เปิดทริก "ออมเงิน" หลักแสนใน 1 ปี ส่องวิธี "วางแผนการเงิน" รับปีใหม่ 2023
สิ้นปีนี้ต้องมีเงินเก็บ! เปิดทริก "ออมเงิน" หลักหมื่นหลักแสนให้ได้ภายใน 1 ปี แต่ระหว่างทางอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วควรวางแผนยังไงให้เก็บเงินอยู่แบบไม่หลุด? ชวนส่องวิธี "วางแผนการเงิน" ต้อนรับปีใหม่ 2023
หนึ่งในปณิธานปีใหม่ 2023 ของหนุ่มสาว "วัยทำงาน" หลายๆ คน คงหนีไม่พ้นเรื่องการ “วางแผนทางการเงิน” บางคนพยายามเก็บเงินมาหลายปี แต่ก็ยังทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ได้สักที ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าบางคนอาจมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดแทรกเข้ามาระหว่างทาง ทำให้เป้าหมายหลุดไปบ้าง แต่อย่าเพิ่งท้อใจ ปีนี้มาเริ่มใหม่ไปด้วยกัน
ส่วนใครที่เพิ่งจะเริ่มตั้งเป้าหมายทางการเงินเป็นปีแรก และกำลังมองหาเคล็ดลับดีๆ ในการเก็บเงินหลักหมื่นถึงหลักแสนให้ได้ภายใน 1 ปี “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนส่อง 5 สเต็ปสร้างเงินเก็บตั้งแต่ขั้นแรก พร้อมทริกเก็บเงินสนุกๆ ที่ทำให้การเก็บเงินไม่น่าเบื่ออีกต่อไป
สเต็ป 1 : เช็กฐานเงินเดือนและตั้งเป้าหมาย
อันดับแรกต้องยอมรับว่า การจะเก็บเงินให้ได้ 100,000 บาทภายใน 1 ปีโดยไม่ทรมานเกินไปนั้น คุณต้องมีเงินเดือนอย่างน้อย 41,665 บาท หากเป็นเด็กจบใหม่อาจจะยังไม่สามารถทำตามเป้าหมายนี้ได้ แนะนำให้ลดเป้าหมายลงมาที่ 30,000-50,000 บาท ตามรายได้และภาระที่มีก่อนในช่วงปีแรกๆ ของการทำงาน แล้วค่อยขยับเป้าให้สูงขึ้นในปีต่อๆ ไป
อีกอย่างคือ ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะเอาเงินออมก้อนนี้ไปใช้ทำอะไร เพื่อให้มีความมุ่งมั่นและมีแรงจูงใจในการเก็บเงินไปตลอดทั้งปีโดยที่ไม่ถอดใจไปซะก่อน และช่วยให้ทำสำเร็จได้ง่ายขึ้น เช่น เก็บเงินสำหรับใช้ตอนเกษียณ (วางแผนเกษียณเร็วขึ้น), ซื้อรถ, ซื้อคอนโด, ซื้อบ้าน, ศัลยกรรมความงาม, เก็บเงินเที่ยว เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สเต็ป 2 : ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ย่อมมีปัจจัยภายนอกที่มาเร้ากิเลส ที่ทำให้เราอยากได้ อยากมี อยากซื้ออยู่ร่ำไป ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ กล้องถ่ายรูปตัวใหม่ รองเท้า/กระเป๋า/เสื้อผ้าแบรนด์เนม รวมไปถึงรายจ่ายยิบย่อยพวกค่าเครื่องดื่มชานม-กาแฟแบรนด์ดัง ถ้าซื้อบ่อยๆ ก็ทำให้เกิดรายจ่ายต่อเดือนหลายพันบาท ไม่ได้บอกว่าห้ามซื้อ แต่ถ้าลดการซื้อลงได้ ก็จะช่วยให้ไม่ไปเบียดบัง "เงินออม" ที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้
สเต็ป 3 : แบ่งเก็บก่อนใช้
สำหรับใครที่รู้ตัวว่าเก็บเงินไม่อยู่ ต้องเน้นข้อนี้เป็นพิเศษ โดยในทุกๆ เดือนต้องแบ่งส่วน “เงินเก็บ” เอาไว้ก่อน เหลือเท่าไหร่ค่อยเอามาใช้ เพื่อให้เงินส่วนที่ต้องการเก็บไปอยู่ในที่ที่เราไม่เห็น (เงินที่ไม่เห็น = เงินที่ไม่ได้ใช้) ช่วยลดแรงกระตุ้นในการใช้เงินลงได้
ทั้งนี้ การเก็บก่อนใช้จะต้องมีกฎว่า “ห้ามยุ่ง” กับเงินก้อนนี้เป็นอันขาด! จนกว่าจะทำตามเป้าหมายของเราได้สำเร็จ เช่น ถ้าตั้งใจเก็บเงิน 50,000 - 100,000 บาทในปลายปีนี้ ทุกครั้งที่มีรายได้เข้ามา จะต้องหักเงิน 20% เพื่อนำไปเก็บทันที ก่อนนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น และจะไม่ยุ่งกับเงินเก็บก้อนนี้เลยจนกว่าจะถึงปลายปี เช่น มีเงินเดือน 20,000 บาท แบ่งออมเดือนละ 20% ของเงินเดือน (20,000 x 20) / 100 ก็จะทำให้เก็บเงินได้ 4,000 บาทต่อเดือน หรือ 48,000 ต่อปี
สเต็ป 4 : ทำบัญชีรายรับรายจ่าย
หลังจากแบ่งส่วนเงินเก็บแยกไว้แล้ว เงินที่เหลือที่ต้องนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็ควรจดบันทึก “รายรับรายจ่าย” เอาไว้ด้วยเพื่อให้ทราบว่าแต่ละวันเราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง? ทำให้เท่าทันการใช้จ่ายของตนเองในแต่ละเดือน ทำให้สามารถบริหารจัดการเงินได้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น
สเต็ป 5 : สนุกกับเทคนิคออมเงินต่างๆ
การแบ่งเก็บเงินออมนั้นทำได้หลายวิธี ใครที่รู้สึกว่าตนเองขาดแรงกระตุ้นในการเก็บเงิน ลองเปลี่ยนจากการเก็บเงินธรรมดาๆ มาเป็นการเล่นเกมหรือการทำ Saving Money Challenge แข่งกับเพื่อน ก็จะช่วยให้การเก็บเงินสนุกขึ้น และทำตามเป้าหมาย “เงินเก็บ” ช่วงสิ้นปีได้ง่ายขึ้น โดยมีวิธีเก็บเงินที่น่าสนใจมาแนะนำดังนี้
- เก็บธนบัตรใบละ 50 บาท
แข่งขันกับเพื่อนทำโจทย์ “เก็บธนบัตรใบละ 50 บาท จำนวน 2 ใบต่อวัน” จนกว่าจะครบทั้ง 365 วัน วิธีนี้ทำให้สามารถเก็บเงินได้ 36,500 บาทต่อปี
- ทำ Saving Money Challenge 365 วัน สู่เงินเก็บ 66,795 บาท
โดยเริ่มต้นเก็บเงินวันแรก 1 บาท, วันที่ 2 เก็บ 2 บาท, วันที่ 3 เก็บ 3 บาท ให้เพิ่มเงินเก็บเข้าไปวันละ 1 บาท ทำไปเรื่อย ๆ จบครบปี แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือ ช่วงเดือนท้ายๆ ของปีต้องเก็บเงินจำนวนมากติดๆ กันทุกวัน จึงเป็นวิธีที่ทำสำเร็จได้ยาก
แต่มีทางแก้ไข คือ ให้นำเงินทั้งหมดมาหารจำนวนวันทั้งปีเพื่อหาค่าเฉลี่ย (66,795 / 365 = 183 บาท) แปลว่าเราสามารถเก็บเงินเฉลี่ยได้ในวันละ 183 บาท ซึ่งหากทำครบ 365 วัน ก็จะมีเงินเก็บ 66,795 บาทได้เช่นกัน
- ฝึกหัดลงลงทุนด้วย “กองทุนรวม”
วิธีนี้จะเพิ่มโอกาสที่ทำให้เงินที่มีอยู่งอกเงยขึ้นมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคาร แต่ก็ต้องแลกกับ “ความเสี่ยง” ที่จะตามมา ส่วนจะเสี่ยงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่ลงทุน โดยกองทุนรวม คือการใส่เงินลงทุนเข้าไปในกองทุนที่คนมีผู้เชี่ยวชาญช่วยบริหารจัดการให้ ซึ่งจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทน 1-12% (ขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่ลงทุน และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ เวลาที่ลงทุน)
ถ้าหากอยากมีเงิน 1 แสนบาท ใน 1 ปี แล้วใช้วิธีออมเงินในกระปุกจะต้องเก็บเงินเฉลี่ยเดือนละ 8,333 บาท จึงจะครบแสน แต่หากนำเงินไปลงทุนกองทุนรวม 1 ปี จะใช้เงินต้นที่น้อยลง เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนจะเข้ามาเติมเต็ม เช่น ถ้าเราลงทุนในกองทุนเดือนละ 8,000 บาท แล้วได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี ก็มีโอกาสจับเงิน 100,800* บาท เนื่องจากมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมา 4,800 บาทนั่นเอง (*คำนวณโดยโปรแกรมคำนวณเงินออม โดย ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง.)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเก็บเงินด้วยวิธีใด สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีวินัยต่อตนเอง บังคับตัวเองเก็บเงินให้ได้ทุกเดือนไม่ขาด จึงจะทำให้เป้าหมายการมี "เงินเก็บ" หลักหมื่น-หลักแสน ประสบความสำเร็จได้จริงภายในสิ้นปีนี้
----------------------------------------
อ้างอิง : SET, Finnomena, Lumpsum