'ผมร่วง' กับ 'วัยทำงาน' ปัญหาหนักใจ แพทย์ญี่ปุ่นชี้ สระผมถูกวิธีลดผมร่วงได้

'ผมร่วง' กับ 'วัยทำงาน' ปัญหาหนักใจ แพทย์ญี่ปุ่นชี้ สระผมถูกวิธีลดผมร่วงได้

"ผมร่วง" กับ "วัยทำงาน" เป็นของคู่กัน?! เรื่องอายุอาจไม่เกี่ยว เพราะคนทำงานอายุน้อยก็เจอปัญหานี้ นอกจากความเครียดและพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุหลักของอาการผมร่วงแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจาก "สระผมผิดวิธี"

Key Points:

  • อาการผมร่วงผมบาง พบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย บางคนอาจพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี หรือบางคนเริ่มเป็นเมื่ออายุได้ 50-60 ปี
  • ในกรณี “โรคผมบางจากพันธุกรรม” ผู้ป่วยจะมีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นผมบาง ส่วนกรณี “โรคผมร่วงภายหลังความเครียด” (เครียดทางจิตใจ, เครียดจากการเจ็บป่วยด้วย, เครียดจากการอดอาหาร) จะทําให้วงจรเส้นผมเปลี่ยนแปลงไป ทําให้ผมร่วงมากผิดปกติ 
  • นอกจากนี้อาการผมร่วงอาจเกิดจากการ "สระผมผิดวิธี" โดยแพทย์ญี่ปุ่นได้เผยคำแนะนำถึงการสระผมให้ถูกต้อง เน้นการสระล้างหนังศีรษะให้สะอาด ลดการเสียดสีเส้นผม เพื่อลดอาการผมร่วง 

ปัญหาผมร่วงเป็นปัญหาหนักใจของวัยทำงานทั้งชายและหญิง แม้บางคนจะอายุยังน้อยแต่กลับประสบกับปัญหานี้ไม่ต่างจากคนสูงวัย บางก็มีปัญหาผมร่วงผมบางผิดปกติ บ้างก็พบปัญหาหัวล้านก่อนวัยอันควร โดยสาเหตุหลักๆ มาจาก "ความเครียด" และ "พันธุกรรม" 

  • เปิดสาเหตุ "อาการผมร่วงผมบาง" ในทางการแพทย์ 

ผศ.นพ.วาสนภ วชิรมน แผนกผิวหนังและเลเซอร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้ข้อมูลไว้ว่า “โรคผมบาง” พบได้บ่อยทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย บางคนอาจพบได้ตั้งแต่อายุ 20 ปี หรือบางคนเริ่มเป็นเมื่ออายุได้ 50-60 ปี ในผู้หญิงจะเกิดลักษณะผมบางทั่วศีรษะ และมีผมบางลงมากบริเวณกลางหนังศีรษะและแนวผมด้านหน้า ส่วนผู้ชายมักจะมีผมบางเริ่มต้นที่ขมับสองข้างและกลางหนังศีรษะ ซึ่งอายุที่เริ่มเป็นสามารถพบได้เช่นเดียวกันกับในผู้หญิง 

 ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็น “โรคผมบางจากพันธุกรรม” ส่วนมากจะมีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นผมบาง แต่อีกหนึ่งกรณีที่พบบ่อยเช่นกัน คือ “โรคผมร่วงภายหลังความเครียด” คําว่า “ความเครียด” ไม่ได้หมายถึงเครียดทางจิตใจอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความเครียดทางร่างกายและการเจ็บป่วยด้วย เช่น การเป็นไข้สูง การผ่าตัดการคลอดบุตร การอดอาหารมากๆ เพื่อลดนําหนัก รวมถึงโรคทางร่างกายบางชนิด เช่น โรคโลหิตจาง โรคของต่อมไทรอยด์ และการได้รับยาบางชนิด 

ปัจจัยเหล่านี้จะทําให้วงจรเส้นผมเปลี่ยนแปลงไป ทําให้ผมผลัดออกจากหนังศีรษะมากขึ้น โดยจะพบว่าผมบางแบบทั่วศีรษะอย่างไรก็ตาม ภาวะนี้สามารถหายได้เองใน 6 เดือนภายหลังจากการหายป่วยหรือหายจากอาการต่างๆ ข้างต้น ทั้งนี้ ในการแพทย์ยังพบว่ามี "โรคผมร่วงหย่อม" และ "โรคหนังศีรษะอักเสบและรังแค" ก็เป็นสาเหตุให้เกิดผมร่วงผมบางผิดปกติได้เช่นกัน

