"ตรุษจีน 2566" รู้จัก "กระดาษไหว้เจ้า" 3 ประเภท ใช้ต่างกันยังไง?
เปิดที่มา "กระดาษไหว้เจ้า" ของไหว้ที่จำเป็นในเทศกาล "ตรุษจีน 2566" พร้อมรู้จักกระดาษเงินกระดาษทองแต่ละประเภท ใช้ไหว้ต่างกันอย่างไร และแบบไหนที่ต้องใช้ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพเจ้า ไหว้บรรพบุรุษ?
เมื่อ “ตรุษจีน 2566” เวียนมาถึง ประเด็นหนึ่งที่จะต้องมีการพูดถึงเหมือนเดิมทุกปีก็คือ “การเผากระดาษไหว้เจ้า” ต้องขอย้ำว่า หลายปีมานี้มีการรณรงค์ให้ลดการเผากระดาษเงินกระดาษทองในช่วงเทศกาล “ตรุษจีน” เนื่องจากปัญหามลภาวะฝุ่น PM 2.5 ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ถึงอย่างนั้นกระดาษไหว้เจ้าก็ยังมีความสำคัญต่อธรรมเนียมประเพณีการไหว้เจ้าของลูกหลานจีนเสมอมา
ด้วยความเชื่อว่าพิธีไหว้เจ้าและการเผากระดาษเงินกระดาษทองช่วงตรุษจีนนั้น เป็นสื่อถึงความเคารพไปยังสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ จะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล ความสุข และความเจริญแก่ครอบครัว
สำหรับที่มาหรือต้นกำเนิดของ “กระดาษไหว้เจ้า” นั้น มีข้อมูลจาก “วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมจีน เคยเล่าถึงตำนานกระดาษไหว้เจ้าไว้ว่า ในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีคนผู้หนึ่งชื่อ ไช่หลุน เป็นผู้คิดค้นกระดาษขึ้นมาสำหรับใช้งานด้านการเขียนบันทึก ครั้งหนึ่งอาจด้วยความผิดพลาดหรือจงใจก็ไม่รู้ได้ เขาได้ทำกระดาษที่มีสีเหลืองออกมา ซึ่งไม่เหมาะที่จะนำไปใช้เขียน ญาติของไช่หลุนจึงเสนอให้นำกระดาษเหล่านี้ไปเซ่นไหว้เทวดาและบรรพบุรุษแทน
อีกทั้งหากพิจารณาตามคติความเชื่อเรื่องการแบ่งโลกเป็นสามดินแดน คือ ดินแดนสวรรค์ โลกมนุษย์ และนรกภูมิ ก็พบข้อมูลบางส่วนระบุสอดคล้องกันว่า โลกมนุษย์ก็ใช้กระดาษขาวในการจดบันทึก ส่วนดินแดนนรกและสวรรค์จะใช้กระดาษเหลือง ดังนั้นกระดาษสีเหลืองจึงถูกทำขึ้นมาเพื่อใช้ในการไหว้เจ้าเป็นหลัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ตั้งแต่นั้นมาจึงการผลิตกระดาษสีเหลืองและต่อยอดสู่กระดาษเงินกระดาษทองเพื่อใช้ในพิธีไหว้เจ้าในช่วงตรุษจีน พร้อมกับเกิดธรรมเนียมประเพณีการเผากระดาษเพื่อสื่อถึงเทพเจ้าและบรรพบุรุษของชาวจีน และถูกส่งต่อสืบมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ในส่วนของกระดาษไหว้บรรพบุรุษ นอกจากมีกระดาษเงินกระทองแล้ว