‘พลอยไพลิน ตั้งประภาพร’ เก็บกระเป๋าไปใส่ประสบการณ์

‘พลอยไพลิน ตั้งประภาพร’ เก็บกระเป๋าไปใส่ประสบการณ์

จากอยากรู้สู่การค้นหา จากคำถามสู่ความหมาย จากการเดินทางของนักแสดงสาวใส กลายเป็นหนังสือที่จุดประกายให้คนที่ยังสับสนในชีวิตผ่านประสบการณ์ ผู้คน สถานที่ ตลอด 37 วัน ใน 8 ประเทศ บนเส้นทางแห่งฝัน

ยอดวิวยอดแชร์เยอะเกินคาดบนเฟซบุ๊คแฟนเพจ ‘พลอยเรียนจบแล้วทำไรต่อ?’ แม้จะไม่ได้หวังใจว่าจะ ‘เอาดีทางนี้’ แต่คลิปท่องเที่ยวสไตล์ ‘พลอย’ พลอยไพลิน ตั้งประภาพร ไม่เพียงแค่ถูกใจชาวเน็ต ทว่าไปเตะตาบรรณาธิการสำนักพิมพ์บัน (BUNBOOKS) จนถูกทาบทามให้มาจรดปากกาในฐานะ ‘นักเขียนหน้าใส’ ของวงการ

บทบาทที่หลายคนรู้จัก ‘พลอย’ คือดารานักแสดงสาว อีกมุมหนึ่งเธอคือนักทดลองทำสิ่งใหม่ๆ จากความตั้งใจที่จะทำ Gap Year หลังเรียนจบด้วยการเดินทางท่องเที่ยวนานนับเดือนเพียงลำพัง จึงกลายมาเป็นประสบการณ์สุดเจ๋ง ถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ วิชาเดินทางหลังเลิกเรียน

 

  • ทางสับสนของคนขี้สงสัย

“มีคนเคยบอกว่าเดินทางคนเดียวจะได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองและเกี่ยวกับคนอื่นๆ” พลอยเปรยถึงจุดประสงค์อันลึกซึ้งของการตัดสินใจที่จะเดินทางคนเดียว ซึ่งก่อนหน้านั้นความช่างสงสัย ความเป็นนัก (อยาก) ทดลอง ทำให้เธอลองค้นหาสิ่งที่อาจจะใช่ทั้งเรียนทำอาหาร เรียนภาษามือ แม้กระทั่งไปเป็นครูบ้านนอก แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา พลอยกลับมาถามใจตัวเองอีกครั้งว่าเมื่อไม่ใช่ทางเรา แล้วจะไปทางไหนดี

“ด้วยระยะเวลาตอนนั้น ถ้าเราทำงานก็คงไม่มีเวลาหนึ่งเดือนไปเที่ยว และพลอยเคยบอกกับตัวเองก่อนเรียนจบแล้วว่าถ้าเรียนจบแล้วจะไปทรานส์-ไซบีเรีย นี่จึงเป็นการต่อยอดความฝันของเรา และตอนนั้นเราอยู่ในช่วงที่สับสน ก็มีคนบอกลองไปเที่ยวสิ ไปคนเดียวสิ จะได้เรียนรู้ในความสับสนนั้น”

ความสับสนที่พลอยเผชิญตอนนั้นคือความคิดว่าไม่รู้จะทำอะไรต่อ ชอบอะไร ทำอะไรได้บ้าง หรือทำอะไรได้ดี แต่การเดินทางคนเดียวไปยังสถานที่ที่ไม่เคยไปก็เกินจะจินตนาการ ไม่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง แม้แต่อุณหภูมิที่จะต้องสัมผัสคือความแปลกใหม่ที่พลอยคิดภาพไม่ออกว่าถ้าตัวเองจะไปอยู่ตรงนั้นจะเป็นอย่างไร

ความเป็นทางรถไฟยาวที่สุดในโลก ผ่าน 3 ประเทศ เขียนฝันของพลอยจนแจ่มชัดว่าจะต้องพิชิตเส้นทางทรานส์-ไซบีเรีย ให้ได้

61183537_2307140879344711_4150095747003449344_o

 

