อย่าหาทำ! 10 นิสัยเสียยามเช้า ที่บั่นทอนสุขภาพและความสำเร็จวัยทำงาน
ชอบกด Snooze, ตื่นไม่เป็นเวลา, ไม่ดื่มน้ำตอนเช้า, ไม่วางแผนงาน ฯลฯ รู้หรือไม่? "กิจวัตรยามเช้า" เหล่านี้ เป็นตัวบั่นทอนสุขภาพ และยังเป็นนิสัยอันตรายที่ขัดขวางความสำเร็จในชีวิต "วัยทำงาน"
Key Points:
- รู้หรือไม่? "กิจวัตรยามเช้า" เป็นตัวกำหนดความสำเร็จในชีวิต เนื่องจากมันเป็นตัวกำหนดบรรยากาศของวันทั้งวัน มีบทบาทสำคัญในการกำหนดประสิทธิภาพการทำงาน อารมณ์ และวิถีชีวิต
- นิสัยเสียยามเช้าที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ไม่ยอมตื่นตามเวลา ไม่วางแผนงาน ไม่ดื่มน้ำหลังตื่นนอน ไม่จัดระเบียบชีวิต ไม่กินมื้อเช้า ไม่รับแสงแดงยามเช้า ฯลฯ
- หากเริ่มปรับปรุงนิสัยยามเช้าให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ก็จะช่วยให้มีรากฐานของความสำเร็จในชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
“วัยทำงาน” ทุกเพศทุกวัยล้วนอยากประสบความสำเร็จในชีวิตกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพการงาน การเงิน และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หลายคนจึงพยายามและทุ่มเทอย่างหนักในการทำงาน แต่หลายปีผ่านไปกลับรู้สึกว่ายังไม่ถึงเป้าหมายเสียที นั่นอาจจะเกิดจากการที่คุณมี “นิสัยยามเช้า” ที่ไม่ดีต่อสุขภาพและไม่ดีต่อประสิทธิภาพการทำงาน
ก่อนอื่นต้องอย่าลืมว่าพื้นฐานของความสำเร็จมักจะเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว อย่างเช่นการปรับปรุง “นิสัยยามเช้า” ที่วัยทำงานหลายคนอาจมองข้ามไป รู้หรือไม่? กิจวัตรที่ทำในตอนเช้าของทุกๆ วัน เป็นตัวกำหนดความสำเร็จในชีวิตคุณ เนื่องจากมันเป็นตัวกำหนดบรรยากาศของวันทั้งวัน มีบทบาทสำคัญในการกำหนดประสิทธิภาพการทำงาน อารมณ์ และวิถีชีวิตโดยรวมของคุณ
การสร้าง “กิจวัตรยามเช้า” ที่ดีต่อสุขภาพ จึงช่วยสร้างรากฐานที่มั่นคงสำหรับความสำเร็จได้ แต่บางคนกลับสร้างนิสัยเสียในตอนเช้าอย่างไม่รู้ตัว และเผลอทำมันจนเป็นนิสัยจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการทำงานในแต่ละวัน หากไม่อยากติดกับดักที่ขัดขวางต่อความสำเร็จ ก็ควรหลีกเลี่ยง 10 นิสัยยามเช้าเหล่านี้ และหันมาปรับปรุงกิจวัตรตอนเช้าแบบใหม่ให้ดีขึ้น
1. ชอบกด Snooze (เลื่อนนาฬิกาปลุก) ไม่ยอมตื่นเป็นเวลา
สถาบัน Sleep Disorders Centers สหรัฐอเมริกา รายงานว่า การกดเลื่อนนาฬิกาปลุกบ่อยๆ ไม่ดีต่อสมอง และสร้างผลเสียให้สุขภาพ เช่น “หัวใจเต้นเร็วแบบเฉียบพลัน” และเต้นแรงกว่าปกติเหมือนการถูกกระชาก ยิ่งถ้าเกิดขึ้นซ้ำๆ ในทุกๆ เช้า หัวใจของคุณก็ยิ่งทำงานหนัก ส่งผลให้ความดันเลือดสูง
