รู้จัก Pain Score วิธีวัดระดับ "ความปวด" จาก 1-10 ประเมินยังไงให้ตรงที่สุด?
ว่าด้วยเรื่องชวนปวด! ไม่ว่าจะปวดจี๊ด ปวดหน่วง หรือปวดร้าว ก็ต้องทำความเข้าใจ "Pain score" หากไม่สบายและมี "อาการปวด" ผิดปกติจนต้องไปหาหมอ เมื่อหมอถามระดับ "ความปวด" จาก 1-10 ควรประเมินอย่างไรให้ตรงกับอาการจริงมากที่สุด
ไม่กี่วันก่อน มีผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับผู้ป่วยเข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการปวด แต่เมื่อหมอถามว่าปวดมากระดับไหน จาก 1-10 คะแนน ปรากฏว่าผู้ป่วยให้ระดับความปวดของตนเองแค่ 1 คะแนนเท่านั้น ทำเอาแพทย์และพยาบาลงงไปตามๆ กัน เนื่องจากความปวดระดับ 1 ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ก็ได้
หลายคนตั้งคำถามว่า การวัด “ระดับความปวด” (Pain Score หรือ Pain Scale) เพื่อแจ้งหมอเวลาไม่สบายนั้น ต้องประเมินยังไงให้ตรงกับอาการจริง?
สำหรับ Pain Score หรือ Pain Scale เป็นวิธีประเมิน “ความปวด” อันเนื่องมาจากอาการเจ็บป่วยที่ประสบอยู่ โดยผู้ป่วยจะเป็นคนให้คะแนนตามความเจ็บปวดที่ตนเองรู้สึก โดยในทางการแพทย์จะเรียกตัวประเมินนี้ว่า Numeric rating scale (NRS) คือ การที่ผู้ป่วยบอกคะแนนความปวดด้วยตัวเอง (Self report)
แล้วทำไม “ความปวด” ถึงทำให้คนเราทนไม่ได้จนต้องไปหาหมอ?
มีคำอธิบายจาก กองการพยาบาล กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุไว้ว่า ความปวด (Pain) คือ ประสบการณ์เฉพาะบุคคลที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน มักเกิดร่วมกับการบาดเจ็บ โดยมีองค์ประกอบด้านความรู้สึก อารมณ์ และสังคมเข้ามาร่วมด้วย
การจัดการอาการปวดอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดภาวะเครียดของร่างกายและจิตใจ เป็นการป้องกันและลดผลเสียที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพระยะยาว เนื่องจากหากมีอาการปวดแล้วปล่อยเอาไว้ อาจกลายเป็นความปวดเรื้อรังและบั่นทอนคุณภาพชีวิต รวมถึงส่งผลกระทบด้านการงานของผู้ป่วยได้
โดยทั่วไปแล้วความปวดแบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่
1. ความปวดเฉียบพลัน (Acute pain)
เป็นความปวดที่เพิ่งเกิดขึ้น มีระยะเวลาของความปวดที่จำกัด เป็นความปวดที่มีสาเหตุ เมื่อพยาธิสภาพหายไป อาการปวดก็หายไปด้วยตัวอย่างเช่น ความปวดแผลหลังผ่าตัด, ปวดแผลหลังอุบัติเหตุ, ปวดหัวผิดปกติ ฯลฯ มีอาการไม่เกิน 3 เดือน
2. ความเจ็บปวดจากเน้ือเยื่อถูกทำลาย/อักเสบ (Neuropathic pain)
เป็นความเจ็บปวดที่เป็นผลมาจากการมีพยาธิสภาพ ของระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง, โรคพาร์กินสัน, อาการปวดตามเส้นประสาทจากโรคงูสวัด, เบาหวาน ฯลฯ
3. ความปวดเรื้อรัง (Chronic pain)
เป็นความปวดที่ยาวนานกว่า มักเกิดขั้นในระยะเวลาของการสมานของเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ บ่อยครั้งไม่สามารถบ่งชี้ถึงสาเหตุของความปวดได้ มักมีอาการปวดอยู่นานเกินกว่า 3 เดือน
