1 เมษายน ‘April Fool’s Day’ ทำไมคนเรา ‘โกหก’ ในวันเมษาหน้าโง่ ?
เปิดที่มาและหาคำตอบ ทำไมคนเรา "โกหก" ใน "April Fool’s Day" เช็ก 8 ข้อต้องรู้ใน "วันเมษาหน้าโง่" พร้อมส่องเรื่องโกหกยอดนิยมจากทั่วโลก เพื่อให้รู้ตัวก่อนที่จะโดนคนอื่นหลอกอำในวันที่ 1 เมษายนนี้
อย่าเพิ่งโกรธ! ถ้าโดนเพื่อนแกล้งอำในวัน "April Fool's Day" หรือ "วันเมษาหน้าโง่" เพราะถือเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนทั่วโลก ซึ่งมักจะแกล้งอำ หรือ "โกหก" กันขำๆ โดยไม่ถือเป็นเรื่องจริงจัง แต่ทำได้เฉพาะในวันที่ 1 เมษายนเท่านั้น
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจ็บใจจากการโดนแกล้งในวัน April Fool's Day กันมาไม่น้อย แต่จะโกรธจริงจังเกินไปก็ไม่ได้เพราะวัฒนธรรม "แกล้งอำ" นี้ ผู้คนทั่วโลกมักจะเล่นขำๆ โดยไม่ถือสากันเป็นเรื่องปกติ แต่ทั้งนี้.. ถ้าอยากจะเล่นจริงๆ ก็อย่าลืมใส่ใจกับคำว่า "กาลเทศะ" เป็นสำคัญ
แม้ว่า "April Fool's Day" จะไม่ใช่วันสำคัญของไทยอย่างเป็นทางการ แต่คนไทยก็รับเอาวัฒนธรรมนี้เข้ามาหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตตามวิวัฒนาการทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ..จะว่าไปแล้วที่มาและต้นกำเนิดของ "April Fool's Day" ก็น่าสนใจไม่น้อย ว่ากันว่าการแกล้ง "โกหก" กันแบบนี้มีมาตั้งแต่ยุคโรมันเลยทีเดียว ชวนส่อง 8 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ "วันเมษาหน้าโง่" คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน เช็กที่นี่!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
1. April Fool's Day เริ่มมีในศตวรรษที่ 16-19
April Fool's Day หรือ วันเมษาหน้าโง่ ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี หลายประเทศทั่วโลกนิยมเฉลิมฉลองวันดังกล่าวด้วยการเล่นมุกตลกด้วยคำ "โกหก" หรือเล่าเรื่องหลอกอำเพื่อแกล้งเพื่อน บางครั้งก็พบว่ามีสำนักพิมพ์หรือสื่อต่างๆ อาจรายงานเรื่องหลอกอำในวันนี้ และออกมาเฉลยในวันต่อมา
มีข้อมูลพบว่าการเล่นแกล้งกันในวัน April Fool's Day นั้น เริ่มมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-19 ในแถบประเทศทางยุโรป เช่น กรีก ฝรั่งเศส อีกทั้งมีบันทึกโบราณระบุว่าต้นกำเนิดของ "วันเมษาหน้าโง่" เกิดขึ้นใกล้เคียงกับ "เทศกาลฮิลาเรีย" ของโรมันที่จัดขึ้นวันที่ 25 มีนาคม ขณะที่ในยุโรปสมัยยุคกลางก็พบว่ามี "เทศกาลคนโง่" จัดขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคมด้วย
2. April Fool's Day กับความเขลาของคนโบราณ
April Fool's Day มีความเชื่อมโยงกับความเขลาที่เก่าแก่ที่สุด มีหลักฐานจากบันทึกโบราณในตำนานแคนเตอร์บรี ของชอเซอร์ (ค.ศ. 1392) โดยถูกเล่าต่อๆ กันมาว่า สมัยนั้นมีการเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานแม่ชีและพระ (Nun's Priest's Tale) ซึ่งเรื่องนี้มีการทำสำเนาเอาไว้หลายแผ่น จนเกิดการคัดลอกผิดพลาดเกี่ยวกับการระบุวันที่
จากบันทึกเดิมพูดถึง 32 วันหลังเดือนเมษายน นั่นคือตรงกับวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ถูกทำสำเนาผิดเป็น 32 วันหลังมีนาคม ซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน ซึ่งทำให้ความหมายเปลี่ยนไป พอคนรุ่นหลังๆ มาอ่านบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจไปว่าตำนานฉบับคัดลอกเป็นเรื่อง "โกหก" ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับวันที่ 1 เมษายนนั่นเอง
3. อีกหนึ่งตำนานชี้ว่า April Fool's Day คือวันขึ้นปีใหม่
อีกหนึ่งทฤษฎีเชื่อว่า April Fool's Day มีความเชื่อมโยงกับการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวยุโรปที่เพิ่งเปลี่ยนการนับแบบใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 16 แต่เดิมในช่วงยุคสมัยกลางวันปีใหม่ของชาวยุโรปคือวันที่ 1 เมษายน ต่อมาในปี ค.ศ. 1592 พระสันตปาปาเกรเกอรี่ได้ประกาศใช้ปฏิทินใหม่สำหรับชาวคริสต์ ทำให้วันปีใหม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 1 มกราคม
