"เกาหลีใต้" ขึ้นแท่น "ส่วนสูง" เพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก
มนุษย์ในยุคปัจจุบันมีความสูงเพิ่มขึ้นกว่า มนุษย์ในยุค 100 ปีที่ผ่านมา โดย “เกาหลีใต้” เป็นประเทศที่มีส่วนสูงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก ซึ่งมีปัจจัยมาจากการสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต่างจาก “เกาหลีเหนือ” ที่แม้จะเป็นชนชาติเดียวกันแต่กลับสูงไม่เท่า
ช่วงศตวรรษที่ 1900 หรือราว 100 ปีก่อน มนุษย์มีค่าเฉลี่ยส่วนสูงที่ต่ำกว่าในปัจจุบัน เห็นได้จาก ผู้หญิงชาวเกาหลีใต้มีความสูงเฉลี่ยเพียง 142 เซนติเมตร ในขณะที่ผู้หญิงชาวอเมริกันมีความสูงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 159 เซนติเมตร
แต่เมื่อเวลาผ่านมาร้อยปี พบกว่า ปัจจุบัน มนุษย์ทั่วโลกมีความสูงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 8 เซนติเมตร และมี “เกาหลีใต้” ครองอันดับหนึ่ง ประเทศที่ประชากรมีความสูงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก โดยผู้หญิงมีความสูงเพิ่มขึ้นถึง 20 เซนติเมตร ขณะที่ผู้ชายโตขึ้น 15 เซนติเมตร ซึ่งโดดจากประเทศอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด จนกลายเป็นประเทศที่มีประชากรสูงที่สุดในเอเชียร่วมกับจีน ด้วยค่าเฉลี่ยความสูงของผู้ชาย 175 เซนติเมตร และผู้หญิง 163 เซนติเมตร
- ปัจจัยที่ทำให้ความสูงของมนุษย์ไม่เท่ากัน
เกี่ยวกับเบื้องหลัง “ความสูง” ของคนเรานั้น นักวิทยาศาสตร์ได้เคยทำวิจัยเกี่ยวกับความสูงที่แตกต่างกันของพี่น้องและฝาแฝด พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ความสูงของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน 80% นั้นมาจาก “กรรมพันธุ์” และ “ดีเอ็นเอ” ของแต่ละบุคคล ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความสูงของแต่ละบุคคลในช่วงวัยรุ่น ส่วนอีก 20% ที่เหลือนั้นมาจาก “ปัจจัยภายนอก”
สอดคล้องกับงานวิจัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พบว่า การเติบโตในสภาพแวดล้อมที่มีโภชนาการที่ดีกว่าและประสบโรคภัยไข้เจ็บน้อยกว่า ล้วนทำให้มนุษย์มีส่วนสูงที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจนในวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากมนุษย์เข้าถึงการรักษาพยาบาล มีสุขภาพดีขึ้น
โดยผู้อยู่อาศัยในครอบครัวชนชั้นกลางขึ้นไปจะมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นราว 1.2 เซนติเมตร ขณะที่คนที่เติบโตมาในบ้านที่อยู่อาศัยกันหลายคนจะมีส่วนสูงลดลงประมาณ 0.7 เซนติเมตร ส่วนคนที่อาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรมจะเตี้ยลงถึง 2.2 เซนติเมตร
แล้วปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ “เกาหลีใต้” เป็นประเทศที่มีความสูงโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นที่สุดในโลกหรือไม่ ?
- ประชากรเกาหลีใต้มีความสูงเฉลี่ยมากที่สุด
จากประเทศที่ไม่มีจะกินในยุค 60 มี GDP ต่อหัวเพียง 158 ดอลลาร์ กลับพุ่งขึ้นเป็น 35,000 ดอลลาร์ ในปี 2021 ตามข้อมูลของธนาคารโลก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศร่ำรวยในยุโรป เมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ย่อมทำให้อาหารการกินดีขึ้น
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ช่วงปี 1961 สมัยที่ยังเป็นประเทศยากจน ประชากรในเกาหลีใต้บริโภคอาหารที่ประมาณ 2,100 แคลอรีต่อวัน แต่พอเข้าสู่ในปี 2013 ประชากรรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น 1,200 แคลอรี
นอกจากนี้ ข้อมูลของสหประชาชาติยังแสดงให้เห็นว่า ในปี 1950 เกาหลีใต้มีอัตราการตายของเด็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปีสูงถึง 20% ขณะที่ปัจจุบันมีเพียง 0.2% เท่านั้น
แต่เมื่อมาดูที่ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ และ ดีเอ็นเอ เรากลับพบว่า สภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกาหลีใต้ตรงกันข้ามกับเกาหลีเหนืออย่างสิ้นเชิง ในปี 1930 ที่ทั้ง 2 ประเทศยังรวมกันเป็นหนึ่ง เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศเป็นชนชาติเดียวกัน ทำให้ค่าเฉลี่ยความสูงของประชากรนั้นไล่เลี่ยกันอยู่ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเกาหลี ทำให้เกิดการแยกประเทศออกเป็น 2 ประเทศ
แม้เกาหลีเหนือปิดประเทศ หันหลังให้กับโลกทั้งใบไปแล้ว แต่เรายังสามารถรับรู้ข้อมูลความสูงของชาวเกาหลีเหนือจากผู้ลี้ภัยที่หนีออกมาอยู่ในเกาหลีใต้ ซึ่งทำให้เห็นว่าช่องว่างระหว่างความสูงของทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้นั้นเริ่มห่างออกไป โดยช่วง 1970 นั้นมีความสูงแตกต่างกันราว 5 เซนติเมตร
นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่า สภาพแวดล้อมและโภชนาการเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์มีความสูงแตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะเคยเป็นเชื้อชาติเดียวกันมาก่อน