  • เดินทางโดยสวัสดิภาพ

ความฝันที่จะเดินทางบนรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย ทำให้พลอยตื่นเต้นจนแทบจะรอวันเดินทางไม่ไหว กระทั่งการเดินทางเริ่มต้นขึ้นจริงๆ บนรถไฟที่หลายคนบอกว่าต้องมานั่งให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิตของนักเดินทางกลับไม่เป็นเช่นนั้น

“เรามั่นใจมากว่ารถไฟทรานส์-ไซบีเรียมันต้องสนุก เพราะมันคือรถไฟแห่งความฝันของเรา และทุกคนบอกว่านักเดินทางจะต้องไปให้ได้ มันก็เหมือนเป็นความคาดหวังของเรา แต่พอไปถึงจริงมันกลับเป็นสิ่งที่น่าเบื่อที่สุด เพราะต้องอยู่บนรถไฟ 3 วัน เราก็แบบ อ๋อ...นี่เหรอรถไฟแห่งความฝัน อ๋อ...นี่แหละ แทบจะฝันจริงๆ คือ หลับอย่างเดียว (หัวเราะ)”

สมัยเรียน พลอยเคยลิ้มลองประสบการณ์สนุกตื่นเต้นอย่างการพิชิต ABC (Annapurana Base Camp) มาแล้ว เธอเล่าว่าการพิชิตยอดเขาหรือเดินเทรคกิ้งจะสนุกและตื่นเต้นไปกับการได้พิชิตและสิ่งใหม่ๆ สองข้างทาง ตรงกันข้ามกับการนั่นรถไฟนานๆ ที่ความรู้สึกมีแต่ ‘จม’ ยิ่งอยู่คนเดียวยิ่งคิด ยิ่งคิดก็ยิ่งจม

ในความจมที่ว่า ถูกเคี่ยวกรำจนตกตะกอนเป็นสิ่งที่เธอนิยามว่า ‘การค้นพบตัวตน’ จากคนที่ไม่ค่อยมั่นใจตัวเอง คิดเสมอมาว่าทำอะไรด้วยตัวเองไม่ได้ แท้จริงแล้วเธอก็ทำอะไรได้ไม่แตกต่างจากใคร

61014085_2307140846011381_8800407076338663424_o

นอกจากการได้อยู่กับตัวเองจนแทบจะถ่องแท้ในตัวตน ผู้คนที่ผ่านมาและผ่านไปยังได้ฝากสิ่งต่างๆ ไว้ในลิ้นชักความทรงจำของเธอมากมาย พลอยบอกว่าสิ่งที่ประทับใจจึงไม่ใช่สถานที่ หากแต่เป็นผู้คน

“ตอนแรกที่เราไปเที่ยวก็คิดว่าจะดูสถานที่ ดูวิว แต่จริงๆ สิ่งที่ได้มาคือการพูดคุยกับผู้คนที่เราไม่คิดว่าจะได้คุยในชีวิตประจำวัน หรือในห้องเรียน ซึ่งทุกคนทำให้เรารู้สึก ‘ว้าว’ มาก เช่น คุณไบรอัน ที่เจอตอนนั่งรถไฟไปมองโกเลีย เขาเป็นไลฟ์โค้ช ซึ่งเราโชคดีมากที่อยู่กับเขาประมาณ 33 ชั่วโมง แล้วเขาคอยคุย คอยถาม เราก็เลยสงสัยว่าทำไมเขาถึงเข้าใจเราง่ายจัง ก็เลยถามเขาไป เขาบอกเขาเป็นไลฟ์โค้ช เราก็เลยเหมือนได้ปรึกษาฟรี ไม่เสียสตางค์ (ฮา)

ตอนนั่งจากมองโกเลียไปรัสเซียก็เจอผู้หญิงที่ทำงานขนศพ เราก็คิดว่าประเทศไทยมีอาชีพนี้ด้วยเหรอ พออยู่ที่รัสเซียก็เจอคนไทยที่ทำวิศวกรรมอวกาศ พออยู่ฟินแลนด์ก็เจอคนที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย คนที่เจอเหมือนเป็นตัวละครที่เข้ามาสอนเราให้เรียนรู้”

หากเปรียบผู้คนในแต่ละฉากชีวิตตลอดการเดินทางเป็นตัวละคร ตัวพลอยเองก็คงเป็นนักแสดงนำของเรื่องนี้ ซึ่งในชีวิตจริงเธอก็คือนักแสดงที่ต้องสวมบทบาทต่างๆ อย่างที่หลายคนเข้าใจว่านักแสดงหรือจะเรียกได้ว่าดาราคือบุคคลสาธารณะ เป็นที่รู้จัก บางคนมองว่านี่คือหัวโขนที่ดารานักแสดงบางคนไม่ยอมถอดง่ายๆ แต่กับเด็กสาวคนนี้กลับไม่ใช่ พลอยไม่เคยมองตัวเองว่าสำคัญกว่าใคร

“พลอยไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นดารา แต่เราคือนักแสดง เป็นเพียงอาชีพหนึ่ง ทุกคนมีความสำคัญเท่ากันหมดในหน้าที่ของเขา การเป็นนักแสดงจึงไม่ได้สูงกว่าเขา อย่างตอนที่ไปเที่ยวต่างจังหวัดก็มีคนบอก “พี่เป็นกันเองจังเลย” เราก็สงสัยว่าทำไมอาชีพนี้ต้องมีคำว่า ‘เป็นกันเอง’ ด้วย เราไม่เข้าใจ”

เวลาไปเดินทางทุกครั้งพลอยจึงแค่แบกสัมภาระ ไม่ต้องแบกความทะนงตนไปด้วย

61030215_2307141026011363_1421152288235323392_o

 

  • พลอยเรียนจบแล้ว...เขียนหนังสือ?

ถึงชื่อเพจจะถูกตั้งขึ้นมาแบบเกรียนๆ กวนๆ แต่กลับบ่งบอกคาแรกเตอร์ของเพจได้ชัดเจนสุดๆ แม้จะมีฐานที่มั่นเป็นนักแสดงเพราะนี่คืออาชีพที่หาเลี้ยงชีพได้ แต่พลอยมองว่าชีวิตอาจไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ การเป็นนักแสดงที่หลายคนมองเห็นเป็นฐานันดรพิเศษ เต็มไปด้วยชื่อเสียง หน้าตาในสังคม สุดท้ายแล้วความฝันของเด็กสาวคนนี้กลับดิ้นไปดิ้นมา ทั้งเที่ยว เขียนหนังสือ ทำบล็อก และอีกสารพัดอย่าง

หลังจากเรียนจบตามระบบการศึกษา เงินที่ได้มาจากการแสดงถูกนำไปต่อเติมความฝัน ประสบการณ์บนเส้นทางทรานส์-ไซบีเรีย ก็เหมือนกันที่เกิดขึ้นได้ด้วยงบประมาณจากอาชีพนักแสดง แต่ก็มีน้อยคนที่จะผันตัวจากหน้าจอมาสู่หน้ากระดาษได้อย่างประสบความสำเร็จ พลอยอาจไม่ใช่นักเขียนระดับปรมาจารย์ ไม่ใช่นักประพันธ์ชั้นเยี่ยม หนังสือของพลอยไม่ใช่วรรณกรรมที่สั่นสะเทือนวงการน้ำหมึก แต่ที่บอกได้เต็มปากเต็มคำคือหนังสือของเด็กคนนี้ส่งต่อความกล้า ความฝัน ให้แก่คนที่ยังขาดแรงบันดาลใจหรือขั้นเลวร้ายคือกำลังหมดพลังชีวิต

“เราชอบอ่านหนังสือ แต่ไม่ได้อ่านในมุมมองนักเขียน อ่านก็เพื่อความเพลิดเพลิน แต่พอเรามาเขียนจริงๆ ก็เพิ่งรู้ว่าการอธิบายคำแต่ละคำมันละเอียดมาก อ่อนไหวมาก อย่างถ้าเราเขียนคำว่า ‘เหงา’ มันมีเหงาหลายแบบ เหงาแบบคิดถึง คิดถึงบ้าน คิดถึงคนรัก หรือเหงาเพราะไม่มีคนคุยด้วย การเขียนหนังสือแค่เปลี่ยนคำเดียวก็เปลี่ยนความหมายได้” พลอยกล่าว

