หัวหน้าอาจคิดผิด! เมื่อการบังคับเข้า 'ออฟฟิศ' ไม่แก้ปัญหาแถมยิ่งบานปลาย
ซีอีโอสหรัฐอาจคิดผิด! หากใช้วิธีออกกฎบังคับให้พนักงานกลับเข้าทำงานใน “ออฟฟิศ” แบบเข้มงวด เพื่อตัดจบและยุติข้อถกเถียงระหว่าง การให้เข้าออฟฟิศเต็มสัปดาห์ หรือทำงานจากทางไกล หรือผสมผสานแบบไฮบริด
Key Points:
- ซีอีโอหลายบริษัทในสหรัฐ อาจเดินเกมผิด! เมื่อพวกเขาเลือกใช้วิธี “ไม่อยากเข้าออฟฟิศกันนัก ก็ใช้กฎบังคับซะเลย” เพื่อตัดจบข้อถกเถียงระหว่างเข้าออฟฟิศเต็มสัปดาห์ หรือทำงานทางไกล หรือไฮบริด
- Amazon, Disney และ Starbucks และอีกหลายบริษัทใหญ่ในสหรัฐ ออกคำสั่งให้พนักงานกลับเข้าทำงานในสำนักงานอย่างเข้มงวด และพนักงานจำนวนมากไม่พอใจในเรื่องนี้
- แซลลี่ ครอว์เช็ก อดีตผู้นำองค์กร Wall Street สะท้อนความคิดเห็นว่า แค่ผู้นำองค์กรคิดว่าลักษณะการทำงานของวันนี้จะสามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ (ก่อนการเกิดวิกฤติโรคระบาด) ก็ถือเป็นความคิดที่บกพร่องแล้ว
เมื่อเร็วๆ นี้ มีผลสำรวจจาก The Real Estate Board of New York รายงานข้อมูล ณ ไตรมาส 1/2566 ว่า ลูกจ้างบริษัทต่างๆ ในสหรัฐ เข้าใช้พื้นที่สำนักงาน(กลับมาเข้างานในออฟฟิศ)ในอัตราสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 61% จากเดิม 51% ในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 แต่นั่นก็ยังไม่ถึงจุดสูงสุดที่ 65% ในช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความพยายามของผู้นำองค์กรที่ต้องการให้ “พนักงาน” กลับมาทำงานในออฟฟิศแบบกะทันหันโดยการออกกฎข้อบังคับ ซึ่งนั่นอาจเป็นวิธีที่ไม่ได้ผลอย่างแท้จริง และในอีกมุมหนึ่งก็ส่งผลเสียต่อการรักษาบุคลากรเอาไว้ในองค์กร
ยกตัวอย่างบริษัทชื่อดังในระดับโลก เช่น Amazon, Disney และ Starbucks ได้ออกคำสั่งให้พนักงานกลับเข้าทำงานในสำนักงานอย่างเข้มงวด (จำนวนวันเข้างานแตกต่างกันไป) และพนักงานจำนวนมากไม่พอใจในเรื่องนี้ ขณะที่บริษัทอื่นๆ ก็อาจเห็นผลกระทบนี้เช่นกัน หากพวกเขาออกคำสั่งและบังคับใช้ในลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคำสั่งนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ที่อธิบายได้ชัดเจน
- นักวิชาการและอดีต CEO ชี้ตรงกัน ใช้วิธีบังคับส่งผลเสียมากกว่าผลดี
โยลันดา เอ็ม. โอเวนส์ โค้ชผู้ให้คำแนะนำด้านอาชีพจาก The Muse แพลตฟอร์มหางานทางออนไลน์ เปิดเผยว่า เป็นความเสี่ยงที่อันตรายหากผู้นำองค์กรจะใช้วิธีออกคำสั่งให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ เพราะสมัยนี้ความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทคู่แข่งเสนอการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid) ให้ลูกจ้าง แต่บริษัทคุณไม่เสนอให้
ขณะที่ แซลลี่ ครอว์เช็ก อดีตผู้นำองค์กรใน Wall Street ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Ellevest และอดีตซีเอฟโอของ Citi และหัวหน้าฝ่ายจัดการความมั่งคั่งระดับโลกที่ Bank of America ได้แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า แค่ผู้นำองค์กรคิดว่าลักษณะการทำงานของวันนี้จะสามารถกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ (ก่อนหน้าวิกฤติโรคระบาด) ก็ถือเป็นความคิดที่มีข้อบกพร่องแล้ว
แม้ว่าบริษัทต่างๆ มีเหตุผลอันชอบธรรมในการบังคับใช้นโยบายเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศที่เข้มงวดขึ้น แต่พวกเขาต้องตระหนักว่า ความสามารถของบุคลากรเป็นทรัพย์สินที่ใหญ่ที่สุดของพวกเขา และการใช้ไม้แข็งมากเกินไปอาจเป็นกลยุทธ์ที่ผิดพลาด
- เปิดคำแนะนำที่ CEO ควรปรับวิธีใหม่ เน้นอธิบายชี้แจงแทนการบังคับใช้กฎ
อย่างไรก็ตาม การที่จะใช้นโยบายเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศนั้นสามารถทำได้ แต่ควรมีอธิบายเหตุผลให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน แทนที่จะใช้วิธีออกคำสั่งบังคับอย่างเดียว และนี่คือ 5 คำแนะนำที่ผู้นำองค์กรสามารถนำไปปรับใช้ในการสื่อสาร เพื่อเรียกร้องให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่ออฟฟิศอย่างเต็มใจ
1. คิดทบทวนเหตุผล ‘ทำไม’ ต้องบังคับให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ
จานีน ยานเซย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Emtrain แพลตฟอร์มการฝึกอบรมออนไลน์ แสดงความคิดเห็นว่า บริษัทต่างๆ ไม่ควรเพียงแค่ออกคำสั่งให้กลับไปทำงาน แต่ควรอธิบายให้พนักงานเข้าใจถึงเหตุผลเบื้องหลังคำสั่งนี้ให้ชัดเจน
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทแห่งหนึ่งต้องการให้ฝ่ายการตลาดกลับมาที่สำนักงานอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น ผู้บริหารสามารถให้คำอธิบายพร้อมสะท้อนให้เห็นภาพว่า การทำงานร่วมกันแบบต่อหน้าจะช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหารือแคมเปญใหม่ร่วมกัน หรือการส่งงาน-ตรวจงาน-ส่งต่องาน ก็ทำได้ทันทีที่ออฟฟิศ ช่วยประหยัดเวลา งานเสร็จเร็วขึ้น เป็นต้น
ในทางตรงกันข้าม หากบริษัทไม่อธิบายเหตุผลใดๆ เอาแต่ออกคำสั่งหรือใช้วิธีตัดเงินหากฝ่าฝืน แบบนี้อาจจะยิ่งทำให้เกิดข้อโต้แย้งและถกเถียงไปต่างๆ นานาไม่จบสิ้น และนำไปสู่การลาออกของพนักงานจำนวนมากในเวลาสั้นๆ
2. ขอข้อมูลจากพนักงานทั้งในกลุ่มที่เข้าออฟฟิศ และกลุ่มที่ทำงานทางไกล
บริษัทต่างๆ ควรรวบรวมข้อมูลว่าตอนนี้มีใครบ้างที่เข้ามาทำงานในสำนักงาน เข้าบ่อยแค่ไหน และใครบ้างที่ทำงานจากทางไกล เพื่อให้มีข้อมูลเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ นอกจากนี้ควรขอข้อมูลจากทีมต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานทั้ง 2 กลุ่ม รวมถึงสำรวจมุมมองต่อสถานการณ์การทำงานในปัจจุบันของพนักงานด้วย
การสำรวจความเห็นพนักงานทั้งหมดเป็นความคิดที่ดี ทำให้บริษัทเข้าใจให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า การทำงานจากที่บ้านทำให้พนักงานมีประสิทธิผลและมีความสุขหรือไม่ มีปัญหาใดที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ในการกลับเข้าสำนักงาน เช่น การเดินทางที่ยาวนาน การมีภาระดูแลเด็ก พ่อแม่ที่สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยง ฯลฯ อีกทั้งบริษัทต่างๆ ควรพยายามทำความเข้าใจว่าสิ่งจูงใจใดที่จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ให้พนักงานได้
3. ให้ “สิทธิพิเศษ” ที่ไม่ใช่แค่น้ำดื่มฟรี อาหารฟรี หรือ Happy Hour
โยลันดา เอ็ม. โอเวนส์ อธิบายเพิ่มอีกว่า พนักงานหลายคนต้องการสิ่งจูงใจที่มากกว่า “น้ำฟรี อาหารฟรี และเวลาพักเบรก” เพื่อดึงดูดให้พวกเขากลับเข้าทำงานที่สำนักงาน โดยบริษัทสามารถพิจารณาผลประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมให้แก่พนักงาน เช่น ช่วยเหลือค่าเดินทาง, มอบเงินอุดหนุนการดูแลบุตรและผู้สูงอายุ, บริการนวดบำบัด, แก้ออฟฟิศซินโดรม, เปิดพื้นที่ให้พนักงานขายสินค้าหารายได้เสริม เป็นต้น
4. ลงทุนเรื่องพื้นที่ทำงานให้มากขึ้น ไม่ใช่บังคับเข้าออฟฟิศเพื่อมาประชุมออนไลน์
มีบางกรณีพบว่าบริษัทออกกฎบังคับให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ แต่พื้นที่ทำงานในสำนักงานมีไม่เพียงพอต่อจำนวนพนักงาน และอาจเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดเมื่อพนักงานต้องเข้าออฟฟิศเพียงเพื่อมานั่งประชุมออนไลน์กับเพื่อนร่วมงานในสถานที่อื่น
นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัท (ที่อยากให้พนักงานกลับเข้าสำนักงาน) จำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่การลงทุนพื้นที่ทำงานใหม่ให้กว้างขวางมากขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันเพิ่มเติม ถ้าบริษัทขอให้พนักงานเพียงแค่กลับมานั่งในห้องเล็กๆ ของพวกเขา นั่นไม่ใช่การทำงานแบบโต้ตอบกันต่อหน้าจริงๆ
5. หากบริษัทยังไม่มีเหตุผลที่เหมาะสม อย่าเพิ่ง ‘ออกกฎข้อบังคับ’
ก่อนที่บริษัทของคุณจะประกาศ “กฎข้อบังคับให้พนักงานกลับเข้าสำนักงาน” เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง จำเป็นต้องพิจารณาเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจครั้งนี้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลด้านผลกระทบทางธุรกิจ, Productivity ของพนักงาน, วัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน หรือเป็นเพียงการตัดสินใจโดยพลการมากกว่ากัน นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ควรประเมินด้วยว่า นโยบายทั่วทั้งองค์กรเหมาะสมหรือไม่ หรือควรนำคำสั่งในสำนักงานมาใช้กับหน้าที่บางอย่างเท่านั้น
-------------------------------------------