ราคาค่าตั๋ว 'รถไฟฟ้าสายสีเหลือง-สีชมพู' เปิดวิธีจ่ายแบบไม่เสียค่าแรกเข้า
อัปเดต! "รถไฟฟ้าสายสีเหลือง" และ "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" สรุปราคาค่าตั๋ว พร้อมย้อนดูสถานีที่เปิดให้บริการ และเปิด “วิธีแตะจ่ายให้คุ้ม” เมื่อเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายอื่นๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเดินทางในกรุงเทพฯ ที่สะดวกสบายและหลีกหนีรถติดได้ดีที่สุดก็คือการใช้บริการ “รถไฟฟ้า” โดยเฉพาะรถไฟฟ้า 2 สายน้องใหม่อย่าง “น้องเก๊กฮวย” (รถไฟฟ้าสายสีเหลือง) และ “น้องนมเย็น” (รถไฟฟ้าสายสีชมพู) ก็กำลังเป็นกระแสมาแรงในช่วงนี้ เพราะบางสายเริ่มทดลองให้บริการ ฟรี! แก่ชาวกรุงในเขตชานเมืองกันแล้ว คนบ้านไกลก็สามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
ล่าสุด.. ที่ประชุม ครม. ก็ได้เคาะราคาค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเหลือง อย่างเป็นทางการออกมาแล้ว กรุงเทพธุรกิจ ชวนอัปเดตข้อมูลสรุปประเด็นต่างๆ ของรถไฟฟ้าน้องใหม่ทั้ง 2 สายอีกครั้ง พร้อมเปิดฮาวทู “วิธีแตะจ่ายให้คุ้ม” เมื่อเดินทางจากรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เพื่อเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายอื่นๆ แบบไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าระหว่างสถานี!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ราคาค่าตั๋ว “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” 15-45 บาท เริ่มเก็บ 3 กรกฎาคมนี้
เมื่อวานนี้ (27 มิ.ย.66) มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติ “ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลือง” กำหนดให้อยู่ที่ 15-45 บาท เริ่มจะเก็บค่าบริการตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป หลังจากให้ประชาชนทดลองนั่งฟรีมาประมาณ 1 เดือน
โดยมีการประเมินว่าหลังเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ 6 เดือน จะทำรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท มาจากค่าเฉลี่ยของผู้โดยสาร 2 แสนคน-เที่ยวต่อวัน และค่าโดยสารเฉลี่ยต่อคนประมาณ 30 บาท
ปัจจุบัน “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” อยู่ในช่วงทดลองเดินรถเสมือนจริง โดยเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรี ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. มีผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในวันที่ 3 ก.ค. 66 จะต้องประเมินอีกครั้ง แต่เชื่อว่าปริมาณผู้โดยสารจะยังคึกคัก เพราะสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสายสีเหลืองและสายสีน้ำเงินได้อย่างสะดวกสบาย
- “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” เปิดให้บริการครบ 23 สถานีแล้ว ตั้งแต่ 20 มิ.ย.66
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดให้บริการครบทุกสถานี มาตั้งแต่ 20 มิ.ย.66 โดยให้บริการในเส้นทาง “รัชดา/ลาดพร้าว-สำโรง” ผ่าน 23 สถานี ได้แก่ ลาดพร้าว, ภาวนา, โชคชัย 4, ลาดพร้าว 71, ลาดพร้าว 83, มหาดไทย, ลาดพร้าว 101, บางกะปิ, แยกลำสาลี, ศรีกรีฑา, หัวหมาก, กลันตัน, ศรีนุช, ศรีนครินทร์ 38, สวนหลวง ร.9, ศรีอุดม, ศรีเอี่ยม, ศรีลาซาล, ศรีแบริ่ง, ศรีด่าน, ศรีเทพา, ทิพวัล, สำโรง
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว และขบวนรถเป็นแบบคร่อมรางไร้คนขับ ใช้ล้อยางวิ่งบนคานคอนกรีต มีความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระบบจ่ายไฟกระแสตรง 750 โวลต์ มีระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์แม่เหล็กแบบถาวร ส่วนขบวนรถไฟฟ้าเป็นแบบ 4 ตู้โดยสาร รองรับผู้โดยสารได้ 568 คนต่อขบวน หรือ 17,000 คน ต่อชั่วโมงต่อเที่ยว
ทั้งนี้ สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ได้หลายสาย ได้แก่
- รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่สถานีสำโรง (ทางเชื่อมสถานีห่างกันประมาณ 300 เมตร)
- รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และรถไฟสายตะวันออก ที่สถานีหัวหมาก
- รถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน ที่สถานีลาดพร้าว
- รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ในอนาคต) เชื่อมต่อกับช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่สถานีแยกลำสาลี
- วิธี “แตะจ่ายให้คุ้ม” หากเดินทางเชื่อมต่อ “รถไฟฟ้าสายสีเหลือง” และ “สายสีน้ำเงิน”
รถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-21.00 น. มีความถี่ของขบวนรถให้บริการทุก 10 นาที ทั้งนี้ สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางแบบเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายอื่นๆ สามารถแตะจ่ายค่าบริการแบบ “ไม่เสียค่าแรกเข้า” ได้ง่ายๆ ด้วยการใช้ “บัตร EMV” (Europay, Mastercard and Visa) หรือ บัตรเครดิตที่มีสัญลักษณ์หน้าตาคล้ายๆ Wifi แสดงอยู่บนบัตร ซึ่งจะได้รับสิทธิจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว
โดยหากเดินทางจาก “สายสีน้ำเงิน” เข้าไปยัง “สีเหลือง” จะได้รับยกเว้นค่าแรกเข้า 15 บาท ส่วนถ้าหากเดินทางจาก “สายสีเหลือง” เข้าไปสู่ “สีน้ำเงิน” จะได้รับยกเว้นค่าแรกเข้า 14 บาท
เมื่อแตะบัตรเข้าระบบรถไฟฟ้า จะถูกเก็บเต็มราคาก่อน และจะได้รับคืนเงินค่าแรกเข้ากลับเข้าบัตรเครดิต/เดบิต ไม่น้อยกว่า 3 วัน ซึ่งระยะเวลาการได้เงินคืนนั้น ขึ้นอยู่กับธนาคารผู้ออกบัตรด้วย ส่วนบัตรอื่นๆ รวมถึงบัตร/เหรียญของผู้ให้บริการแต่ละราย ยังเสียค่าแรกเข้าตามปกติ
- อัปเดต “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” กำลังจะเปิดให้บริการปลายปี 2566 นี้
สำหรับน้องนมเย็น หรือ “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” มีข้อมูลจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ตามการคาดการณ์เบื้องต้นผู้รับสัมปทานคาดว่าจะสามารถเริ่มทดลองการเดินรถได้ภายในเดือน ม.ค. 2567 และมีกำหนดการเปิดให้บริการเดินรถตลอดเส้นทางภายใน มิ.ย. 2567
แต่ล่าสุด มีรายงานข่าวอัปเดตว่า "รถไฟฟ้าสายสีชมพู" อาจจะสามารถเปิดให้บริการเป็นบางช่วงก่อน (ช่วงสถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ) ในช่วงเดือน ส.ค. 2566 ก่อนจะทดลองเปิดให้บริการตลอดเส้นทางครบทุกสถานี ได้ภายในปลายปี 2566
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นรถไฟฟ้ารูปแบบ ‘โมโนเรล’ หรือรถไฟฟ้ารางเดี่ยว เหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 28,000 คน ความเร็วของการเดินรถสูงสุดอยู่ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่การให้บริการปกติจะใช้ความเร็วเฉลี่ย 35-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยเป็นการเดินรถในเส้นทาง “ช่วงแคราย–มีนบุรี” ระยะทาง 34.5 กม. หากเดินทางจากแครายไปถึงมีนบุรีแบบสุดสาย จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
- รถไฟฟ้าสายสีชมพู มี 30 สถานี คาดการณ์ค่าโดยสาร 15-46 บาท
ส่วนเส้นทางเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ผ่านสถานีทั้งหมด 30 สถานี ได้แก่ ศูนย์ราชการนนทบุรี, แคราย, สนามบินน้ำ, สามัคคี, กรมชลประทาน, แยกปากเกร็ด, เลี่ยงเมืองปากเกร็ด, แจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 28, เมืองทองธานี, ศรีรัช, แจ้งวัฒนะ 14, ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ, ทีโอที, หลักสี่, ราชภัฏพระนคร, วัดพระศรีมหาธาตุ, รามอินทรา 3, ลาดปลาเค้า, รามอินทรา กม. 4, มัยลาภ, วัชรพล, รามอินทรา กม.6, คู้บอน, สินแพทย์, วงแหวนตะวันออก, นพรัตน์, บางชัน, เศรษฐบุตรบำเพ็ญ, ตลาดมีนบุรี, มีนบุรี (เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร)
โดยประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายอื่นๆ อีก 4 สาย ได้แก่
- รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่ “สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ”
- รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ “สถานีหลักสี่”
- รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ฉลองรัชธรรม) ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี
- รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ที่ “สถานีมีนบุรี”
สำหรับ ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู เริ่มต้นจะคำนวณไว้ที่ 14-42 บาท เมื่อรวมกับ CPI แล้ว คาดว่าค่าโดยสารอย่างสรุปน่าจะอยู่ที่ 15-46 บาท อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาและขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เปิดให้บริการในขณะนั้นด้วย
------------------------------------------
อ้างอิง : รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู, รฟม., มติประชุม ครม.