ยังมีการต่อยอดสู่การทำธนบัตรและของใช้จำลองต่างๆ จากกระดาษ หรือเรียกว่า “กงเต๊ก” เพื่อเผาส่งไปให้บรรพบุรุษในปรโลกด้วย นัยว่าแม้ตายไปแล้วแต่การอยู่ในโลกหลังความตายก็ต้องมีปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นในการอยู่อาศัยเช่นกัน ต้องมีบ้าน รถยนต์ ชุดเสื้อผ้า เงิน ทองแท่ง โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
พูดถึงกระดาษเงินกระดาษทองสำหรับไหว้ตรุษจีนแล้ว เชื่อว่าลูกหลานชาวจีนรุ่นใหม่บางคนอาจยังไม่รู้ว่ากระดาษไหว้เจ้าแบบไหน ใช้ไหว้ใครบ้าง? เพราะมีหลายประเภท แต่ละประเภทก็ใช้งานแตกต่างกันไป ก่อนถึง “วันไหว้” ใรเทศกาลตรุษจีน 2566 ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มกราคมนี้ จึงต้องเตรียมให้ถูกต้อง ดังนี้
1. ชุดกระดาษไหว้เจ้าที่
ตั่วกิม : กระดาษงินกระดาษทองขอบส้ม พับเป็นเคียวเท่าซี่และมีกระดาษสีแดงแปะตรงกลาง มักจะนำไปใส่ไว้ในกระทงสีเหลืองอีกชั้น ซึ่งตัวกระทงก็จะมีคำอวยพร เช่น ครอบครัวเป็นสุข มีเงินมีทอง เอาไว้ไหว้เจ้าที่ ขอพรให้มีความสุข การงานเจริญรุ่งเรือง
ตั่วกิม
เง็งเตี๋ย หงิ่งเตี๋ย : เป็นกระดาษเงินกระดาษทองแผ่นใหญ่ ด้านหนึ่งเป็นสีเงินอีกด้านหนึ่งเป็นสีทอง ด้านในตรงกลางมีอั่งจี้ 1 แผ่น ใช้ไหว้เจ้าที่ เพื่อเป็นสิริมงคลและให้โชคลาภ
2. ชุดกระดาษไหว้เทพเจ้า
เทียงเถ่าจี๊ : กระดาษสีแดงแผ่นยาวพับเป็นทบๆ ด้านหน้าจะมีกระดาษทองฉลุเป็นลายอักษรจีนความหมายมงคล 5 คำ กระจายอยู่ในแต่ละหน้ากระดาษ เช่น คำว่า “เผ่งอัง” เป็นคำอวยพร แปลว่า “โชคดี”
กิมเต้า หงิ่งเต้า : กระดาษรูปถังเงินถังทอง เปรียบเสมือนถังเงินถังทองใช้ไหว้เจ้าเพื่อขอเงินขอทองขอโชคลาภ ใช้ไหว้ไฉ่ซิ้งเอี๊ย ขอพรให้ร่ำรวยเงินทอง
กิมเต้า หงิ่งเต้า
กิมฮวย : ใช้ไหว้เพื่อขอพรจากเทพทุกพระองค์ ในเรื่องยศถาบรรดาศักดิ์จะไหว้คู่กับอั่งติ๋ว ส่วนมากนิยมปักกิมฮวยไว้บนผลส้ม และถวายแด่องค์เทพเจ้า ถือเป็นของมีค่าสูงยิ่งต่อเทพเจ้า
กิมฮวย
3. ชุดกระดาษไหว้บรรพบุรุษ
กิมจั๊ว กิมหงิ่งจั๊ว : กระดาษเงินกระดาษทองที่ต้องพับเป็นรูปดอกไม้หรือพาน ใช้ไหว้บรรพบุรุษขอพรความสิริมงคล ความเจริญรุ่งเรือง
กิมเตี๊ยว : ทองแท่งจำลองใช้ไหว้บรรพบุรุษ เปรียบเหมือนส่งทรัพย์สมบัติตามไปให้ผู้ที่จากไปแล้ว
กิมเตี๊ยว - กิมจั๊ว กิมหงิ่งจั๊ว