อีกทั้งยังทำให้ “เพลียและง่วงสะสม” เนื่องจากระบบประสาทจะตื่นตัวทุกครั้งเมื่อเราได้ยินเสียงนาฬิกาปลุก ถ้าเรากดเลื่อนทุก 5 นาที ถึงแม้ดูเหมือนเราหลับ แต่ระบบประสาทยังตื่นตัวอยู่ และเตรียมพร้อมในการตื่นจากการเสียงปลุกของนาฬิกาตลอดเวลา จึงทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีกรณีที่บางคนนอนมากเกินไป หรือ “นอนมากผิดปกติ” มากเกินกว่า 9 ชั่วโมง หากใครนอนนานผิดปกติแบบนี้จะส่งผลให้น้ำหนักขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
วิธีแก้ไข : อย่ากดเลื่อนแล้วตั้งปลุกใหม่ทุก 5 นาทีบ่อยๆ แล้วไม่ยอมตื่น อาจลองปรับเป็นเลื่อนปลุกเป็น 20-30 นาที เพียงครั้งเดียว หรือทางที่ดีไม่ควรกดเลื่อนปลุกเลย แต่ควรตื่นทันทีที่ได้ได้ยินเสียงปลุก ส่วนกรณีที่นอนนานผิดปกติอาจเสี่ยงซึมเศร้าได้ ควรพบแพทย์หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
2. ไม่ดื่มน้ำหลังตื่นนอน
การรักษาความชุ่มชื้นในร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาสุขภาพโดยรวม หากไม่ดื่มน้ำหลังตื่นนอนจะทำให้ร่างกายตื่นตัวไม่เต็มที่ ง่วงซึม ทำให้ร่างกายขาดน้ำ และประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลง ในขณะที่หากเราดื่มน้ำในตอนเช้าหลังตื่นนอนทุกวัน จะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ, ช่วยให้ตื่นเต็มตาอย่างสดชื่น, ช่วยให้จิตใจแจ่มใส, ช่วยล้างของเสียต่างๆ ในระบบร่างกาย
วิธีแก้ไข : ให้วางขวดน้ำและแก้วน้ำไว้ที่โต๊ะข้างเตียง เพื่อที่ตื่นขึ้นมาแล้วจะได้มองเห็นและหยิบมาดื่มได้ทันทีในทุกๆ วัน หรืออาจจะใช้วิธีตั้งเตือนในโทรศัพท์ หรือใช้แอปฯ ติดตามปริมาณน้ำที่เราต้องดื่มในแต่ละวัน เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายของคุณไม่ขาดน้ำ
3. ไม่ออกไปรับแสงแดดยามเช้า
การได้รับแสงแดดจากธรรมชาติให้ประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ โดยข้อดีหลักๆ ก็คือการช่วยให้ร่างกายได้รับ "วิตามินดี" จากธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยควบคุมวงจรการหลับและการตื่นให้เป็นไปตามนาฬิกาชีวภาพ ซึ่งส่งผลให้สุขภาพดี แต่ถ้าหากขาดแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า ก็อาจทำให้คุณภาพการนอนหลับไม่ดี และส่งผลให้คุณมีอารมณ์แปรปรวนไปตลอดทั้งวันเลยก็ได้
วิธีแก้ไข : ให้ลองออกไปเดินหรือวิ่งจ๊อกกิ้งรับแสงแดดนอกบ้าน หรือรับประทานอาหารเช้าข้างนอกบ้าน หรือเปิดม่านเพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาในบ้าน หากไม่สามารถออกไปรับแสงกลางแจ้งได้
4. บริโภคอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไปในตอนเช้า
การรับประทานอาหารเช้าที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมของคุณ นำไปสู่การสูญเสียพลังงาน, น้ำหนักเพิ่มขึ้น (โรคอ้วน) และสมาธิสั้น เนื่องจากตอนเช้าร่างกายพลังงานกลุ่มโปรตีนเป็นหลัก หากกินแป้งหรือกินน้ำตาลเยอะในตอนเช้า ร่างกายจะยังไม่นำไปใช้ก็จะทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย ทำให้อ้วนง่ายขึ้น
วิธีแก้ไข : หลีกเลี่ยงซีเรียลที่มีน้ำตาล ขนมอบ และอาหารแปรรูป แล้วหันมาเลือกมื้อเช้าที่ดีต่อสุขภาพแทน เช่น ธัญพืช ผลไม้ และอาหารที่มีโปรตีนสูงแทน เช่น ไข่ โยเกิร์ต หรือถั่ว
5. ไม่ยอมกินอาหารเช้าเพื่อสุขภาพ
อย่างที่หลายคนรู้ดีว่า "อาหารเช้า" มีบทบาทสำคัญในสุขภาพโดยรวมและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง ดังนั้น การงดอาหารเช้าอาจส่งผลให้ความสามารถในการรับรู้ลดลง และเพิ่มความหิว ซึ่งนำไปสู่การกินมากเกินจำเป็นในมื้อถัดไป
วิธีแก้ไข : เพิ่มลิสต์การกินมื้อเช้าเข้าไปใน "กิจวัตรตอนเช้า" ของคุณ โดยจัดสรรเวลาตื่นนอนและเวลาเตรียมอาหารให้ดี ก่อนจะออกไปทำวงาน อีกทั้งควรเลือกรับประทานอาหารที่สมดุลครบทุกหมู่ ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ข้าวโอ๊ต ผลไม้ ถั่ว กรีกโยเกิร์ต เบอร์รี่ หรือไข่เจียวใส่ผักต่างๆ ฯลฯ เหล่านี้จะให้สารอาหารและพลังงานที่จำเป็นในตอนเช้า ช่วยให้สมองตื่นตัว จิตใจแจ่มใส สดชื่น ไม่หงุดหงิดง่าย
6. ไม่วางแผนงาน ตื่นขึ้นมาแบบงงๆ ไม่รู้จะทำอะไรก่อนหลัง
หากคุณเริ่มต้นวันใหม่แบบมึนๆ งงๆ โดยไม่มีแผนงานในวันนั้นที่ชัดเจน มันจะไปบั่นทอนและลดประสิทธิภาพการทำงาน จนนำไปสู่ภาวะ "รู้สึกไร้จุดหมาย" และเพิ่มความเครียดระหว่างวันได้ ดังนั้นการกำหนดเป้าหมายในทุกๆ วันในช่วงเช้า จะช่วยให้คุณมีกรอบการทำงานชัดเจน มีทิศทางการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ ทำให้สมองทำงานอย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น มีสมาธิ และทำงานได้เสร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และงานก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
วิธีแก้ไข : ให้ใช้เวลา 2-3 นาทีในแต่ละคืน เพื่อวางแผนวันต่อไป ทำรายการงานของคุณและจัดลำดับความสำคัญตามความสำคัญ คุณจะพร้อมรับมือกับวันข้างหน้าได้ดียิ่งขึ้นด้วยการตื่นขึ้นมาพร้อมกับแผนการที่ชัดเจน
7. เสียเวลาตอนเช้า (ที่มีประสิทธภาพมากที่สุด) ไปอย่างเปล่าประโยชน์
รู้หรือไม่? ช่วงเวลาที่ร่างกายของคุณจะมีพลังงานสูงสุดของวันก็คือ ช่วงเช้า โดยมันเป็นช่วงที่คุณจะรู้สึกตื่นตัวและมีสมาธิมากที่สุด ดังนั้น หากคุณตื่นสาย ก็จะทำให้ตัวเองเสียเวลาอันมีค่าและมีประสิทธิภาพที่สุดในยามเช้าไปโดยเปล่าประโยชน์ ส่งผลโดยตรงกับ Productivity ของวันนั้นทั้งวัน เช่น อาจทำงานไม่เสร็จ อาจทำงานได้น้อยลง อาจทำงานผิดพลาดบ่อย เป็นต้น
วิธีแก้ไข : กำหนดเวลาตื่นนอน และเวลาเริ่มต้นทำงานช่วงเช้าให้ชัดเจน และทำตามกรอบเวลานั้นอย่างเคร่งครัด รวมถึงจัดตารางเวลางานไล่เรียงจากงานที่สำคัญมากที่สุดไปยังงานที่สำคัญน้อยที่สุด เพื่อปรับเวลาทำงานให้เหมาะสม วิธีนี้จะทำให้คุณประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
8. ไม่จัดระเบียบในตอนเช้า
