‘วันจักรี’ 6 เมษายน มีครั้งแรกเมื่อไร? รู้ประวัติและต้นกำเนิดราชวงศ์จักรี

‘วันจักรี’ 6 เมษายน มีครั้งแรกเมื่อไร? รู้ประวัติและต้นกำเนิดราชวงศ์จักรี

เปิดประวัติ ‘วันจักรี’ 6 เมษายน ส่องต้นกำเนิดและเหตุการณ์สำคัญในวันจักรี นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรกแห่ง "ราชวงศ์จักรี" และทรงพระราชทานชื่อเมืองหลวงที่ยาวที่สุดในโลก

ย้อนรอยต้นกำเนิดและประวัติ “วันจักรี” ซึ่งตรงกับ วันที่ 6 เมษายน โดยถือเป็นวันหยุดราชการและวันหยุดธนาคารของทุกปี อีกทั้งยังเป็นวันสำคัญที่พสกนิกรชาวไทยได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่ง “ราชวงศ์จักรี” และรวบรวมแผ่นดินไทยให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

โดยนอกจากเป็นวันแห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 1 แล้ว ยังมี 5 เรื่องน่ารู้อื่นๆ อีกที่คนไทยควรรู้ โดยเฉพาะการสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นมาบนพื้นที่ใหม่ พร้อมตั้งชื่อเมืองหลวงที่ยาวที่สุดในโลก! 

1. เปิดประวัติและที่มาของ "วันจักรี" 

วันจักรี คือ วันแห่งการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงเป็นปฐมบรมราชวงศ์จักรี พระองค์เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี

2. ทำไม “วันจักรี” ถูกกำหนดให้เป็น “วันหยุดราชการ” ?

มีข้อมูลจาก ศูนย์ประชาสัมพันธ์และเทคโนโลยีสารสนเทศ กองทัพภาคที่ 3 ระบุไว้ว่า วันจักรี กำหนดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยสืบเนื่องจากพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป เพื่อแสดงความเคารพและรำลึกถึงวันครบรอบการก่อตั้งราชวงศ์จักรี 

‘วันจักรี’ 6 เมษายน มีครั้งแรกเมื่อไร? รู้ประวัติและต้นกำเนิดราชวงศ์จักรี

แรกเริ่มเดิมทีนั้นไม่ได้มีพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูปมาก่อน แต่ในปี  พ.ศ. 2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ (ร.1-ร.4) ขึ้นมา เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชน ได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณปีละครั้ง

ต่อมาหลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหลวงหล่อพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ เพิ่มขึ้นด้วย และให้นำพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 5 พระองค์ มาประดิษฐานไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมให้ซ่อมแซมพระที่นั่งในปราสาทแห่งนี้เพิ่มเติม

การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล สำเร็จลุล่วงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 จึงได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายนปีนั้น และต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า “วันจักรี” 

3. ย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญวันก่อตั้ง "มหาจักรีบรมราชวงศ์"

ย้อนกลับไปในช่วงสิ้นสุดสมัยธนบุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว จากนั้นไม่นานพระองค์ก็ทรงพระราชกรณียกิจอันสำคัญในการรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรี มาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจัด พิธียกเสาหลักเมือง ที่ “กรุงเทพมหานคร” รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้มีการก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ขึ้น

‘วันจักรี’ 6 เมษายน มีครั้งแรกเมื่อไร? รู้ประวัติและต้นกำเนิดราชวงศ์จักรี

พร้อมทั้งพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” เป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก

โดยมีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้” 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก “...บวรรัตนโกสินทร์...” เป็น “...อมรรัตนโกสินทร์...”

4. ที่มาของชื่อ “จักรี” และสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์

ชื่อของราชวงศ์จักรีมีที่มาจากบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” ตำแหน่งสมุหนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งทางราชการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เคยทรงดำรงตำแหน่งมาก่อนในสมัยกรุงธนบุรี คำว่า “จักรี” นี้ พ้องเสียงกับคำว่า “จักร” และ “ตรี” ซึ่งเป็นเทพอาวุธของพระนารายณ์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระแสงจักร และ พระแสงตรี ไว้ 1 สำรับ และกำหนดให้ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์จักรี สืบมาจนถึงปัจจุบัน

5. “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” สถานที่สำคัญเชื่อมโยง “วันจักรี”

ปี 2475 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ทรงพระราชปรารภว่า อายุพระนครจะบรรจบครบ 150 ปี สมควรมีการสมโภช และสร้างสิ่งสำคัญขึ้นเป็นอนุสรณ์ขึ้นไว้ให้ปรากฏแก่อารยชนในนานาประเทศ ว่า ชาวไทยมีความกตัญญูรู้คุณบรรพบุรุษที่ได้สร้างกรุงเทพฯ เป็นราชธานี แล้วบำรุงรักษาประเทศให้เป็นอิสระสืบมา

‘วันจักรี’ 6 เมษายน มีครั้งแรกเมื่อไร? รู้ประวัติและต้นกำเนิดราชวงศ์จักรี

ขณะที่อภิรัฐมนตรีและเสนาบดี ซึ่งเห็นชอบด้วยพระราชดำริว่า ควรสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์โดยให้มี 2 สิ่งประกอบกัน คือ

  • พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์
  • สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมพระนครธนบุรี

สำหรับพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบ ให้ศาสตรจารย์ศิลปพีระศรี ปั้นหุ่นหล่อ

ส่วนสะพานทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้อำนวยการสร้าง และพระราชทานนามว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า

-------------------------------------

อ้างอิง : ศูนย์ประชาสัมพันธ์ฯ กองทัพภาคที่ 3สำนักงานกรุงเทพมหานครสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย