"พะเยา" ปั้นเด็ก "ภูมิดี" ปลุกพลัง "ครอบครัว-ชุมชน" เข้มแข็ง
สร้างกติกา-ดึงภูมิปัญญาอีสาน-ล้านนา เพิ่มพูนทักษะชีวิต กว่า 40 ปี ที่กลุ่มชาติพันธุ์ภูไทจากกาฬสินธุ์และมุกดาหาร และชาวอีสานจากโคราช-ขอนแก่น ได้อพยพถิ่นฐานมาตั้งรกรากยัง “ชุมชนบ้านจำไก่”
ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน/ชุมชน รวมถึงชุมชนบ้านใหม่ราษฎร์บำรุง หมู่ที่ 5 ต.สันโค้ง อ.ดอกคำใต้ จ.พะเยา ที่เป็นชุมชนผสมผสาน “สองวัฒนธรรมประเพณี” อีสานภูไท-ล้านนา อย่างกลมกลืนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังคงใช้ชีวิตตามแบบวิถีวัฒนธรรมดั่งเดิมส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปสู่โลกของสื่อดิจิทัลเข้าถึง และส่งกระทบต่อเด็กในชุมชนชนบท ทำให้ครอบครัวและชุมชนบ้านจำไก่ จำเป็นต้องปรับตัวให้รู้เท่าทันสื่อ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กปฐมวัย ซึ่งกำลังอยู่ในวัยทองแห่งการเรียนรู้ให้ลดการเล่นมือถือ
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านใหม่ราษฎร์บำรุง จึงริเริ่มทำ “โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ 3 ดี สู่ชุมชน” เพื่อดึงเด็กให้หันมาสนใจทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นแทนการเล่นมือถือ โดยมี “ครูป้อม” หรือ บุปผา คนสนิท ครูผู้ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กบ้านใหม่ราษฎร์บำรุง สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ผู้จุดประกายและนำแนวทาง 3 ดี “สื่อดี ภูมิดี พื้นที่ดี” มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยในพื้นที่โดยร่วมมือกับครอบครัวและชุมชน
จวบจนวันนี้เป็นเวลา 7 ปีเต็ม ที่ชุมชนบ้านจำไก่ได้ดำเนินการโครงการฯ จนประสบความสำเร็จและสร้างต้นแบบ “ครอบครัว 3 ดี” ที่เข้มแข็ง พร้อมถอดบทเรียน “3 ดี 3 สร้าง” ให้เป็นแนวทางและพี่เลี้ยงให้แก่เครือข่ายชุมชนอื่นๆ
“เราเริ่มต้นทำโครงการจากจุดเล็กๆในครอบครัว ค่อยขยายไปใหญ่แบบเป็นขั้นตอน เริ่มด้วยทดลองนำแนวคิด 3 ดีกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านใหม่ราษฎร์บำรุงก่อน แล้วจึงเจาะลึกเข้าไปยังครอบครัวและขยายไปสู่ชุมชน 3 ดี เพราะครอบครัวสำคัญสุดต่อการพัฒนาเด็ก ถ้าเราไม่เริ่มที่ครอบครัว ก็จะสร้างเด็กไม่ได้ผลสำเร็จ เราจึงเริ่มจากปลูกจิตสำนึกให้แก่เด็กและผู้ปกครอง ด้วยการดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม จากนั้นทำข้อตกลงร่วมกันจัดพื้นที่ทำกิจกรรมเรียนรู้ในบ้าน”
ข้อตกลงร่วมกัน หรือ “กติกา” เป็นภาคบังคับที่ครอบครัวเข้าร่วมโครงการ 3 ดีจะต้องทำก็คือ การจัดพื้นที่ในบ้านทำกิจกรรมอย่างน้อย 3 มุม ได้แก่ มุมอ่านหนังสือ มุมปลูกผักสวนครัว และมุมคัดแยกขยะ เพื่อสร้างอุปนิสัยที่ดีให้แก่เด็กระยะยาว แต่หากครอบครัวใดทำเพิ่มได้ 4 มุม เช่น มีมุมเล่นอิสระ มุมน้ำ มุมทราย ก็จะยกให้เป็นครอบครัวต้นแบบของชุมชน
ด้วยเป้าหมายของครอบครัว 3 ดี เพื่อต้องการดึงเด็กออกจากมือถือโดยเน้นให้เด็กทำกิจกรรมมากขึ้นแล้ว ชุมชนจึงตั้งกติกา “ลด” ใช้มือถือในเด็กให้เหลือเพียง 20-30 นาทีต่อวัน และต้องมีผู้ปกครองคอยชี้แนะอยู่ด้วย รวมถึงยังห้ามผู้ปกครองดูมือถือต่อหน้าเด็ก และห้ามผู้ปกครองดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัวอีกด้วย
หลังจากครอบครัวสำเร็จในการสร้างพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ภายในครอบครัวแล้ว จึงขยายแนวคิดครอบครัว 3 ดี ไปสู่ชุมชน 3 ดี โดยจัดพื้นที่สาธารณะปลอดภัยในชุมชน เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองได้ทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกันเดือนละ 2 ครั้ง รวมถึงการถ่ายทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถือเป็น “จุดเด่น” ของชุมชนให้กับเด็ก
“เราโดดเด่นด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ผสมผสานสองวัฒนธรรมอีสาน-ล้านนา ซึ่งมีศูนย์เรียนรู้ของชุมชนและปราชญ์ชาวบ้าน มาช่วยถ่ายทอดความรู้การทำสื่อพัฒนาเด็ก เพื่อให้เด็กซึมซับวิถีชีวิตดั้งเดิมและสืบสานเอาไว้ เช่น การละเล่นพื้นบ้าน การจักรสาน การทอผ้าภูไท การทำตุง การทอเสื่อกก หรือการแสดงดนตรีโปงลาง เป็นต้น”
ผลจากการดำเนินโครงการครอบครัวและชุมชน 3 ดี เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยชุมชนบ้านจำไก่ ตลอด 7 ปีกว่า 200 ครอบครัว ได้ช่วยให้เด็กลดหน้าจอมือถือได้จริง เกิดพื้นที่ในชุมชนให้เด็กทำกิจกรรมอย่างปลอดภัย ตลอดจนเกิดเครือข่ายดูแลเด็กร่วมกันภายในชุมชน
ครูป้อม กล่าวถึงผลที่ได้จากการทำงานตามแนวคิดยุทธศาสตร์ 3 ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดีของศูนย์พัฒนาเด็กบ้านใหม่ราษฎร์บำรุง ก็คือ การได้โมเดลพัฒนาเด็กปฐมวัย “3 ดี 3 สร้าง” เพื่อเป็นแนวทางการทำงานพัฒนาเด็กเล็กให้แก่เครือข่ายต่อไป ประกอบด้วย หนึ่ง.. “สร้างคน” โดยครูมีทักษะการจัดกิจกรรม มีคณะทำงานที่เข้มแข็ง ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจการจัดพื้นที่ในครอบครัวและจัดกิจกรรมร่วมกับเด็ก ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีและมีความสุข
สอง..“สร้างการมีส่วนร่วม” ตั้งแต่ผู้นำชุมชน รพสต. ผู้ปกครอง ครู ผู้นำท้องถิ่นท้อง มาร่วมคิด- ร่วมทำ- ร่วมรับผลประโยชน์ด้วยกัน
สุดท้าย.. “สร้างสุขภาวะ” (ทางกาย จิตใจ สังคมและปัญญา) เด็กมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ฉลาดรู้ในการบริโภค มีจิตใจที่มีความสุขในการทำกิจกรรมและรู้จักควบคุมอารมณ์ ส่วนทางด้านสังคม เด็กมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี รู้จักแบ่งปัน รู้จักรอคอย และมีสติปัญญาที่ดี รู้จักคิดวิเคราะห์และตัดสินใจ รู้เท่าทันสื่อ รู้เท่าทันตัวเอง
“หัวใจของความสำเร็จและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัว 3 ดีของบ้านจำไก่ในวันนี้เกิดได้ก็ เพราะสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเกี่ยวกับเด็ก มีการจัดประชุมชี้แจงและอบรมผู้ปกครองบ่อยๆ จนเกิดความเข้าใจ และเปิดใจร่วมกันจัดพื้นที่ภายใต้แนวคิด 3 ดี และมีการติดตามผลสม่ำเสมอ รวมทั้งยังขยายเครือข่ายและอบรมเครือข่ายครูผู้ดูแลเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดพะเยา จนวันนี้เราขยายครบทั้ง 9 อำเภอแล้ว” ครูป้อม กล่าว
“ชุมชนบ้านร่องห้า” ต่อยอดจากบ้านต้นไม้ สู่ครอบครัว 3 ดี
ชุมชนบ้านร่องห้าป่าสัก ม.13 ต.บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา เป็นหนึ่งในเครือข่ายพื้นที่ขยายของตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่เพิ่งดำเนิน“โครงการมหัศจรรย์ 3 ดี เพื่อการพัฒนาเด็กสู่ชุมชนบ้านร่องห้า” มาได้ 10 เดือนที่ผ่านมา เริ่มจากการนำกิจกรรมสื่อสร้างสรรค์เข้าถึงพื้นที่ชุมชน และขยายเข้าสู่ครอบครัว ตามแนวทาง 3 ดี มาใช้ เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กในชุมชนมีพื้นที่ดี สื่อดี และภูมิปัญญาดี เพื่อดึงเด็กออกจากการเล่นมือถือ
ด้วยลักษณะพื้นที่ของชุมชนบ้านร่องห้า เป็นชุมชนเมือง ประชาชนตั้งบ้านเรือนกระจายไปตามพื้นที่ของเมือง ทำให้ไม่มีพื้นที่เล่นและจัดกิจกรรมเรียนรู้ให้แก่เด็ก ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนจึงร่วมกันจัดหาและทำพื้นที่ “ชุมชน 3 ดี” ขึ้นมา เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่เด็ก จึงเกิดกิจกรรมบ้านต้นไม้ให้เด็กได้เล่นอิสระ ก่อนที่จะขยายแนวทางไปสู่ครอบครัว 3 ดี
“สภาพพื้นที่ของบ้านร่องห้า อยู่ในกลางชุมชนและเป็นชุมชนเมืองตั้งบ้านอยู่กันกระจาย เด็กเล็กที่มาเรียนในศพด.บ้านร่องห้าส่วนใหญ่มาจากนอกเขตพื้นที่ หลังสำรวจพื้นที่แล้วทางคณะทำงานและชุมชนบ้านร่องห้า จึงลงความเห็นให้นำพื้นที่รกร้างของชาวบ้านซึ่งแต่เดิมไม่มีใครกล้าเข้าไป มาร่วมกันปรับเปลี่ยนและสร้างกิจกรรมบ้านต้นไม้ฐานต่างๆ ให้แก่เด็กได้เล่นร่วมกัน เช่น มุมปีนป่าย ชิงช้ากระดานลื่น ปีนป่ายการทรงตัว มุมทราย เป็นต้น ทำให้วันนี้มีผู้ปกครองนำเด็กๆ เข้ามาใช้พื้นที่มากขึ้นทุกวัน กลายเป็นพื้นที่มีชีวิตขึ้นมา” วรรณา เพ็งศรี ครูผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านร่องห้า กล่าว
ทั้งนี้ พื้นที่บ้านต้นไม้ เกิดขึ้นได้ เพราะการร่วมแรงร่วมใจและระดมทุนของคนในชุมชน คณะทำงาน วัด โรงเรียน ร่วมกันบริจาคสิ่งของ ทราย ไม้ เพื่อร่วมกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กของชุมชน
ครูวรรณา บอกว่า หลังจากได้ทำพื้นที่สร้างสรรค์ในพื้นที่ชุมชน คณะทำงานจึงขยายโครงการ 3 ดี เข้าสู่ศพด.บ้านร่องกล้าและครอบครัว 3 ดี โดยที่ผ่านมาพื้นที่ศพด.บ้านร่องห้า ได้สร้างฐานกิจกรรมสไปเดอร์แมน ให้เด็กทุกคนในศูนย์ได้เล่นและทำกิจกรรมร่วมกัน
ส่วนกิจกรรมครอบครัว 3 ดี ปัจจุบันมีครอบครัวตัวอย่างแล้ว 15 ครอบครัว ได้จัดพื้นที่สร้างสรรค์ในบ้าน หรือ มุมกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ได้แก่ มุมหนังสือ มุมบทบาทสมมติ มุมกิจกรรมการเล่น เช่น การเล่นทราย การเลี้ยงปลา ปลูกผักสวนครัว โดยผู้ปกครองร่วมทำกิจกรรมกับเด็กๆ ด้วย
นอกจากนั้น ผู้ปกครองของครอบครัว 3 ดี ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแชร์ประสบการณ์ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น มีการตั้งกลุ่มไลน์ 3 ดี แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแชร์ข้อมูลกัน
ด้าน “สายใจ คงทน” กลุ่ม wearehappy กล่าวว่า โครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ 3 ดีสู่ชุมชน ของจังหวัดพะเยา ถือว่ามีความเข้มแข็งมาก โดยเฉพาะการขยายเข้าสู่ครอบครัว 3 ดีของชุมชนบ้านจำไก่ ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำกิจกรรมเรียนรู้ทักษะชีวิตเข้าสู่ครอบครัว เพื่อลดการเล่นหน้าจอของเด็กและสร้างทักษะทางสังคม โดยชวนครอบครัวเข้ามาร่วมและอบรมผู้ปกครองในการทำสื่อสร้างสรรค์ที่บ้าน และตั้งกติกา 3 ดีร่วมกันขึ้นเพื่อลดการเล่นมือถือของเด็ก ขณะเดียวกันชุมชนเองก็ทำพื้นที่ส่วนกลางสร้างกิจกรรมเรียนรู้ต่างๆ
“ห้องเรียนไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น บริบทการเรียนรู้มีอยู่รอบตัวมากมาย ด้วยการหาพื้นที่ดีๆ ภายในชุมชน เช่น ใต้ต้นไม้ พื้นที่ที่เข้าถึงได้ง่ายคล้ายสนามเด็กเล่น ซึ่งทำให้เกิดการรวมตัวมาเล่นของเด็ก ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการฝึกทักษะต่างๆ ทางกาย สังคม สติปัญญา พอเกิดพื้นที่ดีก็เกิดการขยายต่อไปพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”
เธอบอกว่า จากการที่ครอบครัว 3 ดีทำพื้นที่กิจกรรมเรียนรู้ช่วยเพิ่มทักษะและเสริมพัฒนาการให้เด็กได้ดีขึ้น เกิดผลรับลดหน้าจอของเด็กได้จริง และทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว