กลัวการมีความสุข! เมื่อภาวะ “Cherophobia” ทำให้จมดิ่ง อาการแบบไหนเข้าข่าย?
อาการ "กลัวการมีความสุข" ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น! ชวนเจาะลึกพฤติกรรมจากภาวะ “Cherophobia” เกิดจากอะไร? ความรู้สึกแบบนี้มาจากไหน ถ้าความสุขเป็นแค่ตัวแปรของความทุกข์ แล้วเราจะเดินหน้าหา “ความสุข” ต่อไปอย่างไร
วันปีใหม่และวันตรุษจีนที่ผ่านมา หลายคนคงถือโอกาสไปไหว้พระขอพรเสริมสิริมงคลรับปีใหม่ 2566 และเชื่อว่าทุกคนล้วนอธิษฐานในใจขอให้ตัวเองและครอบครัวมี “ความสุข” กันทั้งนั้น เพราะความสุขเป็นสิ่งที่ใครหลายคนปรารถนา แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่อยากจะมีความสุข เชื่อหรือไม่? บนโลกใบนี้มีคนบางกลุ่มที่ “กลัวการมีความสุข” รวมอยู่ด้วย และพวกเขารู้สึกว่าการมีความสุขนั้น จะนำมาซึ่งอาการอมทุกข์ทุกครั้งไป
- ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะมีความสุข
ถึงจะดูแปลกไปหน่อยแต่เรื่องนี้มีอยู่จริง เมื่อมีใครหลายคนอาจกำลังตกอยู่ในหลุมลึกของภาวะที่เรียกว่า “กลัวการมีความสุข” หรือ “Cherophobia” ซึ่งผู้ที่ตกอยู่ในภาวะดังกล่าวมักจะรู้สึกหวาดกลัวขึ้นมาโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย โดยกลัวว่าตัวเองจะมีความสุขหรืออะไรก็ตามที่คาดว่าจะรู้สึกสนุก จนเผลอยิ้มและหัวเราะออกมา เช่น เย็นนี้ต้องไปงานเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนๆ ที่บริษัท แต่กลับรู้สึกกลัวที่ต้องไปร่วมงานด้วย จนอาจปฏิเสธงานนั้นไปเลยก็ได้ ถึงแม้ว่างานเลี้ยงในเย็นนี้จะได้พูดคุยอย่างสนุกสนานมากขนาดไหน แต่ก็ขอโบกมือลาดีกว่า
สาเหตุที่คนกลุ่ม Cherophobia มีพฤติกรรมแบบนี้ เป็นเพราะพวกเขาเชื่อว่าหากครั้งหนึ่งมีเรื่องดีๆ เข้ามาแล้ว หลังจากนั้นไม่นานก็จะต้องมีเรื่องแย่ๆ ตามมาด้วยเสมอ ซึ่งพวกเขามักจะยอมรับเรื่องแย่ๆ หรือเหตุการณ์ร้ายๆ ที่อาจทำให้เสียใจเหล่านั้นไม่ได้ จึงเลือกยอมไม่มีความสุขแต่แรกไปเลยดีกว่า หากคุณเคยรู้สึกแบบนี้คุณอาจเข้าข่ายภาวะ “กลัวการมีความสุข” เข้าให้แล้ว!
- อาการ “Cherophobia” เกิดจากความเชื่อและพฤติกรรมส่วนบุคคล
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีเกณฑ์การวินิจฉัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวอย่างไรก็ตาม ลองสังเกตอาการเบื้องต้นเหล่านี้ดูสักนิด เผื่อว่าจะเกี่ยวกับอารมณ์และพฤติกรรมผิดปกติบางอย่างที่คุณกำลังสงสัยอยู่ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่
1. มุมมองด้านความคิดที่ผิดปกติไปจากเดิม
คุณเชื่อว่าช่วงเวลาที่กำลังมีความสุขอยู่ จะทำให้คุณกลายเป็นคนที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่กำลังมีความสุขอยู่แต่กลับมีความคิดนี้ที่ตีเข้ามาในหัวว่าคุณกำลังทำผิดอะไรสักอย่าง หรือ
คุณเชื่อว่ามีสุขก็ต้องมีทุกข์ และความทุกข์จะตามมาเสมอไม่ว่าจะสุขใจมากขนาดไหนก็ตาม และความทุกข์ที่ว่านี้จะต้องเป็นเรื่องแย่ๆ ที่ต้องเกิดขึ้นอยู่เสมอ รวมไปถึงความกังวลต่อสายตาคนอื่นที่มองมา คุณจะรู้สึกว่าเมื่อแสดงให้คนอื่นๆ เห็นว่ากำลังหัวเราะอย่างสบายใจ อาจทำให้ใครสักคนรู้สึกไม่พอใจคุณได้
2. พฤติกรรมผิดปกติที่แสดงออกมา
คุณมักปฏิเสธการพบปะสังสรรค์ หรืองานเลี้ยงรื่นเริงต่างๆ ที่สนุกสนาน หรือมักจะปฏิเสธความสัมพันธ์ หรือโอกาสดีๆ ในชีวิต ซึ่งอาจนำความสุขและความสำเร็จในด้านต่างๆ มาให้
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อยู่ในภาวะ “กลัวการมีความสุข” อาจแสดงพฤติกรรมแตกต่างกันไปในแต่ละคน หรือบางคนอาจจะมีอาการที่แสดงออกทางร่างกายร่วมด้วย เช่น วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก คลื่นไส้ และในกรณีนี้ความกลัวสามารถนำไปสู่ความวิตกกังวลที่รุนแรง ซ้ำร้ายอาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
หากมีอาการที่น่าเป็นห่วงดังกล่าวนานเกินกว่า 6 เดือน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อหาทางออกหรือการบำบัดที่เหมาะกับคุณ และเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการเหล่านั้น และรับการรักษาได้อย่างเหมาะสม
- เจาะเหตุผลทางจิตวิทยา ทำไมบางคนมีภาวะ Cherophobia?
