‘สงกรานต์ 2566’ เปิดตำนาน ‘นางสงกรานต์’ ทั้ง 7 ผู้เผยคำทำนายดวงปี มีจริงไหม?
รู้จักตำนาน “นางสงกรานต์” ทั้ง 7 องค์ ที่เป็นความเชื่อคู่กับประเพณี “สงกรานต์” ของไทยมาทุกยุคทุกสมัย พร้อมเผยคำทำนายดวงเมืองของพระนาง “กิมิทาเทวี” นางสงกรานต์ประจำปี 2566
เทศกาล "สงกรานต์ 2566" ใกล้เวียนมาถึงอีกครั้ง มนุษย์งานหลายคนที่เป็นคนต่างจังหวัด ต่างกำลังวางแผนเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ หรือ ปีใหม่ไทย ในช่วงวันที่ 13-14-15 เมษายน 2566 อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจทุกปีนั่นคือ ความเชื่อเกี่ยวกับ "นางสงกรานต์" และคำทำนายดวงเมืองช่วงวันสงกรานต์ในแต่ละปี สำหรับปีนี้นางสงกรานต์ประจำปีมีชื่อว่า "กิมิทาเทวี"
แต่ก่อนจะไปรู้คำทำนายดวงเมืองของปีนี้ ชวนมาส่องตำนาน "นางสงกรานต์" ทั้ง 7 องค์ ว่ามีต้นกำเนิดมาจากไหน มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับความเชื่อของคนไทยโบราณอย่างไรบ้าง?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- นางสงกรานต์ มีตัวตนจริงหรือไม่?
“นางสงกรานต์” ไม่ได้มีตัวตนจริง แต่เป็นเพียงคติความเชื่อที่ปรากฏอยู่ใน “ตำนานสงกรานต์” ซึ่งเป็นอุบายของคนโบราณให้สามารถจดจำวันปีใหม่ไทยหรือวันมหาสงกรานต์ได้ง่าย โดยสมมติให้นางสงกรานต์ทั้งเจ็ดคนเทียบกับวันแต่ละวันในหนึ่งสัปดาห์นั่นเอง
- “นางสงกรานต์” กับความเชื่อเกี่ยวกับพรหมโลก
มีจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม บอกเล่าเกี่ยวกับตำนานของ “นางสงกรานต์” ทั้ง 7 องค์เอาไว้ว่า นางสงกรานต์มีความเกี่ยวข้องกับ “ท้าวกบิลพรหม” หรือ “ท้าวมหาพรหม” เทพผู้สถิตอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ 3 มหาพรหมภูมิมีหน้าที่สอดส่องดูแลมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย และพระองค์ทรงมีพระธิดา 7 องค์
ครั้งหนึ่ง “ท้าวกบิลพรหม” เกิดอยากทดสอบปัญญาของมนุษย์หนุ่มผู้หนึ่งนามว่า “ธรรมบาลกุมาร” (ผู้เป็นบุตรของเศรษฐี ที่พระอินทร์ประทานให้ลงมาจุติ) จึงเสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยมีเงื่อนไขว่า หากธรรมบาลกุมารตอบได้ ท้าวกบิลพรหมก็จะตัดเศียรของตนเพื่อบูชาแก่กุมาร แต่ถ้าตอบไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย
โดยคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมาร ก็คือ “ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน” ด้านธรรมบาลกุมารขอเวลา 7 วันเพื่อไปหาคำตอบมาให้ท้าวกบิลพรหม ธรรมบาลกุมารคิดหาคำตอบอยู่นานแต่ก็คิดไม่ออก
จนล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารบังเอิญได้ยินนกอินทรีสองผัวเมียคุยกันเกี่ยวกับเรื่องคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามตนเอง และวางแผนที่จะกินศพตนเองเพราะเชื่อว่าตนไม่สามารถตอบคำถามได้ และต้องถูกท้าวกบิลพรหมฆ่าตายแน่นอน ซึ่งนกอินทรีเผลอเฉลยคำตอบออกมา ธรรมบาลกุมารพอได้ฟังก็จดจำคำตอบนั้นไว้ วันถัดมาซึ่งครบกำหนด 7 วันตามสัญญา ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ท้าวกบิลพรหมตกใจที่ธรรมกุมารสามารถตอบได้ถูกต้อง แต่ก็ต้องทำตามคำพูดของตนเองท่ีเคยลั่นสัจจะวาจาไว้
- เหตุอาเพศจากเศียรท้าวกบิลพรหม บิดาของ "นางสงกรานต์"
หลังจากที่ “ท้าวกบิลพรหม” รู้ตัวว่าจะต้องตายโดยการตัดเศียรของตนเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร จึงตรัสเรียกธิดาทั้ง 7 องค์ อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่าพ่อจะตัดเศียรตัวเองเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร แต่เศียรของพ่อนี้หากตั้งไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก หากโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง หากนำไปทิ้งในมหาสมุทร น้ำก็จะแห้ง
ดังนั้นจึงให้ธิดาทั้งเจ็ดหาพานมารองรับเศียรของตน ไม่ให้ตกลงบนพื้นโลก หรือพื้นน้ำ หรือบนอากาศ แล้วจึงตัดเศียรตนให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โตนำวางบนพาน จากนั้นนางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ
จากนั้นมา ทุกๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานตามเดิม ในแต่ละปีนางสงกรานต์แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์นั่นเอง
- นางสงกรานต์ทั้ง 7 องค์ มีใครบ้าง?
สำหรับนางสงกรานต์ที่จะต้องผลัดเปลี่ยนกันมาถือพานเศียรของท้าวกบิลพรหม ตามคติความเชื่อในวันมหาสงกรานต์ แต่ละนางจะมีนาม อาหาร อาวุธ สัตว์ที่เป็นพาหนะแตกต่างกันไป ดังนี้
- วันอาทิตย์ นางสงกรานต์นาม “ทุงษะเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
- วันจันทร์ นางสงกรานต์นาม “โคราคะเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
- วันอังคาร นางสงกรานต์นาม “รากษสเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
- วันพุธ นางสงกรานต์นาม “มณฑาเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพุธ ชื่อ นางมันทะ
- วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์นาม “กิริณีเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ
- วันศุกร์ นางสงกรานต์นาม “กิมิทาเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
- วันเสาร์ นางสงกรานต์นาม “มโหธรเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี
- "นางสงกรานต์" 2566 "กิมิทาเทวี" มีลักษณะยังไง?
"กิมิทาเทวี" ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ สำหรับ "คำทำนาย" ในปีนี้ ระบุว่า
- วันที่ 14 เม.ย. เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที
- วันที่ 16 เม.ย. เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้วันเสาร์ เป็น ธงชัย , วันพุธ เป็น อธิบดี , วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ , วันศุกร์ เป็น โลกาวินาศ
- เกณฑ์พิรุณศาสตร์ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า
- เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้ นาคให้น้ำ 2 ตัว
- เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์
- เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอดี
----------------------------
อ้างอิง : wikipedia, Prapayneethai, ArjanRam