อุปาทานหมู่? ‘เจน Z’ กลัวจน แห่ลงทุนตั้งแต่อายุ 20
ผลวิจัยพบชาว “เจน Z” เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุไม่ถึง 21 ปี เนื่องจากไม่อยากตกกระแสและต้องการใช้เงิน พร้อมหาความรู้เรื่องการเงิน และการลงทุนผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก
Key Points :
- ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่าชาวเจน Z ส่วนใหญ่เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุไม่เกิน 21 ปี เป็นเพราะกลัวตกเทรนด์
- ด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ลำพังแต่เงินเดือนอย่างเดียวไม่พอใช้ ชาวเจน Z จึงต้องหารายได้เสริมจากการลงทุน เพื่อให้มีเงินใช้
- คนเจน Zเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุนและทักษะทางการเงินผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก มากกว่าการถามคนในครอบครัว
วิบากกรรมชาว “เจน Z” หรือ Gen Z ที่กำลังพบหลายวิกฤติ ทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อยังไม่ผ่อนคลาย บวกับความยากและไม่แน่นอนในชีวิต ส่งผลให้หลายๆ คนหันมา “ลงทุน” เร็วกว่าคนรุ่นก่อน โดยเฉพาะใน “คริปโทเคอร์เรนซี” ที่แม้จะไม่ได้คึกคักเท่าเมื่อก่อน แต่ยังสามารถดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่สู่สนามได้เสมอ
และดูเหมือนว่าเหล่านักลงทุนจะมีอายุลดน้อยลงเรื่อย ๆ เห็นได้จากผลสำรวจล่าสุดที่ชี้ให้เห็นว่าเหล่าเจเนอเรชั่น Z ในหลายประเทศทั่วโลกต่างพากันเริ่มลงทุนจากตั้งแต่อายุไม่มาก ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการกลัวตกกระแส และต้องการนำเงินไปใช้จ่าย
- เจน Z ลงทุนเพราะเงินไม่พอใช้
การสำรวจล่าสุดโดย สถาบันซีเอฟเอ สถาบันให้บริการการศึกษาด้านการเงินและการลงทุน ร่วมกับ FINRA หน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมการเงิน ทำการสำรวจพฤติกรรมและแรงจูงใจในการลงทุนของกลุ่มชาวเจน X ชาวมิลเลนเนียล และกลุ่มเจน Z จำนวน 2,800 คนใน 4 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร และจีน ระหว่างเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2022
ผลการวิจัยพบว่า นักลงทุนวัยเจน Z อายุระหว่าง 18-25 ปี ในจีน มากถึง 60% ตัดสินใจลงทุนเพราะไม่อยากตกเทรนด์ หรือที่เรียกว่า FOMO (Fear of Missing Out) ขณะที่ สหรัฐ แคนาดา และสหราชอาณาจักรกว่า 40% ก็เริ่มลงทุนด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน
ปรากฏการณ์ FOMO ได้ส่งผลให้ เจน Z ทั่วโลก เริ่มต้นการลงทุนตั้งแต่ยังเด็ก โดยมากกว่า 80% ของ คนชาวเจน Z ในสหรัฐและสหราชอาณาจักรเริ่มลงทุนก่อนอายุ 21 ปี ขณะที่ชาวแคนาดาตามมาติด ๆ ที่ 79% ส่วนจีนอยู่ที่ 63%
หากมองดูในกลุ่มนักลงทุนที่เริ่มลงทุนตั้งแต่ก่อนอายุ 18 ปี พบว่า มีมากที่สุดในสหรัฐถึง 25% ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรและแคนาดาที่ 20% ส่วนในจีนนั้นมีเพียง 7% เท่านั้นที่เริ่มลงทุนก่อนอายุ 18 ปี
เมื่อถามถึงสาเหตุว่า ทำไมถึงคิดลงทุน พบว่า คนรุ่นเจน Z ในสหรัฐนิยมลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลและหุ้นรายตัวเป็นหลัก เพราะพวกเขาต้องการเงินไปใช้จ่าย โดย 61% ระบุว่าจะนำเงินไปใช้สำหรับท่องเที่ยวและพักผ่อน ขณะที่ 55% ระบุว่า เก็บสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึง รวมไปถึง เก็บไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ และซื้อความสะดวกสบายให้แก่ชีวิต
- เจน Z ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก
เนื่องจากเหล่าชาวเจน Z เติบโตมาพร้อมกับสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ต พวกเขาจึงเรียนรู้เกี่ยวกับการลงทุนและทักษะทางการเงินผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ถึง 48% โดยค้นหาข้อมูลจาก YouTube มากที่สุด ตามมาด้วย Instagram และ TikTok
ขณะที่ 47% ค้นหาข้อมูลการลงทุนจากเสิร์ชเอนจินต่าง ๆ และอีก 45% ปรึกษาผู้ปกครองและคนในครอบครัว
แม้ว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะไม่ได้ศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ หรือตามข่าวสารทางการเงินโดยตรง แต่ราว 68% ของพวกเขากังวลว่าอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น จะทำให้พวกเขาไม่มีเงิน จนไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้
สอดคล้องกับการสำรวจของ Deloitte บริษัทให้บริการตรวจสอบทางการเงิน ที่ทำการสำรวจกลุ่ม Gen Z และคนรุ่นมิลเลนเนียลกว่า 22,000 คนทั่วโลก พบว่ากว่าครึ่งที่เงินเดือนแทบไม่พอใช้ ทำให้พวกเขาต้องเลื่อนการตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิตออกไป ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน หรือการสร้างครอบครัว และต้องหาวิธีการประหยัดเงินให้ได้มากที่สุด (พร้อมช่วยให้สิ่งแวดล้อมไปในตัว) เช่น ซื้อเสื้อผ้ามือสอง หรือ ไม่ขับรถยนต์ส่วนตัว รวมถึงต้องมองหางานเสริมเพื่อให้พอใช้ในแต่ละเดือน
สำหรับงานเสริมที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มองหาจะเป็นงานที่ใช้เทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ขายสินค้าออนไลน์ บริการแชร์รถ รวมไปถึงการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี นั่นเอง
ที่มา: INSIDER