ศึกชิง “SM Entertainment” วัดกำลังยักษ์ใหญ่ระหว่าง “HYBE” vs “Kakao”
ผ่าปมปัญหาภายใน “SM Entertainment” จนทำให้สู่ที่มาของการขายหุ้นให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “HYBE” และ “Kakao” พร้อมวิเคราะห์ว่าหากเกิดการควบรวมกิจการจะส่งผลกระทบใดต่อวงการ “K-POP”
Keypoints:
- ผู้บริหารปัจจุบันของ SM ขายหุ้น 9.05% ให้กับ Kakao เพื่อหวังนำเงินทุนมาสานต่อโครงการ SM 3.0
- อี ซูมาน ขายหุ้นจำนวน 14.8% ให้กับ HYBE เพื่อคานอำนาจกับ Kakao
- HYBE กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SM Entertainment ท่ามกลางความกังวลของแฟนคลับว่าจะเกิดการผูกขาดตลาด K-POP
ช่วงนี้ในวงการ “K-POP” คงจะไม่มีข่าวใดใหญ่กว่า “HYBE Corporation” ต้นสังกัดของบอยแบนด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค “BTS” และ หนึ่งในสี่ค่ายเพลงทรงอิทธิพลที่สุดในวงการ ได้ประกาศเข้าซื้อหุ้นของ “อี ซูมาน” ผู้ก่อตั้ง “SM Entertainment” จำนวน 14.8% ในราคา 422,800 ล้านวอน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา และมีเรื่อง “ดรามา” จากฝั่ง SM ออกมาให้ติดตามกันตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2566 พัค จีวอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HYBE ได้ประกาศผ่านบัญชีทวิตเตอร์อย่างเป็นทางการของค่ายว่า กระบวนการซื้อขายหุ้นจำนวน 14.8% จาก อี ซูมาน ของ HYBE ได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ทำให้ HYBE กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของ SM ทันที พร้อมยืนยันว่า HYBE จะไม่ก้าวก่ายการบริหารงานของ SM ให้อิสระเต็มที่อย่างที่เคยเป็นมา
กรุงเทพธุรกิจ พาย้อนรอยปมปัญหาภายในค่าย SM Entertainment ทำไมผู้ก่อตั้งค่ายถึงยอมขายหุ้นของตนเองทั้งหมดให้แก่ค่าย “คู่แข่ง” คนสำคัญอย่าง HYBE
- ศึกสายเลือดที่ลากคนนอกเข้ามาเกี่ยว
SM Entertainment เป็นค่ายเพลงที่ก่อตั้งโดย “อี ซูมาน” อยู่คู่วงการ K-POP มาอย่างยาวนาน เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกวงการ K-POP ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก รวมถึงเป็นหนึ่งใน “BIG 4” ค่ายเพลงใหญ่ที่สุดของวงการในปัจจุบัน
ที่ผ่านมา SM Entertainment ผลิตศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นตัวพ่อตัวแม่ระดับตำนานรวมถึงศิลปินที่เป็นตัวท็อปในปัจจุบันอย่าง
- “Shinhwa”
- “BoA”
- “TVXQ!”
