"วันเด็ก 2566" ชวนย้อนรอยผลสำรวจ "ภัยออนไลน์" พบเด็กไทยถูกล่อลวงถึง 12%

"วันเด็ก 2566" ชวนย้อนรอยผลสำรวจ "ภัยออนไลน์" พบเด็กไทยถูกล่อลวงถึง 12%

"วันเด็ก 2566" เตือนภัยผู้ปกครองให้ระวัง "การล่อลวงเด็กออนไลน์" หรือ Grooming "ภัยออนไลน์" อีกรูปแบบหนึ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็กไทยมากกว่าที่คิด

วันเด็ก” ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 มกราคม 2566 หลายครอบครัวพาลูกๆ ไปเที่ยวงานวันเด็กได้เต็มที่ เนื่องจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง หลังต้องงดจัด “งานวันเด็ก” ไปถึง 3 ปี นอกจากการเฉลิมฉลอง วันเด็กแห่งชาติ แล้ว ในอีกด้านหนึ่งอยากชวนผู้ปกครองให้ตระหนักและเฝ้าระวังภัย “Grooming” ให้แก่ลูกหลานด้วย เนื่องจากปัจจุบันปัญหานี้มีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับ Child Grooming หรือ “การล่อลวงเด็กออนไลน์” หมายถึง พฤติกรรมที่คนร้ายเข้าหาเด็ก ตีสนิทให้เด็กตายใจ สร้างความเป็นมิตรเพื่อหวังล่วงละเมิดทางเพศภายหลัง โดยกระทำผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น พูดคุยทำให้เด็กเชื่อว่าตกหลุมรัก อยากคบหาเป็นแฟน ขอภาพลับ นัดพบ ละเมิดทางเพศ และถ่ายรูปข่มขู่แบล็คเมล

บุคคลที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ ถือเป็นภัยใกล้ตัวสำหรับเด็กและเยาวชน ที่อาจจะเกิดจากบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ตัว โดยเด็กไม่รู้ตัว หรือไม่อาจคาดเดาเจตนาของผู้กระทำได้ ดังนั้นจึงเป็นภัยร้ายทางออนไลน์ที่ผู้ปกครองและทุกฝ่ายต้องช่วยกันเฝ้าระวัง

จากผลสำรวจของ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ทำการสำรวจ สถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ระหว่างเดือน พฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 9 - 18 ปี จำนวน 31,965 คน พบว่า ในภาพรวมเด็กไทยเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียได้แทบทุกคน และสามารถเข้าถึงสื่อลามกอนาจารได้ง่าย รวมถึงมีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์อีกจำนวนไม่น้อย แบ่งเป็น

  • เด็กไทย 81% มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง
  • เด็กไทย 64% เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน
  • เด็กไทย 85% ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวัน
  • เด็กไทย 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร
  • เด็กไทย 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม
  • เด็กไทย 26% เคยวิดีโอคอลล์โชว์สยิว
  • เด็กไทย 26% ถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ (Cyber Bullying)
  • เด็กไทย 12% ถูกล่อลวงออนไลน์ (Grooming) เป็นเด็กประถมปลายอายุ 10 ขวบขึ้นไป
  • เด็กไทย 11% ถูกคุกคามทางเพศ

\"วันเด็ก 2566\" ชวนย้อนรอยผลสำรวจ \"ภัยออนไลน์\" พบเด็กไทยถูกล่อลวงถึง 12%

นอกจากนี้ รายงานผลสำรวจชิ้นนี้ยังแสดงให้เห็นถึง พฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียของเด็กไทยจากกลุ่มตัวอย่างด้วย โดยระบุไว้ว่า

  • เด็กไทย 75% เล่นเกมออนไลน์
  • เด็กไทย 11% เคยเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมายหรืออันตราย
  • เด็กไทย 7% เล่นพนันออนไลน์
  • เด็กไทย 18% จ่ายเงินเพื่อซื้อกล่องสุ่มในเกม ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการพนัน
  • เด็กไทย 18% เคยนัดพบเพื่อนออนไลน์

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาด้านภัยออนไลน์เหล่านี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง “กรมกิจการเด็กและเยาวชน” กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย จตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ให้ข้อมูลว่า

ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในทุกมิติ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภัยออนไลน์ที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน จึงได้กำหนดกรอบนโยบายในการดำเนินงานด้านสื่อออนไลน์ เริ่มจากการขับเคลื่อนการจัดตั้ง ศปอ. หรือ COPAT ส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ โดยดำเนินงานหลายส่วนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1) การเฝ้าระวังเว็บไซต์และสถานการณ์การพนันออนไลน์

2) โครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน (Healthy Gamer Prevention Model)

3) คู่มือ “เด็กและเยาวชนกับการใช้สื่อดิจิทัล” ทั้งในรูปเล่มและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-book)

4) ซอฟต์แวร์ส่งเสริมการเรียนรู้การรู้เท่าทันดิจิทัลสำหรับเด็ก ผู้ปกครอง และบุคคลแวดล้อม ที่ครอบคลุม 7 ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy Skills) เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 กรมกิจการเด็กและเยาวชน จะยกระดับการดำเนินงานสำหรับเด็กและเยาวชน ให้มีทักษะความรู้เท่าทันภัยในโลกยุคดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อให้เด็กไทยสามารถอยู่อย่างเท่าทันโลกดิจิทัลได้ในอนาคต พร้อมทั้งบูรณาการการทำงานกับภาคีเครือข่าย เพื่อร่วมกันเป็นรั้วสังคมที่ช่วยพิทักษ์ปกป้องเด็กและเยาวชน ให้มีความปลอดภัยในทุกมิติ

-----------------------------------------

อ้างอิง : กรมกิจการเด็กและเยาวชน