‘กินคนเดียว’ ทำอะไรคนเดียว ไม่แปลก ใคร ๆ ก็ทำ แถมเป็นเทรนด์ฮิตทั่วโลก
“กินคนเดียว” ไม่ใช่เรื่องแปลก ทำความรู้จัก “โอฮิโทริซามะ” เทรนด์ไปไหนมาไหนคนเดียวจากญี่ปุ่น เหตุจากการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพสังคมและวิถีชีวิต จนการเป็นหนึ่งตลาดที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี
Key Points:
- “โอฮิโทริซามะ” เทรนด์การกินข้าวคนเดียวในญี่ปุ่นกำลังมาแรงในทุกเพศทุกวัย และมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นทุกปี
- เทรนด์นี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น และต้องการเวลาส่วนตัว
- นักมานุษยวิทยาแนะนำว่า หากอยากออกไปกินข้าวคนเดียวนอกบ้าน ควรทำเลย ไม่ควรทำให้ "การใช้ชีวิตคนเดียว" เป็นเรื่องผิดปรกติ
ในปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นคนไปกินคนเดียว ดูหนังคนเดียว เดินช้อปปิ้งตามลำพัง แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะรวบรวม “ความกล้า” จนสามารถไปไหนคนเดียว เห็นได้จากการตั้งกระทู้ถามตามเว็บบอร์ดหรือแลกเปลี่ยนความเห็นในทวิตเตอร์ว่า “ไปเที่ยวคนเดียว กินบุฟเฟ่ต์คนเดียว แปลกไหม ?”
ส่วนใหญ่ของคนที่มีคำถามเหล่านี้ เป็นเพราะมองว่าร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ เป็นสถานที่สังสรรค์สำหรับทำกิจกรรมกันหลายคน และกลัว “คนอื่น” จะครหาว่า “ไม่มีคนคบ” แต่ความจริงแล้ว “การทำอะไรคนเดียว” กำลังเป็นที่นิยมในทั่วทุกมุมโลก
- โอฮิโทริซามะ กินคนเดียวหลังเลิกงาน
เริ่มต้นกันที่ ญี่ปุ่น มีคำศัพท์ที่เรียกว่า “โอฮิโทริซามะ” (Ohitorisama / お一人様) ซึ่งมีความหมายว่า ตัวคนเดียว ซึ่งใช้ได้หลายบริบท ทั้งเป็นคนโสด คนที่หย่าร้าง คนรักอิสระ หรือแม้แต่ลูกค้าที่มาคนเดียว ซึ่งในที่นี้ใช้หมายถึงคนที่ชอบไปไหนมาไหนคนเดียว
จากการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพสังคมและวิถีชีวิต ประกอบกับนิสัยที่ไม่ชอบทำอาหารกินเองของคนญี่ปุ่น ทำให้คนจำนวนมากออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน หรือบางทีแค่ต้องการจิบเครื่องดื่มเย็น ๆ สักแก้วคนเดียวหลังเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งวัน ฟังดูมันอาจจะดูเศร้าสำหรับใครบางคน แต่หลายคนกลับ “สบายใจ” ที่ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองตามลำพังอย่างมีความสุขโดยไม่ถูกรบกวนและไม่รบกวนผู้อื่น
อันที่จริงพฤติกรรมเหล่านี้มักจะพบได้ในกลุ่มพนักงานออฟฟิศชายวัยกลางคนขึ้นไปที่ไม่มีครอบครัว แต่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องปรกติที่พบเห็นได้ทั่วไปในทุกเพศทุกวัยจนกลายเป็นเทรนด์
นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว อัตราการเกิดที่ลดลง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจำนวนของผู้ที่แยกออกมาอยู่อาศัยตามลำพัง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด โอฮิโทริซามะขึ้นมาทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม หลายคนเลือกใช้โอกาสนี้ทำความกับความรู้จักกับเพื่อนใหม่ ไม่ว่าการพูดคุยกับ “มาสเตอร์” ซึ่งเป็นคำเรียกเจ้าของร้านอาหารและบาร์เล็ก ๆ ในท้องถิ่น ที่พร้อมจะโอภาปราศัยกับลูกค้าเสมอ หรือจะลองทำความรู้จักกับคนที่นั่งข้าง ๆ ที่มาคนเดียวเหมือนกัน ซึ่งเหล่าร้านอาหารในญี่ปุ่นต่างให้การตอบรับกับกระแสโอฮิโทริซามะเป็นอย่างดี
ร้านอาหารหลายเห็นมองเห็นโอกาสที่จะสร้างรายได้จากลูกค้ากลุ่มนี้ ด้วยการสร้างที่นั่งบนเคาท์เตอร์และมีชุดอาหารราคาพิเศษสำหรับลูกค้าที่มาคนเดียวโดยเฉพาะ ตามรายงาน ที่เผยแพร่ในปี 2020 จากสถาบันวิจัยยาโน พบว่ากลุ่มโอฮิโทริซามะสร้างรายได้ในปี 2019 สูงถึง 7.9 ล้านล้านเยน ใน 15 ประเภท จาก 13 อุตสาหกรรม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่ทำรายได้ในตลาดไป 6.8 ล้านล้านเยน