- “Super Junior”
- “Girls’ Generation”
- “Shinee”
- “f(x)”
- “Exo”
- “NCT”
- “aespa”
ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่า เพลงของศิลปิน SM นั้นมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครด้วยแนวดนตรีสุดล้ำ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีก็ยังคงสดใหม่อยู่เสมอ
อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการสร้างจักรวาล SMCU (SM Culture Universe) เพื่อโยงผลงานของศิลปินในค่ายเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้ชื่อว่า อาณาจักร “กวังยา”
ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 SM ได้ประกาศให้หลานชาย 2 คนของซูมาน คือ อี ซองซู ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของค่าย และ ทัค ยองจุน ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) แทนที่ นัม โซยอง และ คิม ยังมิน
กระทั่งชนวนความขัดแย้งได้เริ่มต้นในเดือนต.ค. 2565 เมื่อ SM ตัดสินใจยกเลิกสัญญาจ้างทำเพลงกับ Like Planning บริษัทส่วนตัวของซูมาน ก่อนหมดระยะเวลาสัญญาเดิม 1 ปี โดยให้เหตุผลว่าค่าจ้างไม่คุ้มกับผลกำไรที่ได้
นี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของศึกสายเลือด ระหว่าง ซูมานและหลานชายของเขา ที่ยิ่งเดือดมากขึ้นเมื่อ ซองซูและยองจุนตัดสินใจเปิดดีลขายหุ้น 9.05% ของ SM ด้วยในราคา 217,200 ล้านวอน (7 ก.พ. 66) ให้แก่ “Kakao” บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ เพื่อนำเงินไปลงทุนในแผนธุรกิจ “SM 3.0” ที่จะใช้ระบบ มัลติแบรนด์ มีหลายค่ายหลายโปรดิวเซอร์ แทนการผูกขาดแบบเดิม ทำให้ Kakao กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ใน SM รองจากซูมานที่มีหุ้นอยู่ 18.5% เท่านั้น
เหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ ซูมานและผู้ถือหุ้นบางส่วนทำให้เขายื่นฟ้อง SM เนื่องจากบอร์ดบริหารออกหุ้นใหม่และหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่บุคคลอื่น (Kakao) โดยไม่ได้แจ้งผู้ถือหุ้นใหญ่ (ซูมาน) ให้รับทราบก่อน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ด้วยเหตุนี้ทำให้ ซูมาน จึงแก้เกมด้วยการขายหุ้น SM จำนวน 14.8% ซึ่งเป็นจำนวนเกือบทั้งหมดที่ตนเองถืออยู่ ให้แก่ HYBE ในวันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ HYBE และอีกหลายบริษัท รวมถึง Kakao ต่างเคยติดต่อซื้อหุ้นของเขามาก่อนแล้ว แต่ก็ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด ทำให้นักวิเคราะห์ต่างคาดว่า การที่ซูมานขายหุ้นเกือบทั้งหมดของตนเองในช่วงนี้ ก็เพื่อต้องการ “คานอำนาจ” กับฝั่ง Kakao และหลานชายของตนเอง โดยอาศัยความใหญ่ของ HYBE เป็นจุดเปลี่ยน
เพราะเมื่อพิจารณาเงื่อนไขที่มาพร้อมดีลการขายหุ้นครั้งนี้ ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้ซูมานกลับมาเป็นใหญ่ใน SM อีกครั้ง เนื่องจากในสัญญาระบุว่า
