'วันสงกรานต์' กับ 5 เรื่องน่าสนใจ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้
เทศกาลสงกรานต์มาถึงแล้ว พารู้จัก 5 อย่างน่ารู้ที่คนไทยหลายคนอาจไม่รู้เกี่ยวกับ “วันสงกรานต์” ว่ามีอะไรบ้าง และน่าสนใจอย่างไร
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วันเฉลิมฉลองปีใหม่ไทย หรือ เทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 13 – 15 เมษายนของทุกปี ที่นอกจากจะเป็นวันหยุดยาวให้ได้กลับบ้าน ไปทำบุญ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และสาดน้ำสงกรานต์เพื่อดับร้อนแล้ว ยังมีเรื่องน่าสนใจ 5 สิ่งสำคัญที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ดังนี้
1. “สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง “การเคลื่อนย้าย” เปรียบกับการเคลื่อนของการประทับในจักรราศี หรือก็คือ “การเคลื่อนขึ้นปีใหม่”
2. ดอกไม้ประจำสงกรานต์คือ “ดอกราชพฤกษ์” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดอกคูน”
เหตุผลเพราะในอดีตชาวมอญมักใช้ดอกราชพฤกษ์มาประดับในพิธีบวงสรวง ต้อนรับเทวดาที่จะเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ก่อนวันสงกรานต์
3. นางสงกรานต์คือใคร
เรื่องราวเริ่มมาจาก “ท้าวกบิลพรหม” สถิตอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ 3 มีพระธิดา 7 องค์ ซึ่งเป็นนางฟ้าอันงดงามบนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
เมื่อได้ยินชื่อเสียงอันเลื่องลือด้านสติปัญญาของ “ธรรมบาลกุมาร” บนชมพูทวีป ใคร่ขอทดสอบความสามารถ จึงเสด็จมายังโลกมนุษย์พบกับธรรมบาลกุมาร
ท้าวกบิลพรหมตั้งคำถามธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ดังนี้
ข้อที่ 1 เวลาเช้าราศีอยู่ที่ใด
ข้อที่ 2 เวลาเที่ยงราศีอยู่ที่ใด
ข้อที่ 3 เวลาค่ำราศีอยู่ที่ใด
ถ้าธรรมบาลตอบได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดเศียรตนเองขึ้นบูชา ถ้าธรรมบาลตอบไม่ได้ ธรรมบาลจะต้องตัดหัวตนเองขึ้นบูชา โดยกำหนดเส้นตายตอบคำถาม 7 วัน
ผลปรากฏว่าเมื่อถึงเวลา ธรรมบาลกุมารสามารถตอบปัญหาได้ด้วยความช่วยเหลือจากนกอินทรี
เวลาเช้า ราศีนั้นอยู่ที่หน้าคน คนทั้งหลายจึงล้างหน้าทุกเช้า
เวลาเที่ยง ราศีอยู่ที่อก คนทั้งหลายจึงเอาน้ำ เครื่องหอมประพรมที่อก
เวลาเย็น ราศีอยู่ที่เท้า คนทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้าก่อนนอน
เมื่อท้าวกบิลพรหมแพ้พนันธรรมบาลกุมาร จึงตัดเศียรตัวเองออกเป็นรางวัลตามสัญญา แต่เนื่องจากพระเศียรของพระองค์ตกไปอยู่ที่ใด จะเป็นอันตรายต่อที่นั้น ไม่ว่าบนอากาศ บนดิน หรือในน้ำ
1. หากเศียรของเราตกถึงพื้นดินเมื่อใด จะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลก
2. หากเศียรของเราตกลงไปในมหาสมุทร น้ำจะแห้งขอดตลอดไป
3. หากเศียรของเราลอยไปในอากาศ จะทำให้ฝนแล้งตลอดไป
ด้วยเหตุนี้ เพื่อไม่ให้โลกถึงกาลอวสาน ท้าวกบิลพรหม จึงมีคำสั่งให้ทุงษะเทวี ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ เอาพานทองมารองรับพระเศียรท้าวกบิลพรหมไว้ และให้พระธิดาทั้ง 7 องค์ ผลัดเวรกันเชิญพระเศียรนี้แห่รอบเขาพระสุเมรุเป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นตำนานนางสงกรานต์จนถึงทุกวันนี้
พระธิดาทั้ง 7 องค์ มีดังนี้
1.นางสงกรานต์ทุงษะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
2.นางสงกรานต์โคราคะเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
