ทำ ‘ออฟฟิศ’ ให้เป็น ‘เซฟโซน’ หัวหน้าที่รักต้องรู้จักรับฟัง-ไว้ใจลูกน้อง
ออฟฟิศจะเป็นเซฟโซนได้ หัวหน้างานจำให้แม่น! อยากเป็นหัวหน้าที่ดีต้องไว้ใจทีม รู้จักใช้คน ไม่เอาตัวเป็นศูนย์กลางจักรวาล อย่ารอให้ลูกน้องเข้าหา หมั่นปรับตัว เรียนรู้ และรับฟังความคิดเห็นของคนในทีม พร้อมมีความเห็นอกเห็นใจและสนับสนุนทีมอยู่เสมอ
ผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไปอย่างมาก หนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญคือ “Quiet Quitting” ภาวะที่คนรุ่นใหม่ไม่กระตือรือร้นในการทำงาน ไม่ทุ่มเทชีวิตให้กับการทำงานแค่เพียงอย่างเดียว และให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตแบบ Work Life Balance มากยิ่งขึ้น
“บุญชัย พงศ์รุ่งทรัพย์” ที่ปรึกษาอาวุโส จากสถาบันพัฒนาศักยภาพผู้นำ บุคลากร และองค์กรซีแอค (SEAC) เปิดเผยในงาน "Racing Towards Excellence, Achieving Outstanding Outcomes ทะยานสู่ความสำเร็จ ด้วยสมรรถนะที่ก้าวเกินขีดจำกัด" เมื่อวันอังคารที่ 18 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมาว่า ปัญหาหลักของพนักงานออฟฟิศในทุกวันนี้ คือ ขาดความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ซึ่งเป็นความรู้สึกไม่ปลอดภัยทางใจ หรือไม่มีความรู้สึกเป็นอยู่ที่ดีในที่ทำงาน ขาดความสุขในการทำงาน จนไม่กล้าที่พูด กล้าจะแสดงออกในการทำงาน เนื่องจากกลัวการถูกลงโทษ หากพูดไม่เข้าหู หรือนำเสนอในสิ่งที่หัวหน้าไม่อยากฟัง ทั้งที่พนักงานควรจะต้องรู้สึกปลอดภัยและมีความเป็นอยู่ที่ดีเพื่อที่จะทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้นำที่ดีจะต้องสร้าง “ความปลอดภัยทางจิตใจ” ให้กับพนักงานในบริษัท ด้วยการสร้างแรงจูงใจ และตัวผู้นำเองจะต้องมีความมั่นใจในตนเองสูงกว่าพนักงาน รู้จักจัดการกับพลังงานของตน เพื่อจะได้ส่งมอบพลังบวกให้แก่ลูกน้องได้ เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่พนักงานในการพูดและแบ่งปันความคิด ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากทักษะและความรู้ของพนักงานได้อย่างเต็มที่
ในทางตรงกันข้าม หากหัวหน้าไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ให้การสนับสนุนเหล่าพนักงานเพียงพอ ไม่ได้สนใจว่าพวกเขาต้องการอะไรเพื่อทำงานให้สำเร็จ พนักงานจะไม่มีกะจิตกะใจทำงาน สั่งแค่ไหนทำแค่นั้น ไม่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน ไม่กล้าพูดในสิ่งที่คิด จนทำให้เกิด “ภาวะหมดไฟ” และกลายเป็นปรากฏการณ์ Quiet Quitting
- ภาวะผู้นำที่ดี