ตัวซูมานเองจะต้อง “ไม่ยุ่งเกี่ยวอุตสาหกรรมเพลง” เป็นเวลา 3 ปี อีกทั้งไม่รับรายได้ 6% จากค่าลิขสิทธิ์เพลง พร้อมปล่อยใน HYBE เข้ามาบริหารงานแทน
- ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่าน่าเข้า
หลังจากข่าวนี้ออกมา เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายด้านทั้งจากชาวเน็ตทั่วไป แฟนคลับค่าย SM หรือที่เรียกว่า “สแตนค่าย” ส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการเข้ามาถือหุ้น SM ของ HYBE นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์จากฝั่ง SM ออกมาต่อเนื่องแทบทุกวัน
แต่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นแถลงการณ์ผ่านคลิปวิดีโอทั้ง 2 ฉบับของ “อี ซองซู”
วิดีโอตัวแรกมีความยาวเกือบ 30 นาที ที่ส่วนใหญ่เป็นการ “แฉ ซูมาน” ทั้งเรื่องพยายามหลีกเลี่ยงภาษี และยังมีคำสั่งทิ้งทวนให้ผู้บริหารใหม่ทำตาม รวมถึงการปลุกปั่นว่าพนักงาน SM ยังต้องการซูมานอยู่
นอกจากนี้ ยังแฉอีกด้วยว่า ซูมาน พยายามจะเพิ่มเนื้อร้องในเพลงใหม่ของ aespa ให้มีเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และชวน “ปลูกต้นไม้” ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคอนเซ็ปต์ของวงทั้งสิ้น ทำให้ทีมงานต้องทำงานกันด้วยความยากลำบาก และซองซูอ้างว่าเรื่องนี้ทำให้ 4 สาวสมาชิกวง aespa ร้องไห้ออกมาด้วยความโกรธ ส่งผลให้บอร์ดบริหารตัดสินใจเลื่อนการคัมแบ็กของ aespa ออกไปเป็นเดือนเม.ย. แทน
ส่วนวิดีโอตัวที่ 2 อี ซองซู ระบุว่า การเข้ามาของ HYBE นั้นเป็นการควบรวมกิจการอย่างไม่เป็นมิตร เพราะซูมานไม่ได้ปรึกษาคณะกรรมการบริหารและผู้บริหารของ SM ก่อน และเรียกร้องให้ HYBE หยุดการกระทำที่หวังจะครอบครอง SM เพราะจะทำให้เกิดการผูกขาดในตลาดเพลง K-POP พร้อมเรียกร้องให้ซูมานออกมาคุกเข่าขอโทษพนักงาน ศิลปิน ร่วมกับเขาอีกด้วย
นอกจากนี้ ซองซูยังระบุว่า หลังจากสิ้นสุดการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนมี.ค. เขาจะลาออกจาการเป็นซีอีโอ และจะกลับไปเป็นพนักงานในแผนกสร้างสรรค์ดนตรีดังเดิม หากบอร์ดบริหารอนุมัติ
การออกแถลงการณ์โจมตีซูมานในหลายวันที่ผ่านมานี้ เปรียบเสมือนการสาวไส้ให้กากิน ร้อนถึง "สมาคมผลิตสื่อบันเทิงเกาหลี" หรือ KEPA ต้องออกแถลงการณ์เตือนสติ ขอให้ผู้บริหาร SM หยุดเปิดเผยปัญหาภายในค่าย เพราะไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่คนทั้งโลกต้องมารับรู้ และยังเป็นการทำลายวงการ K-POP ในชั่วข้ามคืน พร้อมเรียกร้องให้ขอโทษอี ซูมานอีกด้วย
- HYBE กับข้อครหา ผูกขาดทางธุรกิจเพลง K-POP ?
จากความสำเร็จของ BTS ที่โด่งดังไปทั่วโลก ทำให้ BigHit ต้นสังกัดของ BTS เริ่มซื้อกิจการค่ายเพลงระดับกลาง ไม่ว่าจะเป็น Pledis Entertainment และ Source Music พร้อมทั้งกว้านซื้อธุรกิจบันเทิงอีกหลายบริษัท รวมถึง Ithaca Holdings บริษัทต้นสังกัด จัสติน บีเบอร์ และ อารีอานา กรานเด ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น HYBE Corporation ในปี 2564 ทำให้ HYBE มีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดี ในแง่การพยายามผูกขาดอุตสาหกรรม
ในปัจจุบันเราอาจจะพูดได้ว่า HYBE เป็นค่ายเพลงบริษัท K-POP ที่กวาดรายได้ทั่วโลกได้มากที่สุดในหมู่ค่ายเพลงเกาหลีด้วยกัน
ผลประกอบการประจำปี 2565 มูลค่าคิดเป็น 1,410 พันล้านดอลลาร์ เติบโตขึ้น 41.6% จากปี 2564 โดยสัดส่วนรายได้แบ่งเป็นทำรายได้จากเกาหลีใต้ 33% สหรัฐ 32% และญี่ปุ่น 28%
ซึ่งพูดได้ว่าปีที่แล้วเป็นปีทองของ HYBE เนื่องจากศิลปินทุกวงในค่ายทำยอดขายทะลุ 1 ล้านชุด ทุกวง โดยเฉพาะไม่ว่าจะเป็น “BTS” ที่ทำยอดขายอันดับ 1 ของโลก
แฟนคลับของศิลปินของ SM ต่างกลัวว่าศิลปินของตนเองจะถูกยุบวง เหมือนกับที่ HYBE เคยทำกับวงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปจากค่ายที่ตนเองไปซื้อมา ทั้ง NU’EST ของ Pledis และ GFriend ของ Source ไม่มีใครรู้ว่าเหตุผลที่แท้จริงของการยุบทั้ง 2 วงคืออะไร แต่หากมองในแง่ยอดขายทั้ง 2 วง อาจจะพอคาดเดาได้ว่า ทั้ง 2 วงอาจไม่ได้อยู่ในจุดที่ “คุ้มค่าต่อการลงทุน” อีกต่อไป เพราะทั้ง 2 วงนั้นผ่านจุดสูงสุดของตนเองไปแล้ว สู้ปั้นวงใหม่ที่สดใหม่และใช้เงินน้อยกว่า มีโอกาสทำกำไรได้มากกว่า
นอกจากนี้สิ่งที่ HYBE ยังขาดหายไปคือ การให้ศิลปินแต่ละวงได้มีกิจกรรมร่วมกัน แม้ว่า HYBE จะมีศิลปินในมือมากมาย แต่ส่วนใหญ่ศิลปินเหล่านี้ต่างแยกกันทำงาน จะมีโมเมนต์ร่วมกันเพียงแค่ในงานประกาศรางวัลปลายปี ทำชาเลนจ์ TikTok หรือในงานของค่าย เช่น คอนเสิร์ตรวมปลายปี และรายการ HYBE x The Game Caterers 2 ของนาพีดี ที่จับศิลปินของ HYBE มาทำกิจกรรมร่วมกันเท่านั้น
แตกต่างจากวัฒนธรรมของ SM ที่เป็น “ครอบครัว” ออกผลงานร่วมกันของศิลปินต่างวง จัดทำยูนิตพิเศษที่รวมสมาชิกของวงเกิร์ลกรุ๊ป/บอยแบนด์ของค่ายไว้ด้วยกัน เช่น “GOT The Beat” ซูเปอร์เกิร์ลกรุ๊ป “SuperM” ซูเปอร์บอยแบนด์
แม้ว่าแถลงการณ์จาก HYBE จะบอกว่าไม่เข้าไปแทรกแซงในการบริหารงานของ SM และจะรักษามรดกของ SM อันล้ำค่าเอาไว้ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นจริงหรือไม่ (เพราะตอนซื้อค่ายอื่นก็พูดแบบนี้ แต่สุดท้ายก็เข้าไปแทรกแซง) แต่ที่แน่ ๆ มูลค่าของ HYBE จะเพิ่มขึ้นมหาศาลตามที่ จาง ชอลฮยอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน (CFO) ของค่าย SM กล่าวในแถลงการณ์ว่า
“หาก HYBE และ SM ควบรวมกิจการกันจริงจะทำให้เกิดการผูกขาดในตลาด ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดที่มากถึง 60% ขณะที่ยอดขายอัลบั้มของ 2 บริษัทรวมกันจะสูงถึง 70% และยอดขายคอนเสิร์ตอยู่ที่ 89% ของทั้งหมด”
แม้ตอนนี้ HYBE จะถึงไพ่เหนือกว่า Kakao เพราะเป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดใน SM แต่ไม่ได้ความว่า Kakao จะแพ้ เพราะ Kakao เพิ่งได้รับเงิน 690 ล้านดอลลาร์ จากกองทุนต่างประเทศ ซึ่งอาจจะนำมาใช้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ เพิ่มเติม
