4 เวลาไหว้เจ้า "ตรุษจีน 2566" รับทรัพย์ร่ำรวยเช้ายันดึก เวลาไหนต้องไหว้ใคร?
ใกล้ถึงวันไหว้แล้ว! เปิดฤกษ์ไหว้เจ้า "ตรุษจีน 2566" เสริมเฮงรับทรัพย์ให้ร่ำรวยสุดปัง! จดไว้เลย 4 เวลาไหว้เจ้าตั้งแต่เช้ายันดึก ที่ลูกหลานชาวจีนต้องรู้ว่าเวลาไหนต้องไหว้เทพเจ้า ไหว้เจ้าที่ หรือไหว้บรรพบุรุษ?
หลายคนคงทราบกันแล้วว่าในช่วงเทศกาล "ตรุษจีน 2566" จะประกอบไปด้วยวันสำคัญ 3 วัน ได้แก่ วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ซึ่งแต่ละวันก็มีความสำคัญและมีข้อปฏิบัติแตกต่างกันไป
อ่านเพิ่ม : เช็กปฏิทินวันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว คือวันไหนบ้าง?
แต่สำหรับ "วันไหว้" ที่ตรงกับวันที่ 21 มกราคม 2566 นั้น นอกจากการเตรียม "ของไหว้" ให้พร้อมสรรพแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนต้องรู้ก็คือการตั้งโต๊ะไหว้ และช่วงเวลาการไหว้เจ้าซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลาด้วยกัน ตั้งแต่ช่วงเช้า สาย บ่าย และช่วงดึก โดยการไหว้แต่ละเวลาก็จะมีจุดประสงค์ในการไหว้แตกต่างกันไป และของไหว้ก็แตกต่างกันด้วย ดังนี้
- ช่วงที่1 (เช้า 06.00-07.00 น.) : ไหว้เจ้าที่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้าน
ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 21 มกราคม 2566 เวลาไหว้เจ้าประมาณ 06.00-07.00 น. เป็นช่วงเวลาที่จะต้องไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่ หรือเทพเทวดาผู้คุ้มครองบ้านเรือน ที่มาปกปักดูแลให้เจ้าบ้านอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข โดยของไหว้ที่ต้องใช้ในการไหว้ช่วงเช้า ได้แก่
- เนื้อสัตว์ต้มสุก 3 อย่าง (ซาแซ) หรือ 5 อย่าง (โหงวแซ) เช่น ไก่ เป็ด หมู ฯลฯ
- ผลไม้มงคล 3 หรือ 5 หรือ 7 อย่าง เช่น ส้ม กล้วยหอม แก้วมังกร สาลี่ ทับทิม องุ่นแดง สับปะรด ลูกพลับ ฯลฯ
- เหล้า, น้ำชา, กระดาษเงินกระดาษทอง (ตั่วกิม/เง็งเตี๋ย หงิ่งเตี๋ย), ใช้ธูปในการไหว้ 5 ดอก
หลังจากไหว้เสร็จ รอสักครู่ จากนั้นให้ เผากระดาษเงินกระดาษทอง ตามประเพณี (แต่เพื่อป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 จึงควรงดเผาหรือเผาเล็กน้อยพอเป็นพิธี)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ช่วงที่ 2 (สาย 10.00-11.00 น.) : ไหว้บรรพบุรุษ
ต่อมาในช่วงสายๆ เวลาไหว้ประมาณ 10.00-11.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 2566 จะเป็นการตั้งโต๊ะไหว้บรรพบุรุษครั้งใหญ่ประจำช่วงต้นปี (ในเทศกาลปีใหม่จีน) เพื่อระลึกถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีตามคติความเชื่อของพี่น้องชาวจีน โดยการไหว้ในรอบนี้ต้องใช้ของไหว้ ได้แก่
- เนื้อสัตว์ต้มสุก 3 หรือ 5 อย่าง เหมือนการไหว้ช่วงเช้า และเพิ่มเติมด้วยอาหารมงคลอื่นๆ ที่บรรพบุรุษชอบหรืออาหารที่มีความหมายมงคล เช่น อาหารจานเส้น อาหารจานปลา เมนูซุปใสหรือแกงจืด ขนมจันอับ ถ้วยฟู ขนมเข่ง ขนมเทียน ฯลฯ
- ผลไม้มงคล 3 หรือ 5 หรือ 7 อย่าง เช่น ส้ม กล้วยหอม แก้วมังกร สาลี่ ทับทิม องุ่นแดง สับปะรด ลูกพลับ ฯลฯ
- กระดาษเงินกระดาษทอง (กิมจั๊ว กิมหงิ่งจั๊ว/กิมเตี๊ยว/อ่วงแซจี้/อิมกังจัวยี่ กงเต๊ก), ใช้ธูปในการไหว้ 3 ดอก
