ส่อง ‘วันแม่’ นานาชาติทั่วโลก ตรงกับวันไหนบ้าง? พร้อมรู้ที่มา ‘วันแม่สากล’
“12 สิงหาคม” ของทุกปี ถือเป็น “วันแม่แห่งชาติ” ของไทย แต่รู้หรือไม่? อีกหลายประเทศทั่วโลกก็มี “วันแม่” เช่นกัน นอกจากนี้ยังมี “วันแม่สากล” อีกด้วย
วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ในประเทศไทยถือว่าเป็น “วันแม่แห่งชาติ” ซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่เพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่ในอีกหลายประเทศทั่วโลกก็มี “วันแม่” เช่นเดียวกัน และมีประวัติความเป็นมา รวมถึงดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันแม่ที่แตกต่างกันออกไปด้วย นอกจากนี้ยังมี “วันแม่สากล” ที่กำหนดขึ้นเพื่อสะท้อนถึงบทบาทสำคัญของคุณแม่ทั่วโลก
จุดเริ่มต้นของ “วันแม่แห่งชาติ” สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในช่วงแรกยังไม่ได้มีการกำหนดวันตายตัว ทำให้มีความเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ ซึ่งในอดีตเคยใช้วันที่ 10 มีนาคม, 15 เมษายน และ 4 ตุลาคม ก่อนจะกำหนดใช้วันที่ “12 สิงหาคม” มาจนถึงปัจจุบัน
- ย้อนปฏิทิน “วันแม่แห่งชาติ” ก่อนจะมาเป็นวันที่ 12 สิงหาคม
งานวันแม่แห่งชาตินั้นจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2486 ที่สวนอัมพร โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ แต่หลังจากนั้นไทยได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้การจัดกิจกรรมงานวันแม่จำเป็นต้องงดไปก่อน หลังจากนั้นเมื่อสงครามสงบลง หลายหน่วยงานมีความพยายามในการรื้อฟื้นกิจกรรม “วันแม่” ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่หลายครั้งตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น
จนในที่สุด คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการกำหนดวันแม่ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีความแน่นอนในการจัดงานต่อเนื่องไปได้ทุกปี จึงได้ถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มากำหนดให้เป็น “วันแม่แห่งชาติ” ซึ่งก็คือวันที่ “12 สิงหาคม” โดยกำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงโรงเรียนหลายแห่ง กำหนดให้มีกิจกรรมวันแม่ขึ้นเพื่อให้ลูกได้รำลึกถึงพระคุณของแม่ผู้ให้กำเนิดและถือโอกาสตอบแทนพระคุณของคุณแม่
อ่านข่าว :
'วันแม่แห่งชาติ' 12 สิงหาคม เปิดประวัติพร้อมส่องวันแม่ทั่วโลก
นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์สำคัญที่ใช้สื่อถึง “วันแม่แห่งชาติ” นั่นก็คือ “ดอกมะลิ” โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ดอกมะลิเป็น “ดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่” ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมยาวนานและได้กลิ่นไปจนถึงระยะไกล ออกดอกได้ตลอดทั้งปี จึงนำมาตีความว่าสีขาวของดอกมะลิเปรียบเสมือนความรักบริสุทธิ์ที่แม่มีให้ลูกตลอดไป และเป็นดอกไม้ที่สื่อถึงความปราถนาดี และเป็นสื่อแทน “ความกตัญญู” อีกด้วย
จากข้อสันนิษฐานเชื่อว่า “ดอกมะลิ” นำเข้ามาจากประเทศอินเดียตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ผ่านการเผยแผ่ศาสนาพุทธ และคนส่วนมากนิยมนำมาใช้เพื่อเป็นเครื่องสักการะบูชาพระ พร้อมทั้งมีความเชื่อว่าหากปลูกต้นมะลิไว้ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้าน จะช่วยเสริมให้คนในบ้านได้รับความปรารถนาดี เป็นที่รัก และเป็นที่คิดถึงของคนทั่วไป อีกทั้งยังทำให้คนในบ้านมีจิตใจที่บริสุทธิ์ รู้จักกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ
อ่านข่าว :
'ดอกมะลิ' สื่อรัก 'วันแม่' และความหมายที่ซ่อนอยู่
- “วันแม่สากล” ถือเป็นวันหยุดราชการเพื่อให้เกียรติแด่เหล่าคุณแม่
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีวันแม่แห่งชาติ แต่ในระดับนานาชาติก็มี “วันแม่สากล” เพื่อเป็นเกียรติแด่แม่ทุกคนเช่นเดียวกัน
ความเป็นมาของวันแม่สากลนั้นเริ่มต้นขึ้นในสหรัฐอเมริกา กำหนดให้วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคมเป็นวันแม่และเป็นวันหยุด เพื่อให้ลูกๆ ที่ออกไปทำงานนอกบ้านหรือแต่งงานแยกครอบครัวออกไป ได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมเยียนแม่ของตน ในส่วนของจุดเริ่มต้นของวันแม่สากลนั้น มาจาก Anna Jarvis (แอนนา จาร์วิช) ได้จัดงานรำลึกถึงการจากไปของแม่ของเธอซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มสตรีเพื่อส่งเสริมมิตรภาพและสุขภาพ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2450 และหลังจากนั้นหลายพื้นที่ของสหรัฐ ก็เริ่มมีการจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อเป็นเกียรติสำหรับแม่ทุกๆ คน ต่อมาใน พ.ศ. 2475 Woodrow Wilson (วูดโรว์ วิลสัน) ประธานาธิบดีสหรัฐได้ประกาศให้เป็นวันหยุดประจำชาติ
ต่อมาประเพณีและกิจกรรมเนื่องในวันแม่ได้เริ่มขยายไปยังประเทศอื่นๆ เช่น เม็กซิโก และ แคนาดา หลังจากนั้นก็ได้มีการยอมรับให้วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคมเป็น “วันแม่สากล” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นวันหยุดพิเศษในประเทศอื่นๆ ไปด้วย เพราะเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ที่ให้เกียรติกับคุณแม่ทั่วโลกเท่านั้น เนื่องจากในแต่ละประเทศก็มีวันแม่เป็นของตัวเอง
ในส่วนของดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของวันแม่สากล ก็คือ “ดอกคาร์เนชัน” ในช่วงแรกจะมีการมอบดอกคาร์เนชันสีขาว เพื่อแสดงออกถึงความรักให้กับคุณแม่ แต่หลังจากนั้นประเพณีก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น มีการมอบดอกคาร์เนชันสีแดงหรือชมพูให้คุณแม่กันด้วย ซึ่งสื่อความหมายถึงแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนดอกคาร์เนชันสีขาวหมายถึงแม่ที่เสียชีวิตไปแล้ว
- “วันแม่” ของแต่ละประเทศทั่วโลกคือวันอะไรบ้าง?
