“คาปิบารา” หนูยักษ์หน้ามึน กับพฤติกรรมสุดแปลก เลี้ยงยากไหม?
ทำความรู้จัก “คาปิบารา” หรือ “หมามะพร้าว” ที่กำลังเป็นไวรัลในโลกโซเชียลขณะนี้ ด้วยหน้าตาสุดมึนอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ใครตกหลุมรัก พร้อมตอบข้อสงสัยสามารถเลี้ยงได้หรือไม่ ?
Keypoints:
- “คาปิบารา” สัตว์ฟันแทะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กลายเป็น “มีม” ในโลกโซเชียล ทำให้ทุกคนตกหลุมรัก
- แม้จะเป็นสัตว์บก แต่ชอบอยู่ในน้ำ มาพร้อมวีรกรรมสุดเท่ บุกยึดหมู่บ้านหรูในกรุงบัวโนสไอเรส จนกลายเป็นสัญลักษณ์ การปฏิวัติและต่อต้านลัทธิทุนนิยมของอาร์เจนตินา
- ชาวเน็ตไทยตั้งชื่อให้คาปิบาราว่า “หมามะพร้าว” ตามลักษณะขนสีน้ำตาลที่หยาบและแข็งเหมือนกาบมะพร้าวและตัวเท่าหมา ซึ่งหาเลี้ยงได้แต่ต้องมีทั้งกำลังทรัพย์ พื้นที่เลี้ยงดู และให้เวลาอย่างเต็มที่
ช่วงนี้ใครที่กำลังไถ TikTok คงต้องเห็นคลิป “คาปิบารา” หนูยักษ์หน้ามึนในอิริยาบถต่าง ๆ ประกอบเพลงสุดติดหูชื่อว่า “Капибара” ซึ่งเป็นคำว่าคาปิบาราในภาษารัสเซียผ่านตากันมาบ้าง โดยวิดีโอไวรัลของเจ้าหนูยักษ์ที่มียอดวิวสูงสุดนั้น ทำไปได้กว่า 16 ล้านครั้ง และใช้เพลงนี้มาประกอบคลิปแล้วกว่า 436,000 คลิป นอกจากนี้กองทัพมีมของคาปิบารายังบุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่น ๆ อีกด้วย
เจ้าคาปิบารา หรือที่คนไทยเรียกว่า “กะปิปลาร้า” (ซึ่งพ้องเสียงกับชื่อ) อยู่คู่กับโลกอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 2013 ตั้งแต่ยุค Tumblr รุ่งเรือง โดยมีมยุคแรกของคาปิบารานั้นเป็นรูปสัตว์ชนิดต่าง ๆ นั่งอยู่บนตัวของคาปิบารา เช่น ลิงหรือกระต่ายที่กำลังนอนหลับอยู่บนเจ้าสัตว์ฟันแทะ
หลังจากนั้นคาปิบารากลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา มีมีมและวิดีโอเกี่ยวกับคาปิบาราที่ได้รับความนิยมมากมายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น gif คาปิบาราตกใจ (shocked capybara) ซึ่งเป็นภาพจากสารคดีของ BBC รวมถึงวิดีโอคาปิบาราแช่น้ำร้อน พร้อมส้มยูซุ ด้วยความน่ารักแบบมึน ๆ ของคาปิบารา ทำให้ทุกคนตกหลุมรักและได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกร่วมถึงชาวไทย
- น้องเป็นสัตว์บก แต่ชอบแช่น้ำ ดำน้ำเก่ง
คาปิบารา ถือได้ว่าเป็นสัตว์ฟันแทะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ฟันใหญ่กว่าบีเวอร์ถึง 2 เท่า มีต้นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เคลื่อนที่ช้า นิยมอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 10-20 ตัว จนถึง 40 ตัว
