มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ คัดเลือกนักแสดง ร่วมการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ คัดเลือกนักแสดงเพื่อเข้าร่วมการแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน "กุมภกรรณทดน้ำ" เพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดีด้านการแสดงโขน อันเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้มีโอกาสฝึกฝีมือกับผู้เชี่ยวชาญ และศิลปินแห่งชาติ
ด้วย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กำหนดจัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2566 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมอีกวาระหนึ่ง
และในครั้งนี้ คณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้จัดให้มีการคัดเลือกเยาวชนสำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อคัดเลือกนักแสดงสำหรับการแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” เพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดีด้านการแสดงโขน อันเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้มีโอกาสฝึกฝีมือกับผู้เชี่ยวชาญและศิลปินแห่งชาติ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้รักและสืบสานในการแสดงโขน สมดังพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงสืบไป
โครงการคัดเลือกนักแสดงสำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ”
เปิดรับสมัคร
เยาวชนรุ่นใหม่ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่มีความสามารถในการแสดงโขนทั่วประเทศ ด้านตัวละคร โขนยักษ์ โขนลิง โขนพระ ละครนาง ละครพระ ตั้งแต่แต่วันที่ 15 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566
คุณสมบัติ
- ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถพื้นฐานในการแสดงโขนเป็นอย่างดี
- เป็นผู้มีบุคลิกภาพดีเหมาะสมกับการแสดงโขน มีอายุ 15 – 25 ปี
- กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาหรืออุดมศึกษา
- มีทัศนคติที่ดีต่อการแสดงโขน
- ต้องไม่อยู่ในระหว่างการฝึกประสบการณ์วิชาชีพหรือการฝึกสอน
สำหรับการคัดเลือกนักแสดง ในปี 2566 ได้รับการตอบรับในการเข้าร่วมคัดเลือกนักแสดงเป็นจำนวนมาก โดยมีกำหนดทำการคัดเลือกนักแสดง เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (ศาลายา) และส่วนภูมิภาค ในวันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. ณ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
การคัดเลือกนักแสดง
พิจารณาจากความเหมาะสมของสรีระ ความสามารถพื้นฐานทั่วไปทางด้านนาฏศิลป์และเชาว์ปัญญาในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการแสดง เน้นทักษะความรู้สามารถตามบทบาทของตัวละคร รวมถึงความเหมาะสมในการแสดงแต่ละบทบาทในแต่ละประเภท ละครพระ – ละครนาง ประกอบด้วย ท่ารำพื้นฐานรำหน้าพาทย์ การแสดงอิริยาบถต่างๆ ที่จำเป็นในการแสดง โขนพระ โขนยักษ์และโขนลิง ประกอบด้วย ท่ารำพื้นฐาน รำหน้าพาทย์ รำตรวจพล รำตีบทประกอบเพลงร้องและคำพากย์เจรจา กระบวนท่ารบและขึ้นลอย
ความเป็นมาของการจัดแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ว่า ทุกวันนี้ประชาชนชาวไทยไม่ใคร่มีโอกาสได้ชมการแสดงโขน เนื่องจากการจัดการแสดงโขนแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุมผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโขน และงาน หัตถศิลป์แขนงต่าง ๆ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่สำหรับใช้ในการแสดงโขน โดยทรงกำชับให้ยึดถือรูปแบบเครื่องแต่งกายโขนแบบโบราณแต่มีความคงทน และสวยงามยิ่งขึ้น
เมื่อการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนสำเร็จเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนได้จัดการแสดงโขนชุด “พรหมาศ” เป็นครั้งปฐมทัศน์ เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา ในเดือน ธันวาคม 2550 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับความชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก พร้อมกับมีเสียงเรียกร้องให้จัดการแสดงซ้ำ จนได้เปิดแสดงอีกเป็นครั้งที่สองในเดือนมิถุนายน 2552
แต่แม้กระนั้น ก็ยังมีผู้ที่พลาดการชมอีกเป็นจำนวนมากที่เรียกร้องให้จัดการแสดงขึ้นใหม่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปลาบปลื้มพระราชหฤทัย ที่การแสดงโขนประสบความสำเร็จเกินคาด ทั้งได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย ที่คนหนุ่มสาว และเด็ก ๆ พากันจูงผู้เฒ่า ผู้แก่ในครอบครัวไปชมโขนกันอย่างเนืองแน่น อันเป็นภาพที่น่าชื่นใจ อย่างยิ่ง จึงมีพระราชเสาวนีย์ ให้จัดการแสดงโขนต่อเนื่องกันทุกปี
ในขณะเดียวกันคณะกรรมการ จัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้สนองพระราชเสาวนีย์ที่ทรงส่งเสริมนักแสดงโขนที่เป็น คนรุ่นใหม่ ให้มีโอกาสได้ฝึกฝีมือและร่วมแสดงโขน คณะกรรมการจึงได้จัดให้มีการคัดเลือกนักแสดงโขน ที่เป็นนักแสดงรุ่นใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับการตอบรับจากเยาวชนที่สนใจในการแสดงโขนเป็นอย่างดี และมีการจัดโครงการคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่ในทุกครั้งที่จัดการแสดงโขนของมูลนิธิ ส่งเสริมศิลปาชีพฯ
ในปี 2566 เป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทยอีกวาระหนึ่ง เนื่องจากวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 71 พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จึงร่วมเฉลิมฉลอง โอกาสมหามงคลนี้ ด้วยการจัดแสดงโขนตอน “กุมภกรรณทดน้ำ”
โดยยึดแนวบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จับตอนตั้งแต่กุมภกรรณผู้หลงผิด หลงเชื่อคำยุยงของทศกัณฐ์ผู้เป็นพี่ให้มาขัดขวางกองทัพพระราม แท้จริงแล้วกุมภกรรณเป็นยักษ์ที่มีคุณธรรม ต่อมากุมภกรรณสำนึกได้ โดยก่อนตายได้สั่งสอนพิเภกให้รับราชการกับพระรามให้ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต การแสดงในครั้งนี้ จึงเป็นข้อคิดให้ทุกคน มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ ซื่อตรง และรู้รักสามัคคี
ด้านกำหนดการคัดเลือกนักแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “กุมภกรรณทดน้ำ” มีเยาวชน นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมทำการคัดเลือกเป็นนักแสดงจำนวนมาก
- ส่วนกลาง เขตกรุงเทพและปริมณฑล
คัดเลือกในวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2566 ณ อาคารคณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (ศาลายา) ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 16.00 น. โดยเริ่มการคัดเลือกนักแสดงตามสาขาที่สมัคร สาขาละคร ตัวพระ - นาง ณ ห้อง 203 ชั้น 2 อาคารคณะศิลปศึกษา สาขาโขน ตัวพระ ยักษ์ ลิง ณ ห้อง 405 ชั้น 4 อาคารคณะศิลปศึกษา
- ส่วนภูมิภาค
คัดเลือกในวันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. – 16.00 น. ณ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง โดยเริ่มการคัดเลือกนักแสดงตามสาขาที่สมัคร สาขาละคร ตัวพระ - นาง ณ ห้องเรียนนาฏศิลป์ไทย ชั้น 4 สาขาโขน ตัวพระ ยักษ์ ลิง ณ ห้องเทพสโมสร ชั้น 5 อาคารเอนกประสงค์ วิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง
สำหรับการเลือกคัดเลือกนักแสดงโขน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ จะทำการประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือก ในวันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2566 ผ่านช่องทางเว็บไซต์ออนไลน์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ต่อไป