- Kakao ลุยธุรกิจ K-POP
หากเทียบสเกลธุรกิจในด้าน K-POP นั้น Kakao อาจจะเป็นรอง HYBE อยู่เล็กน้อย แต่หากดูรายได้รวมทั้งหมดแล้ว Kakao เหนือกว่า HYBE มาก โดยในตลอดปี 2565 มีรายได้รวมกว่า 5,480 ล้านดอลลาร์ (มากกว่า HYBE ราว 4 พันล้านดอลลาร์) ซึ่ง Kakao นั้นเป็นเจ้าของโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในเกาหลีใต้อย่าง “KakaoTalk” อีกทั้งยังมี “เว็บตูน” ที่เป็นที่นิยมอีกด้วย
แต่ถึงกระนั้นธุรกิจเทคโนโลยีของ Kakao อาจขยายไปทั่วโลกให้มากกว่านี้ได้ยาก เนื่องจากมี Google, Apple และ Meta ที่เป็นผู้นำในด้านนี้อยู่แล้ว ทำให้ Kakao หันมาลงทุนในด้านธุรกิจ K-POP ในหลากหลายด้าน ภายใต้ชื่อ Kakao Entertainment ทั้ง Melon บริการสตรีมมิงฟังเพลงที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลี, Duam คาเฟ่เว็บบอร์ดของศิลปิน K-POP รวมไปถึง 1TheK พื้นที่ในการลงมิวสิกวิดีโอของศิลปินที่บริษัทเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย (คล้ายกับ Vevo) นอกจากนี้ยังมีค่ายเพลง ค่ายหนัง และ ธุรกิจเอเจนซีจัดหาและดูแลนักแสดงอีกนับไม่ถ้วน
แม้ว่าความจริงแล้ว Kakao จะเป็นเจ้าของค่ายเพลงขนาดกลางมากกว่า HYBE ด้วยซ้ำ แต่คนทั่วไปกลับไม่รู้ว่าค่ายเพลงเหล่านั้นเป็นของ Kakao เนื่องจาก Kakao ไม่เคยพูดถึงธุรกิจเหล่านี้ และภาพจำของคนส่วนใหญ่คือบริษัทเทคโนโลยี
ซึ่งศิลปินที่โด่งดังในปัจจุบันอยู่ในค่ายที่ Kakao เป็นเจ้าของ ได้แก่ IU ศิลปินหญิงเจ้าของฉายาน้องสาวแห่งชาติ, IVE ตัวท็อปเจน 4 ที่มาแรงมากในปีที่แล้ว, The Boyz วงบอยแบนด์ที่ทำรายได้จากการทัวร์สูงที่สุดในปี 2565 และ Apink อีกหนึ่งศิลปินตัวตึงของเจน 2 ที่ยังคงมีผลงานอยู่จนถึงปัจจุบัน
- การผูกขาดที่หนีไม่พ้น ?
ดังนั้น ต่อให้ Kakao กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ SM การผูกขาดทางการตลาดก็มีแนวโน้มเกิดขึ้นอยู่ดี เพียงแต่สัดส่วนน้อยลงกว่าการไปควบรวมกับ HYBE แต่ไม่ว่าใครจะได้ครอบครอง SM ล้วนแต่จะได้ประโยชน์ต่อธุรกิจของตนเองและสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำในวงการ K-POP ทั้งสิ้น จอง ด็อก-ฮยอน นักวิเคราะห์วัฒนธรรมร่วมสมัยกล่าวกับสำนักข่าว Korea JoongAng Daily ว่า
“หาก SM ตกไปอยู่ในมือของ Kakao แล้ว อาจจะได้เห็นเรื่องราวในกวังยาถูกต่อยอดไปสู่คอนเทนต์ด้านเว็บโนเวล หรือ เว็บตูน ซึ่งเป็นจุดแข็งของ Kakao แต่หากมาอยู่กับ HYBE ก็อาจจะได้เห็นปรากฏการณ์ทางดนตรีใหม่ ๆ ขึ้นก็ได้”
ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะออกหัวหรือออกก้อย สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแน่ ๆ คือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าจะไปในทิศทางใด เพราะสงครามยังไม่จบ แต่ผู้บริโภคน่าจะได้เสพผลงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งเป็น “กำไรที่แท้จริง”
ที่มา: Billboard, Korea JoongAng Daily, Workpoint Today