ประวัติศาสตร์ ‘มินต์ช็อก’ จากเครื่องดื่มโดนบูลลี สู่เมนูที่จะยึดครองโลก

ประวัติศาสตร์ ‘มินต์ช็อก’ จากเครื่องดื่มโดนบูลลี สู่เมนูที่จะยึดครองโลก

ทำความรู้จัก “มินต์ช็อก” หรือ “มินต์ช็อกโกแลต” ที่กำลังเป็นกระแสในไทย จากเครื่องดื่มในยุกวิกตอเรีย สู่ไอศกรีมในงานแต่ง “เจ้าหญิงแอนน์” และกลายเป็นเมนูที่จะยึดครองโลกในวันนี้ แม้จะคนบางส่วนจะบอกว่ารสชาติจะเหมือน “ยาสีฟัน” ก็ตาม

ตอนนี้คงไม่เครื่องดื่มไหนมาแรงไปกว่า “มินต์ช็อกโกแลต” หรือที่คนไทยเรียกย่อ ๆ ว่า “มินต์ช็อก” อีกแล้ว โดยกระแสความแรงนี้มาจาก “อุ๊งอิ๊ง - แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่ชอบดื่มช็อกโกแลตมินต์เย็นจนกลายเป็นเครื่องดื่มประจำตัว ทำให้ชาวโซเชียลหลายคนแห่ตามไปลองลิ้มรสของเครื่องดื่มนี้ จนกลายเป็นกระแส “มินต์ช็อกฟีเวอร์” 

แม้ว่าก่อนหน้านี้ทวิตเตี้ยนไทยต่างเคยออกโรงปกป้องมินต์ช็อกโกแลตมาอยู่เรื่อย ๆ เพราะคนมักบูลลีมินต์ช็อกว่ามีรสชาติเหมือนยาสีฟัน ซึ่งก็ยากที่จะเถียงเนื่องจากมินต์ถูกใช้เป็นส่วนประกอบของยาสีฟันมาตั้งแต่ในช่วงปลายทศวรรษ 1800 

คาทาลีนา ลี ผู้อำนวยการระดับโลกของ Colgate เปิดเผยว่า “คนชอบมินต์มากกว่าส่วนผสมอื่น ๆ ในยาสีฟันเพราะสารเมนทอลในมินต์ช่วยหลอกสมองทำให้คนเรารู้สึกว่ามีน้ำแข็งอยู่ในปาก เป็นรสชาติที่ทำให้รู้สึกสดชื่นและสะอาดไปพร้อมกัน”

 

  • มินต์ช็อกมาจากไหน

ช็อกโกแลตมินต์” รสชาติที่เรารู้จักกันดี มีปรากฏมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16 นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชาวยุโรปเป็นผู้ริเริ่มนำเอาช็อกโกแลตมาผสมกับมินต์หลังจากที่ชาวยุโรปเริ่มบุกล่าอาณานิคมในทวีปอเมริกาใต้ 

เดิมทีแล้ว ช็อกโกแลตเป็นเครื่องดื่มแบบร้อนที่ดื่มกันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมชาวมายันและชาวแอซเท็ก ชาวเผ่าดั้งเดิมของในทวีปอเมริกาใต้ แต่ด้วยเมล็ดโกโก้มีสีเข้มและรสขม ทำให้ชาวยุโรปที่เข้าไปสำรวจทวีปนำส่วนผสมอื่น ๆ ใส่ลงในเครื่องดื่ม เพื่อทำให้ช็อกโกแลตมีรสชาติหวานขึ้น โดยมักจะใส่สมุนไพรและเครื่องเทศที่หาได้ง่ายในพื้นที่ เช่น อบเชย หรือ มินต์ เพื่อเพิ่มรสชาติ จนเกิดเป็น “ช็อกโกแลตมินต์” ขึ้นมา