ความยุ่งเหยิงในตอนเช้าสามารถนำไปสู่ระดับ "ความเครียด" ที่เพิ่มขึ้นและทำให้ประสิทธิภาพการทำงานในแต่ละวันลดลง ดังนั้น การพัฒนากิจวัตรตอนเช้าที่เป็นระเบียบ เช่น การจัดลำดับชิ้นงานที่ต้องทำก่อนหลัง, การเตรียมเสื้อผ้า, การเตรียมเอกสารทำงาน ฯลฯ จึงช่วยสร้างความรู้สึกสงบ และทำให้รู้สึกว่าเราควบคุมงานทุกอย่างในมือได้
วิธีแก้ไข : ให้วางแผนงานคร่าวๆ ไว้ก่อนล่วงหน้า 1 คืน เพื่อจะได้พร้อมสำหรับเช้าวันถัดไป เช่น จัดแจงเสื้อผ้าของคุณ แพ็คอาหารกลางวันของคุณ และเตรียมสิ่งของที่จำเป็นให้พร้อม นอกจากนี้ การทำ To do list ในมือถือหรือจดใส่โน๊ตบุ๊กส่วนตัว ก็จะช่วยให้ตรวจสอบรายการที่ต้องทำได้ง่ายขึ้น และงานไม่หลุด
9. ไม่ใช้เวลาคิดเกี่ยวกับเป้าหมายระยะยาวของคุณ
การตั้งเป้าหมายระยะยาวเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาแรงจูงใจและการบรรลุความสำเร็จด้านอาชีพการงาน หรือเรื่องใดๆ ในชีวิตก็ตาม การละเลยเป้าหมายเหล่านี้อาจนำไปสู่การสูญเสียทิศทางการทำงาน และทำให้คุณมีความพึงพอใจในชีวิตลดลง
วิธีแก้ไข : ให้เพิ่มเป้าหมายระยะยาวเข้าไปใน "กิจวัตรยามเช้า" ของคุณ โดยจัดสรรเวลา 2-3 นาทีในแต่ละวัน เพื่อทบทวนเป้าหมายและความคืบหน้าของคุณ อาจใช้แอปฯ เข้ามาช่วยบันทึกและตั้งเตือนถึงเป้าหมายนั้นๆ เพื่อติดตามความสำเร็จและจดจ่อกับแรงบันดาลใจของตนเองในทุกๆ วัน
10. หลีกเลี่ยงงานที่ยากและไม่สะดวกสบาย
การเลือกจัดการงานที่ท้าทาย งานที่ยุ่งยาก งานที่ต้องประสานงานเยอะๆ ในตอนเช้า ก่อนที่จะไปทำงานยิบย่อยอื่นๆ สามารถช่วยเพิ่ม Productivity ในวันนั้นๆ ของคุณได้ และยังช่วยลดการผัดวันประกันพรุ่งได้อย่างมาก เนื่องจากการจัดลำดับความสำคัญและทำงานที่ซับซ้อนให้เสร็จตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้คุณรู้สึกถึงความสำเร็จได้มากกว่า
วิธีแก้ไข : ในแต่ละวันให้คุณเริ่มจากการพิจารณาว่า งานในวันนี้มีอะไรบ้าง งานไหนเร่งด่วนที่สุด หรืองานไหนยุ่งยากที่สุด ให้รีบทำงานนั้นก่อนเพื่อน โดยหากเป็นงานชิ้นใหญ่มากๆ ให้แบ่งงานขนาดใหญ่ออกเป็นขั้นตอนเล็กๆ เพื่อให้งานเหล่านั้นยุ่งยากน้อยลงและทำเสร็จได้ง่ายขึ้น
เคล็ดลับการหลีกเลี่ยง "นิสัยอันตราย" ในยามเช้า และวิธีการปรับเปลี่ยนสู่ "กิจวัตรยามเช้า" ที่ดีขึ้นตามข้างต้น เป็นเพียงคำแนะนำส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากมายที่คุณสามารถนำมาปรับใช้เพื่อฝึกพฤติกรรมยามเช้าให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้อย่างยืดหยุ่น และทำให้สุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจดีขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพงานดีขึ้นและมุ่งสู่ความสำเร็จได้มากขึ้นตามไปด้วย
---------------------------------------
อ้างอิง : Newtraderu, อย่ากด Snooze, NPR.org, ศูนย์นิทราเวช