จากข้อมูลขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้คาปิบาราจะเป็น “สัตว์บก” แต่ใช้เวลาส่วนมากอยู่ในน้ำ ทั้งว่ายน้ำ แช่น้ำ ดำน้ำได้นานถึง 5 นาที เนื่องจาก ลักษณะร่างกายของเจ้าสัตว์หน้านิ่งนี้มีวิวัฒนาการที่เหมาะสมกับการอาศัยในน้ำ เช่น แผ่นหนังระหว่างนิ้วเท้าเพื่อการเคลื่อนที่ในน้ำและพื้นโคลน มีขนหนาแต่หยาบทำให้แห้งไวเมื่ออยู่บนบก อีกทั้งตา จมูก และหูยังอยู่ส่วนบนของหัวทำให้สามารถรับรู้สถานการณ์ต่าง ๆ ได้แม้ว่าจะอยู่ในน้ำ
นอกจากนี้ คาปิบารายังมีพฤติกรรมแปลก ๆ ด้วยการตื่นมาก็ “กินอึ” ของตัวเองแต่เช้า เนื่องจากในอึของน้องมีโปรตีนที่อุดมด้วยจุลินทรีย์จำนวนมาก ดังนั้นการกินอึตัวเองจะทำให้ช่วยย่อยอาหารได้ถึง 2 รอบ เพราะอาหารของน้องย่อยยากและกินจุมาก ตัวเต็มวัยสามารถกินอาหารได้มากถึง 2-3.5 กิโลกรัมต่อวัน
ด้วยความสร้างสรรค์ของคนไทย คาปิบารายังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “หมามะพร้าว” ตามลักษณะภายนอกที่เป็นสัตว์สี่เท้าคล้ายกับหมา และมีขนสีน้ำตาลดูหยาบกร้าน เหมือนกับกาบมะพร้าว แต่ความจริงแล้ว คาปิบาราเป็นญาติใกล้ชิดกับหนูตะเภา และเป็นญาติห่าง ๆ ของชินชิลล่าและหนูอกูติ มีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์เล็กและใหญ่ ซึ่งพันธุ์ใหญ่นั้นมีน้ำหนักมากถึง 176 ปอนด์
มีมคาปิบาราตกใจ หนึ่งในภาพที่ดังที่สุด
แม้ว่าหน้าตาของคาปิบาราจะดูเด๋อด๋า ไม่มีพิษมีภัย แต่พวกมันนั้นตื่นตัวและกระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลา เจ้าหน้าตายพวกนี้ใช้ข้อได้เปรียบของสายตาที่กว้างไกลในการสอดส่องและระวังภัยให้แก่พวกพ้องเสมอ เพราะพวกมันเป็นอาหารอันโอชะของเหล่านักล่าทั่วทุกสารทิศ ทั้งเสือชีตาร์ จระเข้ งูเหลือม แร้งดำ โดยส่วนมากแล้วน้อง ๆ จะออกหากินในช่วงที่ไม่ใช่เวลาล่าเหยื่อของเหล่านักล่า
ถึงปัจจุบันผู้คนต่างจะเอ็นดูกับเหล่าพลพรรคหน้านิ่ง แต่ในอดีตคาปิบาราเคยถูกมนุษย์รุกรานด้วยเช่นกัน บางพื้นที่ในทวีปอเมริกาใต้บ้านเกิดของพวกมัน นำเนื้อคาปิบารามาปรุงเป็นอาหาร ถึงกับเป็นวัตถุดิบใน MasterChef ประเทศเอกวาดอร์ รายการแข่งขันทำอาหารชื่อดังอีกด้วย และทำให้เกิดดรามาตามมายาวเหยียด เพราะคาปิบาราเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของเอกวาดอร์ ผิดกฎหมายเต็ม ๆ
ส่วนรสชาติของคาปิบารานั้นบ้างก็ว่ารสชาติเหมือนปลา บ้างก็บอกว่าเหมือนหมู ซึ่งมักจะนำเนื้อของพวกมันไปแปรรูปก่อนจะมาทำเป็นอาหาร
- การปฏิวัติและต่อต้านลัทธิทุนนิยมของคาปิบารา
นอกจากนี้ คาปิบารายังถูกล่าเพราะต้องการนำที่อยู่อาศัยของพวกมันมาทำเป็นพื้นที่ทางการเกษตร หรือบางทีก็ล่าเพื่อความสนุกเฉย ๆ ก็มี ทำให้ในหลายพื้นที่เจอวิกฤติแก๊งฟันแทะบุกเมือง ด้วยความที่น้องเป็นสัตว์ปรับตัวง่าย ขอเพียงแค่มีหญ้าให้กิน มีแหล่งน้ำให้แช่ก็สามารถอยู่ได้แล้ว หลายครั้งจึงได้เห็นเจ้าหน้านิ่งเดินเตร็ดเตร่ไปมาในสวนสาธารณะ ทะเลสาบในเมือง ลามไปถึงในหมู่บ้านหรูที่มีทั้งสนามหญ้าและสระว่ายน้ำ ตอบโจทย์เป็นพื้นที่พักพิงอย่างมาก