เมื่อก้าวเข้าสู่โลกหนังสือในฐานะน้องใหม่ พลอยจึงตั้งใจให้ ‘วิชาเดินทางหลังเลิกเรียน’ เสมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน ไม่ต้องปรุงแต่งจนรสผิดเพี้ยนด้วยคำสวยหรู คนอ่านจึงรู้สึกเหมือนมีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งมานั่งอยู่ตรงหน้าแล้วเล่าสิ่งที่ไปพบเจอมาอย่างมันปาก ทว่ายังสัมผัสได้ถึงภาษาที่นับว่าดีทีเดียว เพราะกว่าจะคลอดเล่มนี้มาได้ พลอยกลับไปอ่านหนังสือดีๆ เพื่อศึกษาการเขียน การเชื่อมคำ และเทคนิคการเล่าเรื่องเป็นตัวอักษร ร่วม 4 เดือนครึ่งที่เคี่ยวจนข้นจนเป็นหนังสือเล่มนี้ออกมา

“ทีแรกพลอยตั้งใจอยากให้กระดาษมันบางที่สุด อยากให้เล่มเล็กๆ เวลาคนไปเที่ยวแล้วพกอ่านได้ แต่ด้วยความที่ต้องมีรูปและมาตรฐานของสำนักพิมพ์จึงต้องใช้กระดาษดีๆ จึงออกมาเป็นแบบที่เห็น คือเราเป็นคนอ่านหนังสือแบบเอามัน ก็อยากให้หยิบหนังสือใส่เป้ไปอ่านตอนเที่ยวได้”

61026808_2307141102678022_7279963227348271104_o

นอกจากถ้อยคำและประสบการณ์ที่ชวนให้คนอ่านแทบจะหยุดอ่านไม่ได้ หลักฐานเชิงประจักษ์ของการเดินทางของพลอยคือรูปถ่ายสวยๆ แน่นอนว่าการเดินทางคนเดียวรูปทั้งหมดล้วนเป็นฝีมือลั่นชัตเตอร์ของสาวน้อยคนนี้

ตั้งแต่ความชื่นชอบการถ่ายภาพเสริมทัพกับการได้เรียนเอกภาพยนตร์ ทั้งเรื่องและภาพคือประสบการณ์ที่สั่งสมจนกลายเป็นผลงานต่างๆ อย่างไม่รู้ตัว พลอยบอกว่าหนังสือหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือท่องเที่ยวที่ไม่ได้เล่าการเที่ยว เพราะเรื่องทำนองนั้นหาอ่านได้จากอินเทอร์เน็ต แต่เรื่องที่ไปพบเจอมานั้นเสิร์ชหาจากเสิร์ชเอนจินไม่ได้ หนังสือเล่มนี้จึงเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่เจอ ข้อคิดที่ได้ สอดแทรกความรู้จากการได้เดินทางไป ณ ที่นั้นพอสมควร

“คนทุกวัยอ่านได้ แต่เด็กจบใหม่ที่อายุเท่าๆ เรา ก็น่าจะยิ่งเหมาะ เพราะเคยเจอสถานการณ์เดียวกัน มีคำถามในชีวิตแบบเดียวกัน แต่เราไม่ได้หวังให้ใครมาเที่ยวแบบเรานะ เราแค่อยากให้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่พอจะทำได้”

60999242_2307141036011362_6470283079402389504_o

หากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งไม่เกิดความสงสัยในเส้นทางชีวิต คงไม่เกิดการเดินทางเพื่อตามหาคำตอบ เส้นทางทรานส์-ไซบีเรียคงไม่เป็นฉากของตัวละครหลากหลายเข้ามาเล่าเรื่องราวหลายหลาก หนังสือที่เต็มไปด้วยความสดใสและประสบการณ์ที่จะสร้างแรงบันดาลใจคงจะไม่เกิด

“พลอยได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก พอได้คุยกับคนอื่นก็รู้ว่าโลกความจริงมันเป็นอย่างไร เมื่อก่อนเราคิดว่าคำถามของเรามันต้องมีคำตอบเดียวตายตัว พอเราคุยกับหลายคน รู้จักคนที่เจอตอนไปเที่ยวระหว่างทาง ก็ได้รู้ว่าทุกคนมีหลายหนทางมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างเดียว”

การเดินทางท่องเที่ยวของสาวน้อยคนนี้จึงไม่ใช่แค่การเดินทาง แต่เป็นเสมือนการออกไปหาคำตอบของชีวิต ซึ่งสุดท้ายก็พบ...

“เราพบคำตอบว่ามันไม่มีคำตอบ” พลอยบอก

60917972_2307140956011370_3510177329642995712_o