ฉลาดแล้วขยัน? ยิ่งขยันยิ่งบรรลัย | บวร ปภัสราทร
โบราณบอกไว้ว่า การงานมีโอกาสที่จะบรรลัยไปได้ เพราะโง่แล้วขยัน แต่เท่าที่พบเห็นกันในทุกวันนี้ หลายเรื่องที่มีแววว่าจะพังล้วนมาจากความขยันของคนที่ดูแล้วไม่น่าจะโง่
หลายเรื่องที่คนเหล่านี้ขยันทำจนเกิดความบรรลัยไปในหลายวงการ ต้องใช้ความฉลาด ใช้ไหวพริบ จึงจะทำให้เกิดเรื่องราวเหล่านั้นขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ความขยันที่นำไปสู่ความบรรลัยก็เกิดขึ้นได้ ฉลาดแล้วขยันก็สร้างให้พังได้เช่นกัน ไม่ใช่มีแค่โง่แล้วขยันอีกต่อไป
หากมองบนพื้นฐานของความปรารถนาดีต่อองค์กร ใครที่หวังดีกับองค์กรก็ต้องขยัน แต่องค์กรจะประสบความสำเร็จได้นั้น ตำราบอกไว้ว่าต้องมีเป้าหมายอนาคตที่ชัดเจน และสอดคล้องกับบริบทของตนเองและสภาพแวดล้อมรอบตัว
การขยันกระทำตามหนทางภายใต้บริบทเดิม ไม่ว่าจะมีวงจรคุณภาพ พีดีซีเอ ดีแค่ไหนก็ตาม หากบริบทเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เปลี่ยนไปมากกว่าที่เคยเปลี่ยน เปลี่ยนไปในทิศทางที่ไม่เคยเปลี่ยนมาก่อน ได้เกิด Disruption ขึ้นมา
การขยันกระทำตามหนทางเดิม จะกลายเป็นการพยายามทำคล้ายๆ เดิม โดยอาจมีการปรับปรุงบ้าง แต่หวังผลให้เกิดการงานที่มีประสิทธิผลภายใต้บริบทใหม่ ซึ่งนักปราชญ์ผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพเคยบอกไว้ว่าเป็นความพยายามที่ไร้ผล
ดังนั้น ก่อนจะขยันเรื่องใดให้ดูก่อนว่าวงการนั้นกำลังมีดิสรัปชันเกิดขึ้นอยู่หรือไม่ ดูว่า S-Curve ใหม่หน้าตาเป็นอย่างไร แต่อย่าไปดูแค่เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ดูไปที่พฤติกรรมของผู้คน ความคิดความเชื่อของคนในสังคมนั้นด้วยว่า ปรับเปลี่ยนไปอย่างไร
แล้วใช้ความฉลาดที่มีอยู่อย่างถูกทิศถูกทาง ความขยันบนความฉลาดนั้นจะนำมาสู่ประสิทธิผลอย่างแท้จริง
การหลงใหลในความสำเร็จดั้งเดิมที่ได้กระทำผ่านมา สร้างความลำเอียงให้ตนเองเชื่อว่า ความขยันของตนเองเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จนั้น ทำให้พยายามขยันไปในทุกเรื่องที่ตนเองเกี่ยวข้อง ขยันบนความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า ขยันแล้วความสำเร็จจะเกิดขึ้นกับองค์กร
เคยเดินแจกยาดม แจกพัดให้นักศึกษาในหอประชุมใหญ่ แจกยาดมช่วยนักศึกษาให้ฟื้นตัวจากอาการเป็นลมได้ถือเป็นความสำเร็จ เลยขยันเดินแจกยาดม แจกพัดจนกลายเป็นการสร้างความวุ่นวายในการประชุมใหญ่นั้น
ดังนั้น ไม่ว่าจะหวังดีมากน้อยแค่ไหน ให้ดูอีกมุมหนึ่งไว้ก่อนจะขยันว่า ถ้าขยันเรื่องนี้มากขึ้นแล้ว จะไปกระทบให้เรื่องอื่นที่มีส่วนสำคัญกับความสำเร็จในการงานนั้นได้รับผลกระทบในทางลบจากความขยันนั้นหรือไม่
ถ้าฉลาดจริง และขจัดความลำเอียงลงไปได้บ้าง คงเลือกได้ว่าอะไรบ้างที่ควรจะขยันน้อยลง
การงานโดยทั่วไปจะเป็นงานที่เชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่ เป็นระบบนิเวศของการงานที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันมากบ้างน้อยบ้าง พอเป็นคนฉลาดเรียนรู้งานได้เร็ว ประกอบกับเป็นคนขยัน
พอเห็นการงานที่คนอื่นทำในส่วนที่มีความสัมพันธ์กันทำได้ไม่ดีเท่าที่ตนเองคิดว่าควรจะเป็น ก็ขยันไปแนะนำบ้าง ขยันไปทำแทนเลยบ้าง
ถ้าไปแนะนำกันโดยที่คนรับคำแนะนำไม่อยากได้ ก็กลายเป็นการวิวาท การงานก็บรรลัยไปเพราะขยันแนะนำ ถ้ามีความสนิทสนมกันแล้วไปทำการงานนั้นแทน เพราะคิดว่าทำได้ดีกว่า การงานในภาพรวมจะได้ดีขึ้น
ทำไปนานๆ คนที่ควรจะเก่งงานนั้นก็กลับด้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะคนอื่นไปทำแทนเขาหมด อย่าขยันในส่วนที่ไม่ใช่หน้าที่การงานของตนมากเกินไป ขยันนอกหน้าที่มีโอกาสบรรลัยได้เท่าๆ กับความสำเร็จ
โดยปกติคนฉลาดพอจะดูออกแล้วว่าอะไรที่ขยันไปแล้ว ผลที่ได้จะแตกต่างไปจากเดิม แต่คนฉลาดอาจไม่ใช่เบอร์หนึ่งที่ตัดสินใจได้ว่าควรจะเดินหน้าแบบเดิมๆ ต่อไปอีกหรือไม่
คนฉลาดที่เป็นลูกน้องต้องทำตามลูกพี่ โง่แล้วขยันจะเป็นจริงในกรณีนี้ คือลูกพี่ไม่ฉลาด แล้วขยันสั่งการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็สั่งไปตามหลักกู ไม่ใช่หลักการ ไม่ใช่หลักวิชาการ
ดังนั้น ถ้าคนฉลาดคนใดอยู่ในที่ที่หลักกูมาก่อนหลักวิชาการ โมหะมาก่อนตรรกะ คนฉลาดคนนั้นควรจะฉลาดพอที่จะรับรู้ได้ว่า ควรจะขยันหรือไม่ขยันในเรื่องใด หากคนฉลาดคนนั้นยังเชื่อว่าตนเองยังฉลาดอยู่
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]