เปิดเหตุผลทำไม "ปณิธานปีใหม่" ถึง "ล้มเหลว" ทั้งที่เพิ่งเริ่มต้น
"ปณิธานปีใหม่" คือเป้าหมายของความเปลี่ยนแปลงในวันเริ่มต้นปีที่เราตั้งไว้ แต่รู้ไหมทำไมความตั้งใจนี้ถึงล้มเหลว? ทั้งๆที่เริ่มปีได้ไม่นาน
ปีใหม่คือช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของการเริ่มต้น และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายคนจึงถือโอกาสนี้ตั้งปณิธานชีวิตเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น หรือแบบที่เราเรียกว่า New Year’s Resolution
ผลสำรวจในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า 38.5% ของประชากรในอเมริกาตั้งปณิธานปีใหม่ และกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่แสดงความตั้งใจนี้คือกลุ่มคนอายุ 18-34 ปี โดยที่เป้าหมาย 3-4 อันดับแรกที่ตั้งไว้ หนีไม่พ้นการออกกำลังกายที่มากขึ้น การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การลดน้ำหนัก การเก็บออมเงิน
ถึงเช่นนั้น New Year’s Resolution ก็ไม่ได้มีปลายทางที่ประสบความสำเร็จทุกคน เพราะเคยมีผลสำรวจที่บอกว่า ผู้คนจำนวนกว่าประมาณ 80% ที่ตั้งปณิธานปีใหม่ล้มเหลวก่อนจะสิ้นปี และจากการศึกษาในออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร พบว่า มีผู้ตั้งปณิธานปีใหม่ 43% จะล้มเลิกภายในเดือนกุมภาพันธ์ และอีก 23% ที่ล้มเลิกตั้งแต่สัปดาห์แรก โดยที่สาเหตุหลักก็เป็นเพราะการตั้งปณิธานปีใหม่ ไม่ได้สอดคล้องกับสิ่งที่จะทำ
จากข้อมูลของ Strava แอปติดตามการวิ่งและการปั่นจักรยาน ระบุว่า คนส่วนใหญ่ลาออกในวันศุกร์ที่สองของเดือน โดยพวกเขาตั้งชื่อวันนี้ว่า "Quitters Day"ซึ่งแปลความได้ว่า เป็นวันแห่งการยอมแพ้
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้คนล้มเลิกเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ ประกอบด้วย
- 35% ไม่มีแรงจูงใจในการทำ
- 19% บอกว่ายุ่งเกินไป
- 18% เปลี่ยนเป้าหมายและเรียงลำดับความสำคัญของชีวิตใหม่ ขณะที่เหลืออีก 28% มาจากสาเหตุอื่นๆ
อย่างไรก็ดีมี มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีจำนวน 9% ของผู้ประสบความสำเร็จในปณิธาณปีใหม่ โดยที่บุคคลซึ่งประสบความสำเร็จเหล่านี้มักจะประสบกับความผิดพลาด 14 ครั้งในช่วงเวลา 2 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่าความไม่ยอมแพ้ ความยืดหยุ่น เป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จของเป้าหมาย
สำหรับประเทศไทย แม้จะยังไม่มีตัวเลขสำรวจ แต่การตั้งเป้าหมายปีใหม่ได้รับความนิยมตลอดหลายปีที่ผ่านมา พร้อมๆกับการมีช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งมักเป็นพื้นที่แชร์ประสบการณ์และความตั้งใจ ทำให้การมีปณิธาณปีใหม่หรือ New Year’s Resolution ถูกพูดถึงในทุกๆต้นปี และจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า สาเหตุที่ทำให้ปณิธาณปีใหม่ไปไม่ถึงฝันมีดังนี้
- คิดใหญ่เกินตัว ไม่เชื่อมโยงกับเป้าหมายที่หวังไว้
ทำให้รู้สึกยากและท้อใจ เช่น การตั้งเป้าหมายว่าจะลดความอ้วน แต่ไม่เคยคุมอาหารหรืออกกำลังกายมาก่อน การตั้งเป้าว่าจะลงแข่งรายการวิ่งมาราธอน แต่ไม่มีประสบการณ์เลย
- ขาดการวางแผน
ไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ทำให้ต้องผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการไม่มีตัวเลขและเป้าหมายที่แน่นอน ขาดวิธีการและเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จ
- ไม่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ
บางคนตั้งเป้าหมายที่จับต้องได้จริง แต่ระหว่างทางต้องฝืนกับความรู้สึกตัวเองหลายอย่าง จนไม่มีความสุข ทำให้ต้องล้มเลิกไป
- เป้าหมายเยอะเกินไป
อยากทำไปซะทุกอย่าง แต่ไม่จริงจังสักเรื่อง และไม่โฟกัสกับสิ่งที่ทำ ทำให้สิ่งที่ตั้งไว้ไม่ประสบความสำเร็จ
อ้างอิง : Forbes, Insideoutmastery