3.นางสงกรานต์รากษสเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
4.นางสงกรานต์มัณฑาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ
5.นางสงกรานต์กิริณีเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
6.นางสงกรานต์กิมิทาเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
7.นางสงกรานต์มโหธรเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์
สำหรับ “สงกรานต์ 2566” นี้ ชื่อ “นางสงกรานต์” มีนามว่า “นางกิมิทาเทวี” เป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควายป่า) เป็นพาหนะ
- นางสงกรานต์ปี 2566 “นางกิมิทาเทวี” (เครดิต: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม) -
4. ประเพณีสงกรานต์ นอกจากสาดน้ำแล้วยังทำอะไรบ้าง และมีจุดประสงค์เพื่ออะไร
- การสรงน้ำพระ เพื่อชำระความรุ่มร้อน ไม่สบายใจออกไป และทำให้จิตใจกลับมาชุ่มชื่น สามารถสรงน้ำพระภิกษุ-สามเณร อันเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า หรือสรงน้ำพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
- การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ต้นกำเนิดมาจากทางเหนือของไทย โดย “ดำหัว” เป็นภาษาล้านนา ซึ่งหมายถึง “การสระผม” เป็นการขอขมาผู้ใหญ่ และขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ญาติผู้ใหญ่ เพื่อสิริมงคลในชีวิต
- การขนทรายเข้าวัด มาจาก 2 ความเชื่อ ความเชื่อที่หนึ่ง เพื่อความสิริมงคล ร่ำรวยเหมือนเม็ดทรายที่ขนเข้าวัด ในอีกความเชื่อหนึ่งก็คือ การนำทรายที่ติดเท้าออกจากวัด ถือว่าเป็นบาป จึงจำเป็นต้องขนทรายเข้าวัดกลับมาดังเดิม
- การทำบุญตักบาตร เป็นประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมานับตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว เป็นการสร้างบุญต่อตัวเอง และอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับไป อีกทั้งเชื่อว่าอาหารที่ถวายแด่พระภิกษุนี้จะส่งถึงญาติที่ล่วงลับไปแล้วเช่นกัน
- การทำความสะอาดบ้านเรือน เป็นการปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดี หมักหมมออกไป และเริ่มต้นสิ่งดี ๆ ในวันปีใหม่นี้
5. ในเทศกาลสงกรานต์ นอกจาก “วันสงกรานต์” ยังมีวันสำคัญอื่นๆ ด้วย
วันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงผู้สูงอายุ โดย "ดอกลำดวน" เป็นสัญลักษณ์ของผู้สูงอายุ
วันที่ 14 เมษายน เป็น “วันครอบครัว” เป็นวันรวมญาติ พบปะสังสรรค์
วันที่ 15 เมษายน เป็น “วันเถลิงศก” หรือวันปีใหม่ไทย
แต่ทั้งนี้ การนับวันตามข้างต้น เป็นเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน อย่างไรก็ตาม หากจะนับวันตามฉบับดั้งเดิมซึ่งยึดหลักโหราศาสตร์ จะมีความเหลื่อมกันไปอยู่บ้าง เช่น สงกรานต์ปี 2566 นี้ หากอ้างอิงตามประกาศโดย ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ระบุไว้ดังนี้
วันที่ 14 เมษายน เป็น ‘วันมหาสงกรานต์’ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที
และสำหรับ “วันเถลิงศก” ในปี 2566 นี้ จะตรงกับวันที่ 16 เมษายน เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที ซึ่งถือเป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่นั่นเอง
- กราฟิก: กษิดิศ สิงห์กวาง -
อ้างอิง: กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรุงเทพธุรกิจ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
กระทรวงการท่องเที่ยว