“ภาวะผู้นำ” (Leadership) เป็นทักษะหนึ่งที่ผู้นำจำเป็นต้องเรียนรู้ เพราะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการรักษารักษาพนักงานให้อยู่ในองค์กรได้นานยิ่งขึ้น สก็อตต์ บลานชาร์ด ประธานสถาบันบลานชาร์ด ให้ข้อมูลที่ค้นพบเกี่ยวกับภาวะผู้นำไว้ว่า หนึ่งในสิ่งที่สำคัญของการมีภาวะผู้นำที่ดี คือ “ความไว้ใจ” (Trust) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อผู้นำและพนักงานมีเป้าหมายเดียวกัน
อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความเชื่อใจกันตั้งแต่ครั้งแรกที่เจอกัน ผู้นำที่ดีจะต้องฝึกคิดในแง่บวก ระลึกไว้ว่า “คุณจำเป็นต้องเชื่อใจพวกเขา” เพราะเราเป็นทีมเดียวกันแล้ว ควรเป็นมิตรที่ดีต่อกัน อย่ามองว่าเป็นเพียงหน้าที่ แต่ต้องรู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ ซึ่งในระยะแรกความเชื่อใจจะเกิดขึ้นเป็นจุดเล็ก ๆ ก่อน แต่เมื่อได้ใช้เวลาร่วมกัน สร้างประสบการณ์ด้วยกัน ความเชื่อใจจะค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นความสนิทใจ และไว้ใจในที่สุด
อย่างไรก็ตาม หากพยายามจนถึงที่สุดแล้ว คุณยังรู้สึกว่าพนักงานบางคนไม่สามารถไว้ใจได้ คุณอาจจะต้องปล่อยเขาไป ก่อนที่จะทำลายความสัมพันธ์ในทีม
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือ ผู้นำที่ดีจะต้อง “เลือกใช้คนให้เหมาะสมกับงาน” (Put the right man on the right job) แนวคิดดูเก่า แต่ยังใช้ได้ผลดี ไม่เพียงดูเฉพาะทักษะที่เขามีว่าเข้ากับงานหรือไม่ แต่ต้องศึกษานิสัยใจคอของพวกเขาด้วยว่าเหมาะกับงานหรือไม่ เช่น คนที่ชอบทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอน วางแผนล่วงหน้า ก็ควรใช้ในงานที่ต้องการความละเอียดรอบคอบ เป็นต้น
ผู้นำที่ดีจำเป็นต้องปรับตัว เชื่องโยง และเรียนรู้จากคนที่ทำงานด้วย รู้จักพฤติกรรมของคนแต่ละเจนเนอเรชัน ด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับพวกเขา ไม่จำเป็นต้องรอให้ลูกน้องปรับตัวเข้ากับหัวหน้า หรือให้เด็กเข้าหาผู้ใหญ่กว่า เพียงอย่างเดียว เพราะผู้นำจำเป็นต้องอยู่กับคนหลากหลายวัย ซึ่งการรับมือกับพนักงานแต่ละคนก็ต่างกัน
นอกจากนี้ หัวหน้าที่ดีจะต้องคอยสนับสนุนลูกน้อง ต้องสร้างความเชื่อใจ ด้วยการทำให้เห็นว่าคุณพร้อมอยู่กับเขา ไม่ทิ้งระหว่างทาง พนักงานจะมีแรงกระตุ้นและอยู่กับที่ทำงานได้นานขึ้น พร้อมมีความรู้สึกดีกับองค์กร
การเป็นหัวหน้าที่ดี อาจเทียบได้กับการเล่นเกมผจญภัย เมื่อคุณได้รับการยอมรับจากพนักงานในทีม ก็เหมือนกับคุณผ่านด่านไปได้ แต่เมื่อคุณได้เลื่อนตำแหน่ง หรือมีลูกน้องเข้ามาใหม่ การผจญภัยของคุณก็เริ่มต้นอีกครั้ง และวนลูปเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ การเดินทางของคุณจะสิ้นสุด ก็ต่อเมื่อคุณออกจากงานเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากคุณเป็นหัวหน้ามือใหม่ บลานชาร์ดแนะนำว่า ควรเข้าโปรแกรมเทรนนิง และหมั่นพัฒนาตนเอง ค่อย ๆ ใช้เวลาปรับตัว เพราะไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง แม้ว่าเป็นหัวหน้าก็สามารถผิดพลาดได้ เมื่อเจอปัญหาควรระดมทีมเพื่อหาทางออก ไม่จำเป็นต้องตัดสินใจคนเดียว ฟังความเห็นของผู้อื่น หรือขอคำแนะนำจากคนที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ไม่ควรคิดว่าการเลื่อนตำแหน่งเป็นเรื่องที่ยาก โดดเดี่ยว มีแต่ความสับสนวุ่นวาย ควรมองว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเติบโต
- ความคิดที่ดี ทำให้เป็นหัวหน้าที่ดี
การเป็นหัวหน้าที่ดีได้ จำเป็นต้องมีชุดความคิด (Mindset) ที่ดีก่อน เพราะความคิดจะกระตุ้นให้เกิดกระทำของมนุษย์โดยตรง โดย ไมเคิล เมอร์ชานท์ ที่ปรึกษาส่วนบุคคลอาวุโส จากสถาบันอาร์บิงเจอร์ เปิดเผยว่าชุดความคิดของมนุษย์มีด้วยกัน 2 แบบ คือ
1. มองตัวเองเป็นใหญ่ (Inward mindset) เป็นการมองโลกด้วยมุมมองของตนเอง ไม่ให้ค่ากับคนอื่น ใช้คนอื่นเพื่อทำให้ประสบความสำเร็จ เป็นอุปสรรค ไม่เก่งเท่าเรา โฟกัสแต่ตัวเอง เข้าข้างตัวเองมาก ๆ จนไม่เปิดใจรับฟังคนอื่น
2. มองโลกตามความจริง (Outward mindset) เป็นด้านตรงกันข้าม มีความสำคัญ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น แต่ละคนต่างมีปัญหาของตนเอง คิดถึงคนอื่น ทำงานเป็นทีม
หากมีหัวหน้าที่มีชุดความคิดแบบ Inward จะทำงานแบบไม่สนใจความคิดเห็นของคนอื่น เอาตนเองเป็นหลัก คอยจับผิดและกล่าวโทษลูกน้องอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะสร้างความกดดันและบรรยากาศแย่ ๆ ในการทำงาน ต่างจากหัวหน้าแบบ Outward ที่จะให้ความสำคัญกับทุกในทีมเท่ากัน ไม่ได้มองว่าเป็นลูกน้องแต่มองว่าอยู่ในระดับที่เท่ากัน รับฟังความเห็นของลูกน้อง ช่วยกันทำงาน ประสานงานกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด หัวหน้าที่ดีควรมีมายด์เซ็ตแบบ Outward ซึ่งวิธีการจะเปลี่ยนวิธีคิดนั้น ต้องเริ่มต้นจากการมองเห็นคนอื่นให้มากขึ้น รับฟังและเข้าใจความต้องการของคนอื่น แล้วค่อย ๆ ปรับวิธีการทำงาน โดยอาศัยสิ่งที่ได้เรียนรู้จากผู้อื่นให้มากขึ้น ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันให้เป็นปรกติ
อย่างไรก็ตาม หากผู้นำรู้จักลูกน้องของตนเองดีพอ จะรู้ว่าวิธีใดจะเหมาะสมกับแต่ละคน ไม่สามารถใช้ไม้อ่อนกับทุกคน บางคนก็เหมาะสมกับไม้แข็ง จะเป็น Inward บ้างก็ไม่ผิด เพียงแต่ควรระลึกว่าการใช้วิธี Outward ช่วยสร้างผลที่ดีมากกว่า และใช้ Outward ให้มากขึ้น
ดังนั้น การเป็นหัวหน้าที่ดีจึงสามารถสรุปได้ง่าย ๆ ว่า จำเป็นต้องมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ต้องสื่อสารให้คนภายในทีมเข้าใจตรงกัน อีกทั้งหัวหน้าจะต้องปรับตัวและเรียนรู้จุดแข็งของลูกน้อง รับฟังความคิดเห็นของคนในทีม พร้อมมีความเห็นอกเห็นใจและสนับสนุนทีมอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพ