'วันไหว้ครู 2566' ไม่ใช่ 'วันครู' เช็กความแตกต่างที่นักเรียนต้องรู้
อย่าสับสน! "วันไหว้ครู" ไม่ใช่ "วันครู" เนื่องใน "วันไหว้ครู 2566" ชวนนักเรียนนักศึกษาทั่วไทย มาเช็กความแตกต่างระหว่างวันสำคัญทั้งสองวันดังกล่าว
ใกล้ถึง "วันไหว้ครู 2566" กันแล้วในวันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2566 นี้ แต่เชื่อว่าคงมีหลายคนที่ยังสับสนระหว่าง "วันไหว้ครู" กับ "วันครู" ซึ่งทั้งสองวันดังกล่าว ไม่ใช่วันเดียวกัน! แม้จะมีความสำคัญต่ออาชีพครูเหมือนกัน แต่อาจจะเป็นคนละมุมคนละบริบท
กรุงเทพธุรกิจ ชวนเช็กความแตกต่างระหว่าง "วันไหว้ครู" กับ "วันครู" ดังนี้
1. "วันไหว้ครู" vs "วันครู" กำหนดวันที่แตกต่างกัน
สำหรับ "วันครูแห่งชาติ" เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2488 ภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยได้มีการกำหนดให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็นวันครูแห่งชาติ จนเริ่มมีการจัดกิจกรรมขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 2500 ณ กรีฑาสถานแห่งชาติ ประเทศไทย และจัดต่อเนื่องมาทุกปี ซึ่งในวันดังกล่าวผู้ที่มีอาชีพข้าราชการครูจะต้องไปร่วมกิจกรรมของทางราชการ ตามหน่วยงานต้นสังกัดที่กำหนดไว้ โดยจะมีพิธีการต่างๆ และมีการแจกจ่ายอนุสรณ์ที่ช่วยในการระลึกถึงความสำคัญของครูหลายอย่าง เช่น หนังสือประวัติครูผู้ทำความดี หนังสือที่ระลึกวันครู เป็นต้น
ส่วน "วันไหว้ครู" นั้น ไม่ได้มีการกำหนดวันที่แน่นอนอย่างเป็นทางการ แต่ส่วนใหญ่จะยึดเอาวันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมิถุนายนในแต่ละปีเป็นวันไหว้ครู สำหรับปีนี้ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน 2566 โดยมีพิธีสำคัญคือ พิธีไหว้ครู โดยนักเรียนนักศึกษาจะจัดทำ "พานไหว้ครู" มามอบให้แด่ครูผู้สอนพร้อมเอ่ยบทสรภัญญะบูชาครู (บทปาเจรา)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. บริบทและวัตถุประสงค์ "วันครู" และ "วันไหว้ครู" ก็แตกต่างกัน
สำหรับวัตถุประสงค์ที่ภาครัฐได้กำหนด "วันครูแห่งชาติ" ขึ้นมานั้น ก็เพื่อยกย่องเชิดชูวิชาชีพครู ผู้มีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้เพื่อสร้างคนในประเทศให้มีคุณภาพ รวมถึงเพื่อให้เกิดความสามัคคีในวงการอาชีพครู สร้างความเข้าใจอันดีงามต่ออาชีพครู โดยมุ่งหวังให้เกิดการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของครู เพื่อให้เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีศักยภาพที่ดี
ส่วน "วันไหว้ครู" ถือเป็นเอกลักษณ์ทางประเพณี และวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของชาวไทย แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลที่มาที่แน่ชัดว่า “วันไหว้ครู” เกิดขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพิธีที่สืบเนื่องมาจาก "วันครูแห่งชาติ" ที่อาจมีพิธีการในบางช่วงบางตอนที่ครูรุ่นใหม่ๆ ได้ทำพิธีไหว้เหล่าคณาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรผลิตครู และถ่ายทอดวิชาชีพครูให้แก่ตนเองสืบต่อมา
ต่อมาพิธีดังกล่าวก็ถูกเผยแพร่ออกไปยังสถานศึกษาต่างๆ ด้วย โดยบริบทหลักๆ คือ เป็นวันที่ฝ่ายนักเรียนนักศึกษาอยากตอบแทนฝ่ายพระคุณครูบาอาจารย์ด้วยการประดิษฐ์ "พานไหว้ครู" และ "กรวยดอกไม้ไหว้ครู" นำไปมอบให้แด่คุณครูผู้สอนที่ตนเคารพรัก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเคารพ และการตอบแทนคุณที่ท่านช่วยอบรมสั่งสอนวิชาความรู้ต่างๆ ให้นักเรียนนำไปประกอบสัมมาอาชีพเลี้ยงตัวเองได้
3. ดอกไม้สัญลักษณ์ "วันครู" vs "วันไหว้ครู"
สำหรับสัญลักษณ์ในวันครูแห่งชาตินั้นก็คือ "ดอกกล้วยไม้" ซึ่งถูกกำหนดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2539 โดยมีความหมายแฝงถึงการเอาใจใส่ และการผลิบานที่งดงาม
ส่วนสัญลักษณ์วันไหว้ครู มีทั้งดอกไม้และสิ่งที่สื่อความหมายหลายอย่าง ได้แก่
- ดอกมะเขือ : แสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของศิษย์ พร้อมรับความรู้ต่างๆ จากผู้สอน เนื่องจากดอกมะเขือ เวลาบานจะโน้มคว่ำลงพื้นดิน
- ดอกเข็ม : แสดงถึงสติปัญญาที่หลักแหลม เป็นปริศนาธรรมว่า ครูต้องปลูกฝังความคิดให้นักเรียนฉลาดหลักแหลม เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้
- หญ้าแพรก : แสดงถึงความเข้มแข็งอดทน แม้จะถูกเหยียบย่ำก็ไม่ตาย พอได้รับน้ำฝน (เปรียบกับการได้รับโอกาส) ก็จะแตกยอดเจริญงอกงาม อีกทั้งแสดงถึงความเจริญงอกงามของสติปัญญาอีกด้วย
- ข้าวตอก : แสดงถึงความมีระเบียบวินัย มีความมุ่งมั่น เปรียบเหมือนดั่งครูที่ให้ทั้งการศึกษาและอบรมบ่มนิสัยควบคู่กันไป เหมือนข้าวตอกที่ต้องทั้ง “อบให้สุก และรมให้หอม”