เนปาล
วันแม่ในเนปาลนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อวัน Mata Tirtha Aus มีการเฉลิมฉลองตามปฏิทินจันทรคติ จึงไม่มีการกำหนดวันที่ตามปฏิทินสากลที่แน่นอน แต่จะจัดขึ้นราวๆ เดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ประกอบกับเนปาลมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ทำให้ประเพณีการฉลองวันแม่แตกต่างกันออกไป บางคนเริ่มแสดงความเคารพต่อแม่ในตอนเช้าเพื่อถือเป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่ดี บางคนเริ่มฉลองในตอนเย็น หรือบางคนที่แม่เสียชีวิตไปแล้วก็จะไปทำพิธีกรรมริมแม่น้ำให้กับแม่
เอธิโอเปีย
งานวันแม่ในเอธิโอเปียจะถูกจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคมเช่นเดียวกับวันแม่สากล เพราะเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วงหลังจากผ่านพ้นช่วงฤดูฝนมา สำหรับพิธีการในวันแม่จะเริ่มด้วยการทำความสะอาดบ้านเป็นเวลา 3 วัน เด็กผู้หญิงและแม่จะถูกป้ายเนยบริเวณใบหน้า หลังจากนั้นจะมีการร่วมกันร้องเพลงเกี่ยวกับครอบครัวก่อนจะรับประทานอาหารร่วมกัน
ฝรั่งเศส
การเฉลิมฉลองวันแม่ของฝรั่งเศสเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2359 จากความคิดของนโปเลียนแต่ยังไม่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ต่อมาเมื่อช่วงศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสเริ่มตระหนักถึงปัญหาเด็กเกิดน้อยลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสงคราม ฝรั่งเศสจึงต้องการกระตุ้นให้มีประชากรเพิ่มขึ้น จึงได้จัดให้มีวันแม่ขึ้นมาครั้งแรกใน พ.ศ. 2458 และเมื่อ พ.ศ. 2493 การฉลองวันแม่ก็กลายเป็นวันสำคัญอย่างเป็นทางการ สำหรับปัจจุบัน วันแม่ของฝรั่งเศส คือวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม และของขวัญที่นิยมมอบให้คุณแม่มากที่สุดคือ ดอกไม้ ช็อกโกแลต และการ์ดอวยพรแบบทำมือ
อังกฤษ
ถือเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่มีการจัดงานวันแม่เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของความเป็นแม่ โดยเริ่มตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 17 มีชื่อเรียกในตอนนั้นว่า Mothering Sunday โดยเด็กๆ มักจะมอบดอกไม้เพื่อเป็นของขวัญแด่คุณแม่ และเด็กผู้หญิงจะนิยมทำเค้กให้กับแม่ในภายหลัง แต่วันดังกล่าวก็ต้องยุติกิจกรรมลงไปเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ส่งผลให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป และได้มีการกำหนดวันแม่ขึ้นมาใหม่คือวันอาทิตย์ที่ 4 ในเทศกาลมหาพรต ซึ่งไม่ได้มีวันที่แน่นอน วันแม่จึงเปลี่ยนไปในแต่ละปี
ญี่ปุ่น
ในปี พ.ศ. 2474 องค์กรสตรีสูงสุดของญี่ปุ่นกำหนดให้วันที่ 6 มีนาคม ซึ่งเป็นวันฉลองพระราชสมภพของพระราชินี คาโอรุ มาโคโตะ ถือเป็นวันแม่ และต่อมาใน พ.ศ. 2480 กำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันแม่ และมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2492 ได้มีการกำหนดให้จัดงานวันแม่ในวันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคม
สำหรับวันแม่ในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้อิงตามวันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤษภาคมยังมีอีกหลายประเทศ เช่น
- กรีซ วันแม่ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์
- จอร์เจีย วันแม่ตรงกับวันที่ 3 มีนาคม
- บัลแกเรีย,แอลเบเนีย วันแม่ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม
- อียิปต์, จอร์แดน, ซีเรีย, เลบานอน วันแม่ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม
- โปแลนด์ วันแม่ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม
แม้ว่า “วันแม่” ของแต่ละประเทศจะมีประวัติความเป็นมา การกำหนดวัน รวมไปถึงการจัดกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป แต่จุดประสงค์หลักก็เพื่อให้ลูกได้รำลึกถึงพระคุณของแม่และเพื่อเป็นเกียรติแด่คุณแม่ทุกคนบนโลก
อ้างอิงข้อมูล : HELLO, National Womens History Alliance และ Britannica