หากมองในทางจิตวิทยา อาจพูดได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้บางคนเกิดภาวะกลัวการมีความสุขขึ้นมานั้น มักผูกโยงกับความเชื่อในมุมมองของพวกเขา ที่มักจะมองว่าความสุขและความโชคร้ายเป็นของคู่กัน ขอไม่มีความสุขเสียดีกว่า จะได้ไม่ต้องมีทุกข์ในวันข้างหน้า ซึ่งกรณีนี้อาจเกิดขึ้นกับคนที่เคยประสบกับเหตุการณ์เลวร้ายในอดีต จนกระทบกระเทือนจิตใจมาจนถึงปัจจุบัน
อีกหนึ่งเหตุผลที่น่าสนใจ คือ บุคคลที่มีภาวะ Cherophobia มักมีทัศนคติเฉพาะตัวที่ว่า พวกเขาต้องการปัดเป่าสิ่งเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กล่าวคือ ถ้าไม่มีความสุขเกิดขึ้นในตอนนี้ ความทุกข์ก็จะไม่ต่อแถวตามมาในอนาคต โดยเป็นความรู้สึกที่พวกเขาอยากจะอยู่ในเซฟโซนที่ปลอดภัยเท่านี้ก็พอใจแล้ว
นอกจากนี้ ภาวะดังกล่าวก็อาจเกิดขึ้นกับบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบ “Introvert” ได้มากกว่าคนทั่วไป กล่าวคือ พวกเขามักเป็นคนประเภทเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม คนประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะมีภาวะกลัวการมีความสุข เนื่องจากพวกเขาชอบที่จะทำกิจกรรมคนเดียว จึงรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องไปร่วมวงสังสรรค์กับผู้คนหมู่มาก
- เพราะ “ความสุข” ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษา “ภาวะกลัวการมีความสุข” แบบชัดเจน เพราะคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าอาการทำนองนี้ไม่ต่างอะไรกับ “โรคซึมเศร้า” ทำให้การเข้ารับคำปรึกษาต่างๆ จึงยังไม่สามารถช่วยบำบัดความรู้สึกของผู้ที่ตกอยู่ในภาวะนี้ได้มากเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการบรรเทาอาการได้ในเบื้องต้น เช่น ฝึกผ่อนคลาย หายใจลึกๆ ออกกำลังกาย และการค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองทางความคิด จะช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวและเดินหน้าเข้าหาความสุขได้มากขึ้นทีละนิด
ถึงแม้ว่าภาวะกลัวการมีความสุข อาจฟังดูเลวร้ายสำหรับใครบางคน แต่ในทางกลับกัน ไม่ใช่ทุกคนต้องการที่จะรักษาอาการนี้ให้หมดไป เพราะภาวะดังกล่าวอาจทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย และมีความสุขในรูปแบบที่พวกเขาต้องการได้เพียงพออยู่แล้ว
สุดท้ายนี้ ลองถามตัวเองสักหน่อยว่า คุณเคยมีความกลัวหรือวิตกกังวลแบบนี้บ้างไหม? หากรู้สึกว่าความสุขที่กำลังจะได้รับ มันเป็นแค่ตัวแปรที่นำมาซึ่งความทุกข์ระทมใจในอนาคต และตระหนักได้ว่าสิ่งนี้ผิดปกติ และอยากกลับไปมีความสุขได้อีกครั้ง คุณก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา แต่ถ้ามองว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร และการอยู่ในเซฟโซนแล้วทำให้ รู้สึกสงบ ปลอดภัย และพอใจแบบนี้ ก็เป็นตัวเลือกเฉพาะบุคคลที่ทำได้เช่นกัน
--------------------------------------------
อ้างอิง : HealthLine, Positivepsychology, Happiness/cherophobia