อีกทั้งเนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสารที่ล่าช้าในยุคนั้น ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เชื่อ! เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พวกเขายังจัดงานฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนตามเดิม ทำให้คนอื่นๆ พากันเรียกพวกเขาว่า "พวกเมษาหน้าโง่" (April Fools) แล้วพยายามกลั่นแกล้งคนพวกนี้โดยส่งข้อความไปหลอก หรือล่อลวงให้หลงเชื่อเรื่องโกหกทั้งหลายว่าเป็นเรื่องจริง
4. ย้อนดู "คำโกหก" ของชาวยุโรปในยุคกลาง
ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 ชุดคำพูด "โกหก" ที่ผู้คนสมัยนั้นนิยมนำมาแกล้งอำกัน เช่น พวกอาจารย์มักจะแกล้งบอกกับลูกศิษย์ในโรงเรียนว่า "ดูโน่นสิ! ฝูงห่าน" แล้วชี้นิ้วขึ้นไปบนฟ้า ส่วนกลุ่มนักเรียนจะแกล้งหลอกเพื่อนๆ คนอื่นว่าโรงเรียนงดการเรียนการสอนในวันนั้น ซึ่งเมื่อไหร่ที่เหยื่อตกหลุมพรางตามแผนที่คนแกล้งวางเอาไว้แล้ว คนแกล้งจะตะโกนออกมาว่า "April Fool"
5. April Fool's Day เผยแพร่จากยุโรปไปสู่ทั่วโลก
จากการล้อเลียนคนที่ฉลองปีใหม่ผิดวันในประเทศแถบยุโรปในวันที่ 1 เมษายน ต่อยอดสู่วัฒนธรรมการแกล้งโกหกกันในวัน April Fool's Day ของทุกๆ ปี ซึ่งการเล่นนี้ก็ได้แผ่ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา รวมถึงเอเชียและประเทศไทยด้วย
ในประเทศอังกฤษจะแกล้งกันอย่างเปิดเผยด้วยการตะโกนว่า "เอพริลฟูล" ใส่คนที่ถูกหลอกตรงๆ เพื่อชี้เป้าว่าใครกำลังโดนแกล้งและถูกเพื่อนๆ เรียกว่า "คนโง่เดือนเมษา" ส่วนในประเทศฝรั่งเศส จะแกล้งเพื่อนด้วยการเอากระดาษรูปปลาไปแปะไว้ข้างหลัง เมื่อฝ่ายที่ถูกแกล้งรู้ตัว คนแกล้งจะตะโกนว่า "Poisson d'Avril!" (April Fish!) ซึ่งเป็นคำที่คนฝรั่งเศษใช้เรียกคนที่ถูกหลอกหรือถูกแกล้งนั่นเอง
สำหรับชาวอเมริกันก็นิยมหยอกล้อเพื่อนฝูงเช่นกัน เช่น การชี้ไปที่รองเท้าของเพื่อนและพูดออกมาว่า "เชือกรองเท้าของเธอหลุดแน่ะ" หรือ แกล้งเทเกลือลงในโถใส่น้ำตาล หรือแอบหมุนเข็มนาฬิกาของเพื่อนให้เดินช้า 1 ชั่วโมง เป็นต้น
6. เรื่อง "โกหก" ยอดฮิตตลอดกาล
- เรื่องที่เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาตนเอง : เช่น ‘ฉันดูดีที่สุดในโลก’ ‘วันนี้หุ่นดีจัง’ คือหัวข้อยอดฮิตที่ผู้คนมักจะพิมพ์โกหกลงโลกโซเชียลมีเดีย เพราะในชีวิตประจำวัน น้อยคนที่จะโพสต์ชื่นชมตนเองแต่พอมาถึงวัน April Fool's Day เป็นโอกาสที่พูดโกหกเรื่องเหล่านี้ได้โดยไม่รู้สึกผิดมากนัก
- เรื่องสถานะทางการเงิน : เช่น ‘ถูกลอตเตอรรี่ 100 ล้าน’ ‘เป็นเจ้าของกระเป๋าแบรนด์เนม’ ‘เพิ่งถอยรถมาใหม่’ ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถทำให้เนียนได้ง่ายๆ เพียงมีเทคนิคเสริมอย่างการลงรูปให้น่าเชื่อถือ
- เรื่องสถานะความสัมพันธ์ : เช่น ‘เราเลิกกัน’ ‘ฉันท้อง’ ‘ฉันเป็นสาวประเภทสอง’ ‘ฉันคบกับ.....’ ‘แกล้งบอกเลิก’ ระดับความน่าเชื่อถือของคำโกหกอยู่ในระดับปานกลางที่พอให้สะดุ้งกันอยู่บ้าง เพราะเรื่องสถานะความสัมพันธ์ถือเป็นเรื่องยอดนิยมตลอดกาลที่คนรอบข้างในความสนใจ แต่การโกหกประเภทนี้ก็ต้องเตรียมรับผลลัพธ์ให้ดีเพราะเป็นเรื่องที่มีความเปราะบาง อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
7. แกล้งอำได้แต่ต้องไม่อันตราย
หัวใจของการโกหกในวัน April Fool's Day คือความตลก โดยเรื่องที่โกหกต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าไม่ทำอันตรายให้คนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่เกี่ยวกับความเป็นความตาย เพราะฉะนั้นกลอุบายที่ยอดเยี่ยมที่สุดจะต้องทำให้ทุกคนหัวเราะได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของวันแห่งความสนุกสนานนี้
--------------------------
อ้างอิง : wikipedia, Kidsangsan language school