สุดชัด! เผยภาพ กระจุกกาแล็กซีแพนโดรา ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

สุดชัด! เผยภาพ กระจุกกาแล็กซีแพนโดรา ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

'นักดาราศาสตร์' เผยภาพ 'กระจุกกาแล็กซีแพนโดรา' หรือ Abell 2744 สุดคมชัด! ถ่ายจาก 'กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์'

'นักดาราศาสตร์' เผยภาพสุดคมชัดของ 'กระจุกกาแล็กซีแพนโดรา' (Pandora’s Cluster) หรือ Abell 2744 ที่ถ่ายโดย 'กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์' โดยเผยให้เห็นแหล่งกำเนิดรังสีอินฟราเรดใกล้ (near-infrared) กว่า 50,000 แห่ง กระจายตัวอยู่ทั่วทั้งภาพ โดยแต่ละแห่งระยะห่างแตกต่างกันออกไป บ่งบอกถึงความกว้างใหญ่ไพศาลของเอกภพ

 

 

ภายในพื้นที่ของ 'กระจุกกาแล็กซีแพนโดรา' ประกอบด้วย กระจุกกาแล็กซีที่มีขนาดใหญ่ 3 แห่งรวมตัวกัน และด้วยมวลรวมอันมหาศาลของพื้นที่นี้ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ 'เลนส์ความโน้มถ่วง' (gravitational lensing) ที่ทำให้แสงจากกาแล็กซีพื้นหลังเมื่อเดินทางผ่านอวกาศบริเวณนี้จะเดินทางเป็นเส้นโค้ง ลักษณะคล้ายกับแสงที่เดินทางผ่านเลนส์นูน ทำให้กาแล็กซีอันริบหรี่ที่อยู่เบื้องหลัง แม้จะมีหน้าตาบิดเบี้ยวไปแต่ก็ทำให้มีแสงสว่างที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักดาราศาสตร์สามารถศึกษากาแล็กซีอันไกลโพ้นเหล่านี้ได้ชัดยิ่งขึ้น

 

ก่อนหน้านี้บริเวณใจกลางของกระจุกกาแล็กซีแพนโดราเคยมีการศึกษาอย่างละเอียดโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเท่านั้น แต่ด้วยการศึกษาในช่วงคลื่นอินฟราเรดความละเอียดสูงของกล้องเจมส์ เวบบ์ จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาขนาดความกว้าง และระยะห่างของพื้นที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะเปิดมุมมองใหม่สำหรับการศึกษาเอกภพและวิวัฒนาการของแล็กซี

 

Ivo Labbe นักดาราศาสตร์จาก Swinburne University of Technology และเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยในโครงการ UNCOVER กล่าวว่า พื้นที่บริเวณขวาล่างของภาพนี้ ซึ่งเกิดปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง เป็นพื้นที่ที่กล้องฮับเบิลไม่เคยถ่ายได้มาก่อน เผยให้เห็นรายละเอียดของกาแล็กซีอีกหลายร้อยแห่งที่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งจางๆ ในภาพ และเมื่อสังเกตลึกเข้าไปก็เผยให้เห็นรายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นข้อมูลละเอียดกว่าการสังเกตการณ์ครั้งก่อนๆ มาก

 

 

ภาพนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ UNCOVER ที่มีเป้าหมายศึกษาวัตถุอันไกลโพ้นในอวกาศ และย้อนศึกษาไปถึงเอกภพในยุคเริ่มแรกหลัง Big Bang ที่ถ่ายโดยกล้อง NIRCam ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ซึ่งภาพนี้เกิดจากการรวมภาพ 4 ภาพเข้าด้วยกัน โดยแต่ละภาพจะใช้เวลาเปิดหน้ากล้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง รวมระยะเวลาการสังเกตการณ์ทั้งหมดประมาณ 30 ชั่วโมง จากนั้นทีมนักวิจัยจะศึกษาภาพถ่ายอย่างละเอียด และวางแผนที่จะใช้อุปกรณ์ NIRSpec (Near-Infrared Spectrograph) ในการศึกษากระจุกกาแล็กซีแห่งนี้ต่อไป ที่จะช่วยให้สามารถวัดระยะห่างของกาแล็กซีเหล่านี้อย่างแม่นยำได้

 

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์ ข้อมูลจากกล้อง NIRCam ทั้งหมดจะถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อให้นักดาราศาสตร์ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูล และวางแผนที่จะศึกษาข้อมูลอื่นของกล้องเจมส์ เวบบ์ ได้ ซึ่งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นสำหรับการศึกษาสุดยิ่งใหญ่ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

 

สุดชัด! เผยภาพ กระจุกกาแล็กซีแพนโดรา ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์

 

อ้างอิง : https://www.nasa.gov/

ข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