ข้อควรระวัง : คนจีนไม่นำเต้าหู้ขาวมาไหว้ในวันตรุษจีน เนื่องจากสีขาวสำหรับชาวจีนเป็นสีแห่งความโศกเศร้า หลังไหว้เสร็จ ให้รอจนธูปหมด จากนั้นให้นำของไหว้มารับประทานร่วมกันและแจกจ่ายแบ่งปันเพื่อนบ้าน
- ช่วงที่ 3 (บ่าย 14.00-16.00 น.) : ทำทานสัมภเวสี
ต่อมาในช่วงบ่ายๆ เวลาไหว้ประมาณ 14.00-16.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 2566 จะเป็นการไหว้บริจาคให้ทานแก่ผีไม่มีญาติหรือสัมภเวสี โดยชาวจีนส่วนใหญ่มักมีอาชีพค้าขายและเชื่อกันว่าการให้ทานผีเหล่านี้จะช่วยให้ค้าขายราบรื่นดี โดยของไหว้ในรอบนี้ ได้แก่
อาหารต่างๆ ที่เหลือจากการไหว้รอบเช้าและรอบสาย ข้าวสวย ขนมต่างๆ กระดาษเงินกระดาษทองจำพวกกงเต๊ก และใช้ธูปในการไหว้เพียง 1 ดอกเท่านั้น
พอไหว้เสร็จ รอสักครู่ จากนั้นให้จุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปให้หมด และเพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับตรุษจีน
- ช่วงที่ 4 (ดึก 23.00-01.00 น.) : ไหว้ “ไฉ่ซิงเอี้ย” เทพแห่งโชคลาภ
สำหรับใครที่อยากไหว้เสริมดวงและเพิ่มโชคลาภ ต้อนรับความเฮงในวันตรุษจีน 2566 ก็แนะนำให้ไหว้เทพเจ้าแห่งโชคลาภ เป็นการไหว้ครั้งที่ 4 เพิ่มเข้ามา โดยฤกษ์ไหว้คือช่วงกลางดึกของคืนวันสิ้นปี ก่อนจะย่างเข้าวัน "ตรุษจีน" โดยเวลาไหว้เจ้าก็คือช่วงเวลา 23.00-01.00 น. ของคืนวันที่ 21 มกราคม 2566 เช้ามาก็จะเป็นวันที่ 22 มกราคม 2566
สำหรับของไหว้ ได้แก่ ไฉ่ซิงเอี้ยจำลอง รูปภาพองค์ไฉ่ซิงเอี้ย หรือจะเป็นป้ายอักษรพระนามว่า ไฉ่ซิงเอี้ยก็ได้ , เทียนแดง 1 คู่, ธูป 3 ดอก หรือ 5 ดอก หรือ 12 ดอกก็ได้
ส่วนอาหารที่ต้องนำมาเป็นของไหว้เทพเจ้า ได้แก่ ขนมอี้(สาคูแดง) 5 ถ้วย, ผลไม้มงคล 5 อย่าง, อาหารเจ 5 อย่าง, ข้าวสวย และน้ำชา ก็ให้จัดอย่างละ 5 ถ้วยเล็กๆ เช่นกัน
เตรียมกระดาษเงินกระดาษทอง หงิ่งเตี๋ย 12 แผ่น แทน 12 เดือน รวมถึงมีค้อซีที่อาจจะพับเป็นโคม หรือดอกบัว มีถังเงินถังทอง กิมหงิ่งเต้า เพื่อความเป็นมงคล เมื่อไหว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ดับเทียน โดยนำเทียนแดงไปเก็บไว้ในตู้เซฟ หรือวางไว้ที่หิ้งพระเพื่อความเป็นมงคล
แถมท้าย! นอกจากนี้ หากใครมีความเชื่อเรื่อง "ปีชง" ก็อาจจะเพิ่มเติมการไหว้แก้ชง ฝากดวงชะตากับ "ไท้ส่วยเอี้ย" เข้าไปด้วย แต่ไม่จำเป็นต้องไหว้ในช่วงที่ตรงกับวันตรุษจีน แต่สามารถไหว้หลังวันตรุษจีนเล็กน้อยก็ได้ โดยสามารถไปไหว้ได้ตามศาลเจ้าจีนต่างๆ ที่มีเทพ "ไท้ส่วยเอี้ย" ประดิษฐานอยู่
โดยการไปไหว้ฝากดวงชะตากับเทพเจ้า "ไท้ส่วยเอี้ย" หรือการไหว้แก้ชง ว่ากันว่าเป็นความเชื่อเกี่ยวกับการไหว้ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไป และขอพรให้ท่านช่วยดูแลเราให้มีชีวิตราบรื่น แคล้วคลาด และปลอดภัยตลอดปี โดยจะนิยมไหว้ในวันตรุษจีนหรือหลังจากผ่านตรุษจีนไปเล็กน้อย
ของไหว้ : สามารถทำบุญด้วยการซื้อชุดไหว้ที่ทางวัดจัดไว้ให้ หรือจะซื้อของไหว้มาจัดชุดเองก็ได้ ได้แก่ กระดาษเงินกระดาษทอง เทียบแดง ส้ม อาหารเจแห้ง ธูป เทียน เป็นต้น โดยวัดแต่ละแห่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือบอกวิธีการไหว้ในแต่จุด (อ่านเพิ่ม : วิธีแก้ชง ปีชง 2566 โดย อาจารย์ มนัสกวิญ ชางประยูร)