ต่อมา ในยุควิกตอเรีย ความนิยมของช็อกโกแลตมินต์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ร้านขนมเริ่มผลิตขนมช็อกโกแลตรสมินต์ขึ้น จนกระทั่งปี 1940 บริษัทขนมอเมริกันได้คิดค้นขนม York Peppermint Pattie ขนมทรงกลมเคลือบด้วยดาร์กช็อกโกแลตสอดใส่ครีมรสเปปเปอร์มินต์ ไม่นานหลังจากนั้น ช็อกโกแลตรสมินต์ก็กลายเป็นขนมที่ชาวอเมริกันโปรดปราน

ในปี 1973 มินต์ช็อกถูกยกระดับขึ้นอีกครั้งเมื่อ มาริลีน ริกเก็ตต์ นักเรียนทำอาหารจากอังกฤษลงแข่งขันทำของหวานสำหรับงานพิธีเสกสมรสของ “เจ้าหญิงแอนน์” ด้วยเมนู “ไอศกรีมมินต์ช็อกโกแลตชิป” ในชื่อว่า “มินต์รอยัล” (Mint Royal) แล้วก็ชนะ จนได้เสิร์ฟในงานแต่งงานครั้งนั้น กลายเป็นที่พูดถึงและตามหาเมนูนี้ จนมีคนนำไปทำขายทั่วโลก จนกลายเป็นอีกหนึ่งในรสชาติไอศกรีมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอีกด้วย

ผลจากความนิยม สมาคมผู้ค้าขนมลูกกวาดแห่งชาติของสหรัฐ ได้กำหนดให้วันที่ 19 ก.พ. ของทุกปี เป็นวันช็อกโกแลตมินต์แห่งชาติ (National Chocolate Mint Day) โดยเฉลิมฉลองด้วยการลองขนมที่มีรสช็อกโกแลตมินต์ หรือเพิ่มมินต์ในเครื่องดื่ม

 

  • รสชาติที่ไม่ชอบก็เกลียดไปเลย

จากผลสำรวจของ Yougov บริษัทสำรวจข้อมูลการตลาด เมื่อปี 2021 พบว่าชาวอเมริกัน 39% ชื่นชอบไอศกรีมรสชาติมินต์ช็อกโกแลตชิป รั้งอันดับ 5 ของรสชาติไอศกรีมที่ชาวอเมริกันชอบมากที่สุด โดยส่วนใหญ่ของผู้ที่หลงใหลในมินต์ช็อกนี้จะเป็นผู้หญิงผิวขาววัยกลางคนมีรายได้มากกว่า 80,000 ดอลลาร์

สอดคล้องกับ ผลการสำรวจของสมาคมผลิตภัณฑ์อาหารจากนมนานาชาติ หรือ IDFA ร่วมกับ Research America พบว่า มินต์ช็อกชิป ติด 1 ใน 5 อันดับแรกรสชาติที่ผู้ผลิตแปรรูปไอศกรีมรายใหญ่ระดับประเทศและระดับภูมิภาค จนไปถึงร้านขายไอศกรีมขนาดเล็ก ๆ ในสหรัฐผลิตมากที่สุด 

แต่ที่น่าแปลกคือ จากการสำรวจข้างต้นกลับพบว่า มินต์ช็อกโกแลตชิปกลับไม่กลับไม่ติด 1 ใน 5 อันดับรสชาติที่ขายดีที่สุดในสหรัฐ แสดงให้เห็นว่า มีคนเข้าไม่ถึงความอร่อยของมินต์ช็อกอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ เลย คือ รสชาติเหมือนกับกินยาสีฟัน และเห็นว่าทั้ง 2 ส่วนผสมไม่เข้ากัน ไม่ควรมาอยู่ด้วยกัน

แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ขยันออกผลิตภัณฑ์ขนมใหม่ ๆ ที่มีรสชาติมินต์ช็อกโกแลตก็ตาม เช่น บิสกิตแท่ง, ขนมรูปปลา หรือ ไทยากิ, โมจิ หรือขนาดเนยก็ยังมีรสมินต์ช็อกมาแล้ว แต่ผลสำรวจของ สมาคมศึกษารสชาติและกลิ่นแห่งญี่ปุ่น กลับพบว่า มีคนไม่ชอบมินต์ช็อกโกแลตสูงถึง 48.5% ขณะที่คนที่ชอบมีเพียง 36% ส่วนที่เหลือ 15.5% ระบุว่าเฉย ๆ ไม่ได้ชอบแต่ก็ไม่เกลียด

โคกิ มิซูโนะ ผู้ทำการสำรวจในครั้งนี้ตั้งข้อสังเกตว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ชอบรสชาติของช็อกโกแลตมินต์นั้นมาจาก วัฒนธรรมอาหารของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะมีรสชาติที่เข้มข้น อย่างเช่น ทาโกะยากิและโอโคโนมิยากิที่มีซอสรสหวานราดอยู่ด้านบน ซึ่งเป็นรสชาติที่จะอบอวลติดอยู่ในปากเป็นเวลานาน ต่างจากมินต์ช็อกที่มีรสชาติไม่แรงและนุ่มนวลกว่า แถมรสชาติยังจากหายไปอย่างรวดเร็วอีก จึงทำให้ชาวญี่ปุ่นไม่ค่อยอินกับมินต์ช็อกมากนัก

ประวัติศาสตร์ ‘มินต์ช็อก’ จากเครื่องดื่มโดนบูลลี สู่เมนูที่จะยึดครองโลก

  • มินต์ช็อกคิดจะครองโลก

แม้ว่าไทยจะกำลังอินกับเครื่องดื่มมินต์ช็อก แต่ก็ต้องหลีกทางให้กับเกาหลีใต้ ประเทศที่มีผู้คนคลั่งไคล้มินต์ช็อกอย่างหนัก ถึงขั้นเกิดคำศัพท์ใหม่ “Minchodan” (มินโชดัน / 민초단) ย่อมาจาก "민초코가 세상을 지배한다" แปลว่า “มินต์ช็อกโกแลตครองโลก” ขึ้นมา แถมยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมาเอาใจสาวกมินต์ช็อกอย่างต่อเนื่อง ทั้งขนมต่าง ๆ ที่หลายแบรนด์พาเหรดกันออกมาไม่หยุด ไปจนถึง โซจู เครื่องดื่มประจำชาติของเกาหลีใต้ ซึ่งขายดีสุด ๆ 3 สัปดาห์ขายไปได้เกิน 1 ล้านขวด ลามไปถึงแยมมินต์ช็อก ยาสีฟันรสมินต์ช็อก 

รวมถึงวงการอาหารก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน กระโดดเข้าร่วมวงการมินต์ช็อกกับเขาด้วย สร้างสรรค์เมนูมินต์ช็อกเลิฟเวอร์ได้ลองเลือกซื้อมากมาย (ซึ่งบางอย่างก็อาจแปลกจนไม่กล้ากิน) 

มีทั้ง รามยอนรสช็อกโกแลตมินต์ ทงคัตสึรสช็อกโกแลตมินต์ ไข่ม้วนรสช็อกโกแลตมินต์ ไก่ทอดรสช็อกโกแลตมินต์ มินต์ช็อกเบอร์เกอร์ ขณะที่ KFC ก็มีซอสดิปรสมินต์ช็อกไว้ให้จิ้มกับไก่ทอดอีกด้วย ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าเมนูมินต์ช็อกจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน 

ประวัติศาสตร์ ‘มินต์ช็อก’ จากเครื่องดื่มโดนบูลลี สู่เมนูที่จะยึดครองโลก

ที่มา: DeseretHotel ChocolatReader's DigestSora News24The Kraze MagThe Wall Street Journal