที่เห็นข่าวทำร้ายร่างกายและจิตใจของเด็ก จะรู้สึกหดหู่ใจ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก แม้จะมีหลายหน่วยงานออกมาร่วมรณรงค์ แต่ก็ยังเห็นข่าวเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายและจิตใจอยู่เสมอ
อยากเชิญชวนให้หันมาสนใจปัญหานี้ ให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจที่กว้างขึ้น ผู้อ่อนแอกว่าก็จะมีกำลังใจ ไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกใบนี้ ยังมีกฎหมาย มีหน่วยงานที่พร้อมรับฟัง แก้ปัญหา ไม่ให้พบเหตุการณ์เลวร้ายตลอดไป"
Cr. KanokShokjaratkul
- ทุกคนช่วยได้ กระเป๋าก็ช่วยได้
มลลิกา เรืองกฤติยา เจ้าของและดีไซเนอร์ แบรนด์ Kloset กล่าวว่า ไม่ลังเลเลย ตอนได้รับการติดต่อมา
"เรามีความสามารถในการดีไซน์และทำแบรนด์มา 20 ปี น่าจะรณรงค์ให้มีรายได้มาช่วยให้มูลนิธิได้ ทำไมถึงเป็นกระเป๋า
จากประสบการณ์และตัวเลขที่เราขายของมา นี่คือสินค้าเบสท์เซลเลอร์ หนึ่ง.ในเรื่องฟังก์ชั่น ใช้ง่าย สาวออฟฟิศหรือใครก็สามารถใช้ได้ ใส่มือถือ, กระเป๋าสตางค์ไปกินข้าวเที่ยง
Cr. KanokShokjaratkul
เด็ก ๆ ก็ใส่ขนม เราศึกษามาแล้วว่า นี่คือสิ่งที่ซื้อง่าย ราคาน่ารัก เป็นมิตรภาพ ส่วน สีส้มเป็นสีที่มีพลัง
ลายก็ออกแบบให้เห็นว่ามันคือความรักกัน, จับมือกัน, กอดกัน มีหัวใจ, มีหอมกัน เห็นแล้วให้พลังบวก
แล้วก็ใส่แมสเสจลงไป บอกต่อคนรอบข้างเรา หรือถ้าเขาไม่ซื้อตามเรา แมสเสจที่ผ่านตาก็ซึมซับเข้าไปในความคิดของเขาบ้าง
กระเป๋าใบนี้ที่ด้านหนึ่งไม่มีเวิร์ดดิ้งเป็นเรียบ ๆ แต่อีกด้านหนึ่งคุณเป็นพลังสำคัญ เป็นเสียงสำหรับผู้หญิงและเด็ก ๆ ในสังคม
Cr. KanokShokjaratkul
ดร. อุษณีย์ กล่าวว่า กระเป๋าคอลเล็คชั่นพิเศษที่ออกแบบโดย Kloset ผลิตเพียง 500 ชิ้น วางจำหน่ายที่ร้านโดนัท คริสปี้ ครีมทุกสาขา
รายได้จากการจำหน่ายจะมอบให้กับสโมสรซอนต้ากรุงเทพ 1 เพื่อใช้ในกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี