เทคนิคนำเสนอ "แผนประจำปี" ให้ถูกใจหัวหน้า ด้วยการวิเคราะห์ "บุคลิกผู้นำ"

เทคนิคนำเสนอ "แผนประจำปี" ให้ถูกใจหัวหน้า ด้วยการวิเคราะห์ "บุคลิกผู้นำ"

รู้จัก“หัวหน้า” ให้มากขึ้นกว่าเดิม ผ่านหลักวิเคราะห์บุคลิกผู้นำ 6 แบบ และใช้ความเข้าใจนั้นหา “ธง” ที่มีอยู่ในใจ เพื่อสื่อสารอย่างตรงเป้าหมาย

ใกล้สิ้นปีเก่าเตรียมขึ้นปีใหม่ หลายบริษัทเตรียมประชุมส่งท้ายปี และหนึ่งในวาระที่ต้องมีแน่ๆ คือการพูดถึงแผนงานของปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเป้าหมาย การระดมไอเดียหาวิธีการ การวางแนวทางปฏิบัติทั้งที่เป็นเนื้องานและวัฒนธรรมองค์กร

หากคุณต้องพรีเซนต์แผนให้หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานฟัง การมีไอเดียดีๆ และข้อมูลที่รอบด้านคือต้นทุนที่ยอดเยี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ถึงเช่นนั้นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลย คือการรู้ว่า “หัวหน้า” ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาสิ่งที่คุณพูดต้องการอะไรในเบื้องลึก และอะไรคือ “ธง” ที่มีอยู่ในใจแต่เขาหรือเธอไม่ได้พูดมันออกมา

หลักการวิเคราะห์ตัวตนของมนุษย์ โดยเฉพาะมนุษย์ออฟฟิศนั้นมีหลายแบบ ไม่ว่าจะการนิยามบุคลิกเป็นสี เป็นประเภทของสัตว์ หรือตามความถนัดในสายงาน อย่างไรก็ตาม รูปแบบหนึ่งที่มักนิยมใช้นิยามหัวหน้าคือหลักการของ Daniel Goleman ผู้เขียน Primal Leadership: Realizing the power of emotional  intelligence จาก Harvard Business School ซึ่งแบ่งประเภทของหัวหน้าออกเป็น 6 รูปแบบ และแต่ละแบบมีความต้องการและลักษณะที่ต่างกัน ดังนี้

1. Visionary leader ผู้นำแบบวิสัยทัศน์

จุดเด่น ของหัวหน้าประเภทนี้ คือการมีวิสัยทัศน์ในการหาแผนงานเพื่อพาทีมไปถึงเป้าหมาย โดยที่บุคลิกและลักษณะของหัวหน้าแบบนี้คือการเปิดกว้างและการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ทีม สังเกตได้ว่าผู้นำแบบนี้จะให้คำแนะนำได้ดีสำหรับการกำหนดทิศทางหรือวิสัยทัศน์ใหม่ คอยช่วยทีมจัดการกับการเปลี่ยนแปลง

คำแนะนำ : หัวหน้ามีเป้าหมายและก็ต้องเป็นตัวคุณแล้วที่จะหาทางที่ไปสู่จุดนั้น หากคุณต้องนำเสนองานกับหัวหน้ากลุ่มนี้ ต้องแสดงความกระตือรือร้นในการทำงานออกมา แสดงความมั่นใจในตัวเอง และมีแนวทางที่จะสนับสนุนการไปสู่จุดหมายที่หัวหน้าวางไว้ พยายามพูดโดยมีการสอดแทรกมุมมองที่กว้างไกล ความเอาใจใส่ และแสดงถึงความเชี่ยวชาญของตัวเอง

2. Coach หัวหน้าแบบโค้ช

จุดเด่นของหัวหน้าประเภทนี้คือการให้คำแนะนำ คอยให้คำปรึกษา ทั้งในแบบกลุ่มและส่วนตัว หัวหน้าประเภทสามารถเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายของคนในทีมกับเป้าหมายขององค์กรเพื่อใช้ผลักดันให้งานประสบความสำเร็จ สามารถกระตุ้นทีมได้ดี

คำแนะนำ : หากต้องนำเสนองานกับหัวหน้ากลุ่มนี้ ต้องแสดงถึงพัฒนาการที่มีต่องาน แสดงถึงความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ที่จะช่วยพัฒนางานให้ดีขึ้น เน้นการทำงานด้วยทีมเวิร์คเป็นหลัก อธิบายให้ได้ว่าจะใช้จุดแข็งที่มีหาทีมไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร

3. Affiliative leader ผู้นำแบบส่งเสริมความร่วมมือ

จุดเด่น ของหัวหน้าประเภทนี้คือการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกับคนในทีม โดยเขาจะสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่ม และป้องกันการเกิดความขัดแย้งในทีม ผู้นำกลุ่มนี้จะพยายามเข้าใจและให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนในทีม ผู้นำสไตล์จำเป็นมากสำหรับองค์กรที่มีความขัดแย้ง และต้องการมองโลกในแง่บวก

คำแนะนำ : แสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจคนในทีม ควรนำเสนอที่ให้ความรู้สึกถึงการสร้างบรรยากาศและสปิริตที่ดีในการทำงาน การพูดถึงผลลัพธ์ของงานที่จะทำให้ทีมเติบโตไปด้วยกัน เชื่อใจในแผนงานที่มี

4. Democratic leader ผู้นำแบบประชาธิปไตย

จุดเด่นของหัวหน้ากลุ่มนี้คือผู้นำที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รับฟัง แสดงความคิดเห็น เหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องการไอเดีย ความคิดเห็นใหม่ๆ เวลาต้องการมติเอกฉันท์หรือต้องการให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

คำแนะนำ : ในการนำเสนอ ควรสร้างพื้นที่ให้ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น การหยิบรายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่มีความสำคัญมาพูดถึง

5. Pacesetting leader ผู้นำแบบที่ยึดตัวเองเป็นมาตรฐาน

จุดเด่น ของหัวหน้ากลุ่มนี้เน้นการทำให้เห็น สร้างตัวอย่างที่ดีให้เป็นแบบอย่าง ทำงานโดยคาดหวังประสิทธิภาพสูงสุดของคนในทีม เป็นผู้นำที่โฟกัสไปที่ประสิทธิภาพการทำงาน ไม่กลัวการทำงานหนัก แถมยังพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกทีมอยู่เสมออีกด้วย

คำแนะนำ : แสดงออกถึงความเป็นสายลุยให้ได้ เน้นที่ผลลัพธ์ของงาน พูดถึงเป้าหมายที่สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม และอย่าลืมที่จะสื่อสารถึงความกระตือรือร้นที่พร้อมจะทำตามเป้าหมาย

6. Commanding leader – ผู้นำแบบออกคำสั่ง

จุดเด่น ความหมายตามชื่อคือการเป็นหัวหน้าที่มีคำสั่งเด็ดขาด เน้นการปฏิบัติตามกฎ ผู้นำแบบนี้เหมาะกับสถานการณ์วิกฤติ การเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้เวลาอันรวดเร็วในการคิดและลงมือทำ เหมาะกับองค์กร หรือทีมที่กำลังเจอกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มีวิกฤต

คำแนะนำ: ทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด แสดงออกถึงความน่าเชื่อถือ และทำให้หัวหน้าไว้ใจได้ว่าผลงานของเราจะออกมาตามเป้าหมาย แสดงความกระตือรือร้นในการที่จะปฏิบัติงานเพื่อหาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

ถึงตรงนี้ สำหรับมนุษย์เงินเดือนในองค์กรต้องเข้าใจว่า ผู้นำในแต่ละรูปแบบ มีจุดดีและจุดด้อยที่แตกต่างกัน การทำงานให้ประสบผลสำเร็จและมีความสุขคือการเรียนรู้ความสามารถและมุมมองที่ดีของแต่ละคน เพื่อนำมาปรับใช้และประยุกต์เข้ากับการทำงานของตัวเอง ถึงเช่นนั้นหากยังทุกข์ใจ และมองไปตรงไหนก็ดูไม่เข้ากับการทำงานของตัวเอง นั่นหมายความว่าถึงเวลาที่คุณต้องตัดสินใจหางานใหม่!

ที่มา : entrepreneur , recruiter