\'ผมร่วง\' กับ \'วัยทำงาน\' ปัญหาหนักใจ แพทย์ญี่ปุ่นชี้ สระผมถูกวิธีลดผมร่วงได้

  • แพทย์ญี่ปุ่นชี้ "สระผมผิดวิธี" ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุผมร่วงมากผิดปกติ

นอกจากนี้ หากย้อนไปก่อนหน้านี้ในปี 2019 มีข้อมูลจากแพทย์ญี่ปุ่นเคยให้ถ่ายทอดผ่านรายการ “Meii no the Taikoban” ไว้ว่า หนึ่งในปัญหาหนักใจของหนุ่มสาววัยทำงานคงหนีไม่พ้นปัญหา “ผมร่วง” มากผิดปกติ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุของผมร่วงอาจมาจากการ “สระผมผิดวิธี”  

แพทย์หญิง ซาโตโกะ ฮามานากะ ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพผู้หญิงโตเกียว ได้ออกมาแชร์ประสบการณ์แก้ปัญหาผมร่วงให้คนไข้หญิงหลายราย โดยคนไข้มาด้วยอาการผมร่วงหนักหลังสระผม และผมมันเร็วแม้จะเพิ่งสระผมไปเพียง 1 วัน คุณหมอจึงได้ใช้เครื่อง Microscope ส่องขยายหนังศีรษะของคนไข้เพื่อตรวจสอบ 

ผลปรากฏว่า หนังศีรษะของคนไข้เต็มไปด้วยไขมัน Sebum เหมือนคนที่ไม่ได้สระผมมาหลายวัน ส่วนคนไข้อีกรายก็พบว่า มีพฤติกรรมสระผมแบบขยี้ฟองแชมพูใส่เฉพาะผมด้านบน ไม่สระให้ถึงหนังศีรษะ ขณะที่อีกรายหลังสระผมชอบใช้ผ้าห่อผมเปียกไว้นานเกินไป ผมแห้งช้า ทำให้หนังศีรษะอักเสบและทำให้ผมร่วง

\'ผมร่วง\' กับ \'วัยทำงาน\' ปัญหาหนักใจ แพทย์ญี่ปุ่นชี้ สระผมถูกวิธีลดผมร่วงได้                      ภาพจาก: JapanSalaryman

  • วิธีสระผมที่ถูกวิธี เน้นทำความสะอาดหนังศีรษะ อย่าเทแชมพูลงเส้นผมโดยตรง

จากเคสคนไข้ผมร่วงหลายเคสที่พบ แพทย์หญิง ซาโตโกะ ฮามานากะ จึงมีข้อแนะนำถึงวิธีสระผมที่ถูกต้อง ดังนี้  

1. การสระผมที่ดี คือ การล้างหนังศีรษะให้สะอาด ก่อนใส่แชมพู ควรล้างน้ำเปล่า (สระผมน้ำเปล่า) นาน 30 วินาทีขึ้นไป ไม่ใช่แค่ทำให้ผมเปียก แต่ต้องล้างเอาฝุ่นและไขมันออกจากหนังศีรษะ กระบวนนี้จะช่วยชะล้างความสกปรกไปได้ถึง 80% 

2. เวลาใส่แชมพูสระผม อย่าบีบแชมพูลงบนผมโดยตรง แต่ให้ถูกแชมพูจนเกิดฟองฟูขึ้นมาก่อน (อาจใช้ถุงตาข่ายช่วยตีฟองให้ฟู) แล้วจึงใช้ฟองแชมพูในการสระผม 

3. สระผมโดยใช้ปลายนิ้วนวดวนๆ ทั่วหนังศีรษะ อย่าใช้เล็บเกาแรงๆ 

4. อย่าขยี้ฟองแชมพูบนเส้นผม เพราะจะทำให้ผิวหนังชั้นนอกของเส้นผมถูกทำลาย ทำให้ผมไม่แข็งแรงและหลุดร่วงง่าย 

5. ในขั้นตอนการล้างฟองโฟมออกจากหนังศีรษะและเส้นผม ให้ใช้เวลาในการล้างผมนานกว่าขั้นตอนสระผม 2 เท่า ต้องแน่ใจว่าล้างฟองออกหมดจริงๆ จึงจะไม่มีสารตกค้างบนหนังศีรษะ

6. เวลาล้างฟองออกจากผม ให้ก้มลง แล้วล้างจากท้ายทอย จากนั้นค่อยล้างให้ทั่วศีรษะ เพราะท้ายทอยเป็นบริเวณที่มีแชมพูจะตกค้างอยู่มากสุด ต้องล้างให้หมดจด

7. ล้างผมเสร็จแล้ว อย่าปล่อยให้ผมเปียกนานๆ เพราะแบคทีเรียประจำถิ่น (normal microbiota) ที่อยู่บนศีรษะเราอาจจะขยายพันธุ์เกินความจำเป็น ทำให้หนังศีรษะอักเสบจนผมร่วงได้ ควรเป่าผมให้แห้งภายใน 5 นาทีหลังสระผม

  • วิธีรักษาผมร่วงทางการแพทย์ มีตั้งแต่กินยา ทำเลเซอร์ และปลูกผม

แต่ถ้าใครเปลี่ยนวิธีสระผมก็แล้ว ลองเปลี่ยนแชมพูก็แล้ว หรือแม้แต่หาวิตามินบำรุงผมมากินบำรุงสุขภาพผม แต่ก็พบว่าปัญหาผมร่วงยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะต้องพิจารณาเข้าพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษาให้ตรงจุด โดยในทางการแพทย์มีวิธีการรักษาอาการผมร่วงผมบางอยู่หลายวิธี ได้แก่ 

\'ผมร่วง\' กับ \'วัยทำงาน\' ปัญหาหนักใจ แพทย์ญี่ปุ่นชี้ สระผมถูกวิธีลดผมร่วงได้

1. การใช้ยาทาและยากิน : การใช้ยาเพื่อรักษาอาการผมร่วง ส่วนมากจะต้องใช้ทั้งยาชนิดทาและชนิดรับประทานควบคู่กัน เพื่อให้ได้ผลที่ดี หากเริ่มรักษาตั้งแต่ยังเป็นไม่มาก จะได้ผลการรักษาที่ดีกว่าเมื่อผมร่วงไปมากแล้ว ภายหลังเริ่มการรักษาผมจะเริ่มหยุดร่วงประมาณ 3 เดือน และจะเริ่มเห็นผมเส้นใหม่งอกขึ้นเมื่อรักษาไปแล้วหลายเดือน

2. การผ่าตัดปลูกผม : เป็นการผ่าตัดเพื่อย้ายรากผมจากด้านหลังที่มีผมหนาแน่น มาแทนที่บริเวณด้านหน้าที่มีผมบาง วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผมบางและผมร่วงค่อนข้างหนักมากแล้วเท่านั้น ข้อดีของวิธีนี้คือผมจะอยู่ไปตลอดชีวิต ดัด ย้อม สระหรือเล่นกีฬาต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ

3. การใช้เลเซอร์ความเข้มข้นต่ำ : แก้ผมร่วงผมบางจากพันธุกรรม โดยใช้หมวกหรือหวีเลเซอร์ปลูกผมมากระตุ้นรากผม เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาผมบางในระยะเริ่มต้นถึงปานกลาง เมื่อทำต่อเนื่องเป็นเวลา 15 -20 นาทีต่อวัน จะทำให้เส้นผมและรากผมแข็งแรงขึ้น ลดผมร่วง เกิดเส้นผมใหม่และเส้นผมหนาขึ้น หรือใช้วิธียิง "แสงเลเซอร์พลังงานต่ำ" (จากอุปกรณ์เลเซอร์กำจัดขนแต่ปรับระดับให้ต่ำลง) นำไปกระตุ้นรากผมทั่วหนังศีรษะ เหมาะกับผู้ที่มีภาวะผมร่วงผมบางในระยะเริ่มต้น คือ มีอาการน้อย-ปานกลาง จะเห็นผลชัดเจน 3 เดือนหลังจากทำการรักษาด้วยเลเซอร์

------------------------------------------------

อ้างอิง : คณะแพทย์ศาสตร์ฯ ม.มหิดลJapanSalarymanOpenerศูนย์โรคเส้นผมและหนังศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์