"ทำงาน 4 วัน" ได้ผลดีเกินคาด! วิจัยเผย "ลูกจ้าง" มีประสิทธิภาพมากขึ้นจริง
"ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์" เวิร์คจริง! ผลการทดลองชี้ชัด "ลูกจ้าง" ที่ทำงานน้อยลง 1 วัน (ได้เงินเดือนเท่าเดิม) สามารถทำงานได้ประสิทธิผล (Productivity) มากขึ้นจริง และพวกเขาไม่อยากทำงานรูปแบบ 5-6 วัน อีกต่อไป
Key Points:
- ไอเดียทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ไม่ใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่กำลังกลายเป็นกระแสหลักในบริษัททั่วโลก แต่ยังมีบริษัทบางแห่งที่เป็นองค์กรใหญ่และมีพนักงานจำนวนมาก ยังทำตามไอเดียนี้ได้ยาก
- ผลสำรวจจากโครงการ 4 Day Week Global พบว่า 15% ของพนักงานที่เข้าร่วมทดลอง ชอบการทำงานในรูปแบบ 4 วันต่อสัปดาห์ และแม้บริษัทจะเพิ่มค่าจ้างเพื่อให้กลับไปทำงาน 5 วัน ก็ไม่ทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจได้
- หลังสิ้นสุดการทดลอง 6 เดือน พบว่าพนักงานผู้เข้าร่วมทดลองมีการนอนหลับดีขึ้น, ระดับความเครียดลดลง, ชีวิตส่วนตัวสมดุลขึ้น, สุขภาพจิตดีขึ้น ขณะที่รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ก่อนหน้านี้ หลายคนคงเคยได้ยินไอเดียการทำงานรูปแบบใหม่ ที่ปรับลดเวลางานของ "พนักงานออฟฟิศ" ลงให้เป็น "ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์" โดยเชื่อว่าไอเดียดังกล่าวจะช่วยให้ลูกจ้างมีสมดุลชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย
ล่าสุด.. มีรายงานผลการทดลองจากโครงการนำร่องการปรับเวลาทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ที่เรียกว่า “4 Day Week Global” จากกลุ่มวิจัย Autonomy และนักวิจัยจาก Boston College และ University of Cambridge
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โดยมีบริษัทหลายสิบแห่งในสหราชอาณาจักรเข้าร่วมการทดลองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งนี้ ซึ่งหัวหน้างานและพนักงานส่วนใหญ่ชอบการทดลองนี้มาก และหลังจากจบการทดลอง พวกเขาตัดสินใจที่จะทำงานตามรูปแบบนี้ต่อเนื่องต่อไป
- 15% ของพนักงานที่ร่วมทดลอง ชอบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์
มีรายงานผลสำรวจจากผู้เข้าร่วมโครงการพบว่า 15% ของพนักงานที่เข้าร่วมทดลองทั้งหมดเกือบ 3,000 คน ชอบการทำงานในรูปแบบ 4 วันต่อสัปดาห์ แม้บริษัทจะเพิ่มค่าจ้าง (เล็กน้อย) เพื่อโน้มน้าวให้พวกเขากลับไปทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ แต่พวกเขาส่วนใหญ่ก็ไม่สนใจ เว้นแต่ว่าบริษัทจะให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้น 26-50% โดยมีพนักงาน 1 ใน 3 ระบุว่า นั่นอาจชนะใจพวกเขาได้
สำหรับกระบวนการในการปรับลดชั่วโมงทำงานนั้น บริษัทที่เข้าร่วมโครงการต้องคิดหาวิธีการต่างๆ มาใช้ลดเวลาทำงานต่อสัปดาห์ของพนักงานให้สั้นลงอย่าง “มีความหมาย” ตั้งแต่การให้วันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน ไปจนถึงการลดวันทำงานในหนึ่งปีเหลือเฉลี่ย 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ต้องมั่นใจว่าพนักงานยังคงได้รับ ค่าจ้างเต็ม 100% เท่าเดิม
- หลังการทดลองบริษัทพบว่า การทำงาน 4 วัน เวิร์คจริง!
เมื่อสิ้นสุดการทดลองในระยะเวลา 6 เดือน พนักงานผู้เข้าร่วมทดลองได้รายงานถึงประโยชน์ต่างๆ ที่ได้เกี่ยวกับโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็น
- ลูกจ้างมีการนอนหลับพักผ่อนที่ดีขึ้น
- ลูกจ้างมีระดับความเครียดลดลง
- ลูกจ้างชีวิตส่วนตัวสมดุลขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น
- ลูกจ้างทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลที่ดีขึ้น
- รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 35% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
- การลาออกของพนักงานในบริษัทลดลง
หลังจากนี้ กลุ่ม 4 Day Week Global กำลังประสานงานโครงการนำร่องนี้ให้ขยายขอบข่ายออกไปทั่วโลก เพื่อกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ เปลี่ยนจากการทำงานมาตรฐาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มาเป็นรูปแบบ 32 ชั่วโมง โดยให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม
โครงการนำร่องในสหราชอาณาจักรครั้งนี้ มีบริษัทเข้าร่วมทดลองจำนวนมากเป็นสองเท่า และพนักงานเข้าร่วมทดลองเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับโครงการนำร่องรุ่นก่อนหน้า และถือเป็นโครงการทดลองที่ใหญ่ที่สุดในหมวดเกี่ยวกับการปรับชั่วโมงการทำงานและสวัสดิการลูกจ้าง
- ทำงาน 4 วัน สร้างผลกระทบเชิงบวกให้ออฟฟิศทั่วโลก
ทางกลุ่มผู้วิจัยในโครงการฯ ระบุด้วยว่า ผลประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมได้รับนั้น มีมากกว่าแค่การลดเวลาทำงานในสำนักงาน เพราะเมื่อพวกเขามีเวลาในชีวิตส่วนตัวมากขึ้น ก็สามารถดูแลลูกหลานและพ่อแม่ผู้สูงวัยได้มากขึ้น โดยมีผลสำรวจชี้ตรงกันว่า พนักงานผู้ชายที่ลดชั่วโมงการทำงานลง สามารถมีเวลาในการดูแลลูกหลานได้เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับพนักงานผู้หญิง
แม้ว่ารูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์จะเริ่มได้รับความนิยม แต่ก็ยังไม่ใช่แนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก และงานวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับนโยบายก็ถูกจำกัดด้วยขนาดของบริษัท (บริษัทใหญ่ที่มีพนักงานเยอะๆ ยังทำตามไอเดียนี้ได้ยาก) บริษัทส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการทดลองในโครงการดังกล่าวยังเป็นเพียงบริษัทขนาดเล็ก (66% ของบริษัทที่เข้าร่วมทดลอง มีพนักงานเพียง 25 คนหรือน้อยกว่านั้น)
อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยในโครงการนี้ย้ำว่า มันไม่เกี่ยวว่าออฟฟิศจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก แต่ประโยชน์ที่เห็นชัดแน่ๆ ของการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์หรือการทำงานที่สั้นลงนั้น สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกให้แก่สังคมการทำงานของพนักงานออฟฟิศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพ, ลดการปล่อยมลพิษจากการเดินทางประจำวัน ฯลฯ อีกทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันไอเดียนี้กำลังกลายเป็นกระแสหลักมากขึ้น
------------------------------------
อ้างอิง : The Washington Post