4. ความปวดจากมะเร็ง (Cancer Pain)
เป็นอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง เช่น อาการปวดจากก้อนมะเร็งไปกดทับเส้นประสาทและลุกลามไปที่กระดูก, อาการปวดท้องที่เกิดจากมะเร็งช่องท้อง, อาการปวดจากการรักษามะเร็ง เช่น การได้รับยาเคมีบำบัด ฯลฯ
เมื่อมีความปวดจากอาการไม่สบายต่างๆ แล้วไปพบแพทย์ เบื้องต้นผู้ป่วยจะต้อง “ประเมินความปวด” ของตนเอง โดยการรวบรวมข้อมูลความปวดที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันทั้งผู้ป่วย แพทย์ และทีมการรักษาพยาบาล
ในที่นี้ เราจะพูดถึงเครื่องมือในการประเมินความปวดที่ได้รับความนิยมในระดับสากล นั่นคือ Numerical Pain Rating Scale (NRS) ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยอายุ 8 ปีขึ้นไป และเป็นผู้ป่วยที่เข้าใจความหมายของตัวเลข และสามารถประเมินความปวดเป็นตัวเลขได้ โดยการวัดระดับความปวดตั้งแต่ 1-10 คะแนนนั้น ผู้ป่วยสามารถประเมินอาการปวด ได้ตามอาการความรุนแรงดังนี้
- ระดับ 0 ไม่ปวดเลย (No Pain) ขยับตัวก็ไม่ปวด
- ระดับ 1-3 ปวดน้อย (Mild Pain) ปวดเล็กน้อยพอทนได้ เมื่อนอนเฉยๆ ไม่ปวด หากขยับตัวจะปวดเล็กน้อย
- ระดับ 4-6 ปวดปานกลาง (Moderate Pain) นอนเฉยๆ ก็ปวด ยิ่งมีการขยับตัวก็ยิ่งปวดมากขึ้น
- ระดับ 7-9 ปวดมาก (Severe Pain) ปวดมากแทบทุกขณะเวลา ไม่ว่าจะนอนนิ่งๆ หรือขยับตัว
- ระดับ 10 ปวดมากที่สุด (Severe Pain) ปวดมากที่สุดจนทนไม่ได้ แม้นอนนิ่งๆ ก็ตาม
นี่ไม่ใช่วิธีประเมินเพียงอย่างเดียวที่แพทย์จะใช้ประเมิน “ระดับความปวด” ของคนไข้ แต่ยังมีเครื่องมือประเมินความปวดอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
1. Wong Baker FACES Pain Rating Scale : ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่เข้าใจและไม่สามารถสื่อสารเป็นตัวเลขได้ เช่น ใช้กับเด็ก
2. Behavior Pain Scale : ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถบอกระดับความปวดได้ด้วยตนเอง ผู้ป่วยวิกฤติ หรือผู้ป่วยที่ระดับความรู้สึกตัวน้อยลง
3. Critical care Pain Observation Tool : เป็นเครื่องมือที่มีความเที่ยงตรง มีความเชื่อถือได้สูง มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยที่สื่อสารไม่ได้
ทั้งนี้ความปวดเป็นความรู้สึกของแต่ละบุคคลและไม่เหมือนกันทุกคน ซึ่งแต่ละบุคคลมีก็มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อารมณ์, ประสบการณ์เดิม, ช่วงวัย ฯลฯ แต่ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าหลายคนคงเข้าใจเกี่ยวกับอาการปวดและวิธีประเมินระดับความปวดกันมากขึ้น
ในอนาคตหากเกิดเจ็บป่วยใดๆ ก็ตามที่มีอาการปวดร่วมด้วย ก็สามารถประเมินระดับอาการปวดและแจ้งต่อแพทย์ได้อย่างชัดเจนและตรงกับความเป็นจริง เพื่อที่แพทย์จะได้จ่ายยาได้ตรงกับอาการและระดับความปวด เนื่องจากระดับความปวดที่แตกต่างกันก็ต้องใช้ยาที่แตกต่างกันไปด้วย
--------------------------------------
อ้างอิง : กองการพยาบาล, Bantak Hospital, คณะแพทย์ฯ ม.มหิดล