อ่วงแซจี้ : กระดาษสีเหลืองคล้ายยันต์ มีอักษรจีนสีแดงเขียนอยู่ในวงกลม (มนต์บทสวด) ใช้เผาเป็นใบเบิกทางไปสู่สวรรค์ให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ ให้อยู่สบายในภพภูมิที่ดี
อิมกังจัวยี่ (กงเต๊ก) : ธนบัตรจำลองใช้ไหว้บรรพบุรุษ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาพบบุตรหลานญาติมิตรที่เมืองมนุษย์ในเทศกาลจีนต่างๆ
ใบเบิกทาง-เงินกงเต๊ก
นอกจากนี้ "ของไหว้" อื่นๆ ที่จำเป็นในการตั้งโต๊ะไหว้เจ้าในวัน "ตรุษจีน 2566" ก็มีอีกหลายหมวด ได้แก่
- หมวด "ผลไม้มงคล" 5 หรือ 7 หรือ 9 อย่างก็ได้
ส่วนใหญ่ต้องเป็นผลไม้ที่มีชื่อหรือมีความหมายมงคล หลังจากไหว้เจ้าแล้วจะนำมาแบ่งกันรับประทานในครอบครัว นัยว่าจะทำให้ชีวิตได้รับความเป็นสิริมงคล โดยสามารถนำมาจัดโต๊ะไหว้ได้ทุกรอบ ได้แก่ ส้มสีทอง ทับทิมแดง กล้วยหอมทอง สาลี่ทอง สับปะรด องุ่นแดง แก้วมังกร
- หมวด "อาหารมงคล" 7 หรือ 9 อย่างก็ได้
เน้นเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ หมู ไก่ เป็ด กุ้ง สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ มั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรือง และต้องมีอาหารที่ปรุงจากเส้นหมี่ หมี่ซั่ว บะหมี่ สื่อถึงอายุยืนยาวต้อนรับปีใหม่ รวมไปถึงขนมมงคลต่างๆ ด้วย สำหรับอาหารมงคล สามารถนำไปจัดชุดไหว้ได้ทุกรอบเช่นกัน ได้แก่ ปลานึ่ง/ปลาทอด, ไก่ต้ม/ไก่แช่เหล้า/ไก่ทอด, เป็ดพะโล้/เป็ดปักกิ่ง หัวหมูต้ม/หมูสามชั้นต้ม/หมูกรอบ, กุ้งผัดพริกเกลือ, หมี่ซั่ว/บะหมี่หมู/บะหมี่เป็ด, ซุปสาหร่าย/เกี๊ยวต้ม, ขนมเข่ง/ขนมถ้วยฟู/ขนมสาลี่ ฯลฯ
- หมวดของไหว้เทพเจ้า อาหารเจ+ขนมจันอับ
เป็นชุดของไหว้ที่ใช้ไหว้เทพเจ้า "ไฉ่ซิงเอี้ย" เพื่อขอพรด้านโชคลาภเงินทอง ตามหลักแล้วของไหว้ที่จะใช้ไหว้เทพเจ้าต้องเป็นหมวดอาหารเจ ไม่มีเนื้อสัตว์เจือปน เช่น ผลไม้ อาหารเจ ขนมจันอับ ซึ่งของไหว้ชุดนี้จะใช้เฉพาะการไหว้เทพเจ้าเท่านั้น! (ช่วงเวลาการไว้ คือ เริ่มไหว้ได้ตั้งแต่กลางดึกไปจนถึงเช้ามืดที่ย่างเข้าสู่วันตรุษจีน) ได้แก่ อาหารเจ (เจไฉ่) 5 อย่าง, ขนมอี๊ 5 ถ้วย, น้ำชา 5 ถ้วย, ผลไม้มงคล 5 หรือ 7 อย่าง และขนมจันอับ
สุดท้ายนี้ แม้การเผากระดาษเงินกระดาษทองจะเป็นส่วนสำคัญในพิธีไหว้เจ้าตรุษจีน แต่ก็อย่าลืมว่ายุคนี้เรายังต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากว่าในอดีต จึงควรลดการเผากระดาษไหว้เจ้าและการจุดธูปให้น้อยลง ทำแค่พอเป็นพิธีเท่านั้น เพื่อลดการสร้างมลภาวะในสิ่งแวดล้อม