กรณีนี้เกิดขึ้นแล้วที่กรุงบัวโนสไอเรส ในอาร์เจนตินา เหล่าคาปิบาราได้ยกพลบุกหมู่บ้านย่านคนรวย เนื่องจากหมู่บ้านนี้สร้างในที่อยู่อาศัยเดิมของคาปิบารา ทำให้พวกมันต้องหนีเข้าป่าไปอยู่ที่อื่น แต่ในระยะหลังที่ป่าแอมะซอนเกิดไฟป่าบ่อย ทำให้แก๊งหมามะพร้าวไม่มีที่ไป ต้องกลับมาอยู่ในเมือง
ถึงแม้เราจะเอ็นดู อยากวิ่งไปลูบหัวน้อง ๆ มากขนาดไหน แต่ถ้าวันดีคืนดีตื่นมาแล้วเจอ กองทัพหน้าตายมาแทะหญ้าในสวนสวย ลงแช่ในสระว่ายน้ำ แถมบางทีพร้อมบวกกับสัตว์เลี้ยงของเรา ในสถานการณ์แบบนั้นเราคงไม่อยากแค่ลูบหัวน้อง ๆ เป็นแน่
คนในหมู่บ้านเรียกร้องให้รัฐหาทางจัดการกับคาปิบารา แต่จะให้พาทั้งหมดไปศูนย์อนุรักษ์ก็อาจไม่ได้ผล เพราะสุดท้ายเมื่อพวกมันขยายพันธุ์ก็จะพากันกลับมาบุกรุกอยู่ดี หรือจะสังหารน้องให้สิ้นซากก็ใช่ที่ ทางรัฐจึงใช้วิธีสมานฉันท์ ให้ทั้งคนและคาปิบาราอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ให้ความรู้ประชาชนว่าแก๊งหน้านิ่งไม่มีพิษมีภัย ไม่เป็นอันตรายกับคน (ยกเว้นกลิ่นอึของน้องที่ไม่เป็นมิตรเท่าไหร่) พร้อมเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณเมืองให้แก๊งหน้าตายอยู่ได้อย่างปลอดภัย
ดังนั้นสำหรับชาวอาร์เจนตินาแล้ว คาปิบาราจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติและต่อต้านลัทธิทุนนิยมไปโดยปริยาย โดยที่พวกมันไม่ได้รู้ตัวด้วยซ้ำ
คาปิบาราอยู่ในเมืองร่วมกับมนุษย์อย่างสันติ
- คาปิบาราเลี้ยงได้หรือไม่ ?
ปัจจุบันนอกจากเราจะพบเจอคาปิบาราได้ตามโซเชียลมีเดียแล้ว เรายังพบเจอแก๊งกินจุได้ตามสวนสัตว์ทั่วไปและฟาร์มสัตว์แปลก โดยบางฟาร์มมีคาบิปาราขายด้วยเช่นกัน สนนราคาอยู่ที่ตัวละ 60,000 บาท ไปจนถึงหลักแสนบาท ซึ่งควรจะต้องซื้ออย่างน้อย 2 ตัวขึ้นไป เพราะน้องเป็นสัตว์สังคม ไม่ควรให้อยู่ตามลำพัง
อีกทั้งยังต้องพื้นที่ให้เจ้าหน้ามึนมีพื้นที่วิ่งเล่น มีไม้ใหญ่ไว้ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำไว้ให้แช่น้ำ รวมถึงต้องมีผักและผลไม้สต๊อกไว้เพื่อเป็นอาหารให้น้อง พร้อมต้องมีเวลาสำหรับทำความสะอาดเนื้อตัวน้องบ่อย ๆ เพราะกินเยอะ และอึเยอะ ถ้าปล่อยไว้กลิ่นตลบอบอวลแน่นอน
ที่สำคัญห้ามจับคาปิบาราใส่กรงเด็ดขาด เพราะจะทำให้น้องหน้านิ่งเกิดความเครียด ไม่กินอาหารและเฉาตายในที่สุด ดังนั้นถ้าไม่พร้อมที่จะเลี้ยงดูน้องก็ไม่ควรพาน้องมาลำบาก ไปแวะเยี่ยมเยียนแก๊งคาปิบาราได้ตามสวนสัตว์ หรือชมความน่ารักความมึนได้ตามมีมต่าง ๆ ทั่วโซเชียลมีเดียจะเป็นการดีกว่า
ที่มา: Know Your Meme, Polygon, The Matter, TIME, VICE