ขณะที่การสำรวจในปี 2020 โดย Cross Marketing บริษัทสำรวจการตลาด โดยสอบถามกลุ่มตัวอย่าง 1,100 คนทั่วประเทศ อายุ 20-69 ปี แบ่งเป็นชายจำนวน 550 คน และหญิง 550 คน พบว่า การรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่ทำคนเดียวมากที่สุด โดยการไปคาเฟ่เป็นกิจกรรมที่กลุ่มตัวอย่างนิยมไปคนเดียวมากที่สุดที่ 49.6% แต่หากแยกตามเพศแล้ว จะเห็นว่าผู้ชาย 63.1% นิยมไปกินราเมนคนเดียว ส่วนผู้หญิง 58.9% มักจะไปคาเฟ่ตามลำพัง
คนญี่ปุ่นนิยมสังสรรค์รวมกันเป็นกลุ่มเสมอ จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจไม่น้อยที่วิถีชีวิตแบบปัจเจกชนได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ปรากฏการณ์ โอฮิโทริซามะ อาจจะเป็นการแสดงออก (แบบอ้อม ๆ) ของชาวญี่ปุ่น ที่ต้องการประกาศว่า พวกเขาต้องการ “เวลาส่วนตัว” ที่ฝังรากลึกอยู่ที่ไหนสักแห่ง
- เทรนด์ “กินคนเดียว” มาแรงทั่วโลก
เทรนด์การกินอาหารคนเดียวไม่ได้มีอยู่แค่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ร้านอาหารในยุโรปเองก็เริ่มปรับตัว จัดโซนโต๊ะอาหารสำหรับผู้ที่มารับประทานอาหารคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นฟาสต์ฟู้ด หรือแม้แต่ร้านอาหารระดับมิชลินสตาร์ก็ตาม
โจเซ อันโตนิโอ กอนซาเลซ อัลคาตัด ศาสตราจารย์ภาควิชามานุษยวิทยาสังคมของคณะปรัชญาและอักษรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยกรานาดา ประเทศสเปน กล่าวว่า สังคมปัจจุบันเน้นความเป็นปัจเจกนิยม ต่างจากยุค 1900 ที่ได้รับอิทธิพลจาก “การปฏิวัติฝรั่งเศส” คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับมิตรภาพและชีวิตทางสังคม นิยมสังสรรค์กันในห้องจัดเลี้ยง หรือ รวมกลุ่มปาร์ตี้
อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมของชาติตะวันตกนั้น โดยปรกติแล้วหากมีการจองโต๊ะสำหรับที่เดียว นั่นหมายความว่า คนนั้นคือ “นักชิม” ที่จะมาประเมินอาหารของทางร้าน แต่ปัจจุบันการมานั่งกินข้าวคนเดียว ไม่ได้หมายความว่าคนเหล่านั้นจะทำงานจะมามอบดาวมิชลิน หรือรางวัลใด ๆ แต่เขาอาจจะแค่ต้องการมาดื่มด่ำกับบรรยากาศ และอาหารเลิศรสเท่านั้น
แนวโน้มการกินอาหารคนเดียวได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสื่อหลายสำนักเผยแพร่บทความเกี่ยวกับเคล็ดลับและคำแนะนำเพื่อความสุนทรีย์ในการรับประทานอาหารคนเดียว ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำร้านอาหารที่เหมาะสำหรับกินคนเดียว สูตรอาหารสำหรับทานคนเดียว หรือแม้กระทั่งควรทำอะไรระหว่างกินอาหาร
นอกจากนี้ การรับประทานอาหารเพียงลำพัง ยังเป็นการดูแลตนเองที่ดี เพราะคุณจะได้ใช้เวลานี้อยู่กับตัวเอง เพลิดเพลินไปกับอาหารจานโปรด โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนรสนิยมหรือตารางเวลาของตนเองให้ตรงกับคนอื่น เป็นการทำเพื่อตนเองอย่างแท้จริง ปล่อยให้อาหาร “เยียวยา” ทุกอย่าง
กิลเยร์โม ฟอร์ซ ศาสตราจารย์ภาควิชามานุษยวิทยาสังคมและจิตวิทยาสังคม คณะรัฐศาสตร์และสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยคอมพลูเทนส์ ในสเปน กล่าวว่า "หัวใจหลักของการเข้าวงการทำอะไรคนเดียวคือความกล้าของคุณ"
ฟอร์ซ ไม่ได้หมายถึงแค่การพลาดอาหารจานเด็ดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การดูหนัง ไปคอนเสิร์ต ไปงานอีเวนต์ต่าง ๆ รวมถึงอะไรก็ตามที่คุณอยากทำ คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก หากคุณไม่ได้ทำในสิ่งที่ต้องการ เพียงเพราะไม่มีคนไปด้วยเท่านั้น
สังคมของเราทุกวันนี้ ให้ความเคารพความเป็นส่วนตัวกันมากขึ้น ให้เกียรติกันมากขึ้น ไม่ได้จับจ้องหรือมีความคิดด้านลบเมื่อเห็นคนมารับประทานอาหารคนเดียว ถือว่าเป็นเรื่องปรกติในสังคม ดังนั้นหากคุณอยากจะทำอะไรตามลำพัง ก็ลงมือทำเลย ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ควรทำให้การใช้ชีวิตคนเดียวเป็นเรื่องผิดปรกติ
ที่มา: An-yal, BBC, ELPAIS, Newcast, South China Morning Post