‘คอนเน็กชัน’ ตัวช่วยสำคัญในการหางาน เพราะเก่งอย่างเดียวไม่พอ
เก่งอย่างเดียวไม่พอ “คอนเน็กชัน” คือสิ่งจำเป็นในการหางานและทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน เมื่อ “คนรู้จัก” เป็นประตูเปิดโอกาสและอำนวยความสะดวก
หลายครั้งที่ชีวิตคนเราต้องอยู่ในสถานการณ์ความพยายามอยู่ที่ไหนสุดท้ายความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่นั่น หนึ่งในนั้นคือ “การสมัครงาน” แม้เราจะมีคุณสมบัติครบถ้วน มีประสบการณ์เหนือใคร แต่บริษัทอาจไม่เลือกเรา เพราะเขามี “เด็กเส้น” ของเขาอยู่แล้ว
อันที่จริงการมี “คอนเน็กชัน” หรือ “เครือข่าย” หรือถ้าเรียกแบบลบ ๆ ก็คือ “เส้นสาย” เป็นช่องทางให้ได้รู้จักกันอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น พร้อมสร้าง “โอกาส” ให้เราได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำกันผ่านคนรู้จัก พาตัวเองไปพบกับคนอื่น ๆ ในแวดวงธุรกิจเดียวกัน เป็น “ใบเบิกทาง” ที่ทำให้เราได้โอกาสต่าง ๆ หรือ ทำให้อำนวย “ความสะดวกสบาย” ในการทำงาน
- สิทธิพิเศษของการมีเส้นสาย
แม้ว่าคนจะพูดกันเสมอว่าเส้นสายเป็นสิ่งสำคัญในประเทศไทย แต่จากการสำรวจพบว่า คอนเน็กชันมีอยู่ทั่วโลก โดย ดร.บดินทร์ บดีรัฐ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุว่า ธุรกิจเอกชนในหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในกำมือของครอบครัวมหาเศรษฐีขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ครอบครัว ซึ่งคิดเป็น ประมาณ 30% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด
ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด ธุรกิจรายย่อยล้มหายไปจากไปจำนวนมาก แต่ทรัพย์สินของมหาเศรษฐีเติบโตเร็วกว่าตลาดถึง 23.6% ทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างมหาเศรษฐีกับประชาชนทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพย์สินของทายาทรุ่นลูกและหลาน ของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศรายได้ต่ำ หรือกำลังพัฒนาเติบโตเร็วกว่าตลาดถึง 43.7%
ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากการส่งต่อเส้นสายทั้งทางธุรกิจหรือการเมืองจากรุ่นพ่อแม่มายันรุ่นทายาท ซึ่งเป็นเส้นสายที่แข็งแกร่งกว่านักธุรกิจทั่วไป เพราะทายาทมหาเศรษฐีเติบโตมาในครอบครัวที่รายล้อมด้วยมหาเศรษฐีหรือนักการเมืองคนสำคัญ ทำให้ธุรกิจของพวกเขา “มีแนวโน้ม” จะอยู่รอดในตลาดได้ด้วยการใช้เส้นสายที่พวกเขามี แม้พวกเขาจะไม่เคยทำธุรกิจ หรือมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็ตาม
ขณะเดียวกัน หากมองในแง่การสมัคร การมีเส้นสายก็ทำให้คุณได้งานได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อปี 2016 LinkedIn ทำแบบสำรวจถามผู้คนว่าได้งานอย่างไร พบว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามได้งานผ่าน “คนรู้จัก” แนะนำต่อกันมา มีเพียง 15% เท่านั้นที่ได้งานจากการส่งใบสมัครตามบริษัท มองดูอาจจะไม่แฟร์สำหรับคนอื่น นี่คือข้อดีที่สุดของการมีคอนเน็กชัน
เจฟฟรีย์ ตัน จากนิตยสาร Forbes ระบุว่า ในช่วงที่สหรัฐได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปลดพนักงานไปหลายแสนตำแหน่ง และไม่ค่อยประกาศรับสมัครงานเพิ่ม แต่ความเป็นจริงแล้วบริษัทมองหาคนมาทำงานอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ไม่ประกาศให้คนภายนอกได้รับรู้
ความจริงแล้วมีประมาณ 70-80% ของตำแหน่งงานที่ว่างอยู่กลายเป็น “ตำแหน่งงานลับ” คนที่จะได้งานเหล่านี้จะถูก “แนะนำ” จากคนรู้จักแบบปากต่อปากกันมาเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการมีคอนเน็กชัน ดังนั้น คุณจะรู้ว่าพวกเขากำลังมองหาตำแหน่งไหน คุณจำเป็นต้องรู้จักกับในองค์กรก่อน
- เริ่มต้นสร้างสัมพันธ์
ด้วยการสร้างคอนเน็กชันเป็นการเข้าหาบุคคลต่าง ๆ อาจจะเป็นเรื่องยากหลายคน โดยเฉพาะกับชาวอินโทรเวิร์ต แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ หากคุณมีประหม่าที่จะต้องเริ่มพูดคุยกับคนอื่นก่อน ลองซ้อมบทกับเพื่อนหรือคนสนิทก่อน เพื่อให้เกิดความเคยชิน ลดอาการเคอะเขินลง เพราะไม่มีทางขจัดความกลัวได้ หากคุณไม่ฝึกฝน
เมื่อพร้อมแล้ว ถึงเวลาออกงาน โดนอาจเริ่มจากการสัมมนา กิจกรรมเวิร์คชอปต่าง ๆ งานแลกเปลี่ยนความรู้ แชร์ทักษะประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสายงานของคุณ งานเหล่าจะช่วยให้คุณได้พบกับคนในแวดวง เพื่อนร่วมอาชีพของคุณ เป็นโอกาสดีที่จะทำความรู้จักพวกเขาไว้ และให้พวกเขาค้นพบตัวคุณด้วยการแจกนามบัตร
นอกจากจะพบกันแบบตัว ๆ แล้ว การสร้างเครือข่ายผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง LinkedIn ก็สิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะสามารถช่วยให้คุณได้พบคนใหม่ ๆ จากบริษัทใหญ่ทั่วโลก และหากคุณจำเป็นต้องติดต่อกับบริษัทของพวกเขาแล้ว พวกเขาสามารถช่วยคุณได้ อีกทั้งคุณยังสามารถแชร์ประสบการณ์ของคุณได้เต็มที่ เปรียบเสมือนการแชร์พอร์ตโฟลิโอไว้ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณได้งานในฝันเพิ่มขึ้น มีหลายคนที่ได้งานเพราะบริษัทใหญ่ ๆ ผ่านมาเห็นผลงานของพวกเขา
- การสร้างเส้นสายที่มีประสิทธิภาพ
การสร้างเครือข่ายที่ได้ผลอย่างแท้จริง จะต้องเลือกคนที่สามารถสร้างประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เมื่อเลือกจะติดต่อกับใคร สิ่งสำคัญคุณต้องพิจารณาว่าสามารถเสนออะไรเป็นการตอบแทนได้บ้าง เขาจะมอบทักษะและความเชี่ยวชาญอะไรให้แก่คุณได้ หรือเขารู้จักใครที่ช่วยเหลือคุณได้หรือไม่ ฟังดูเหมือนจะเป็นการตีสนิทเพื่อผลประโยชน์ แต่ความจริงแล้ว คุณจำเป็นต้องแสดงความจริงใจในความสัมพันธ์นี้ด้วย
ความสัมพันธ์แบบนี้จำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและมีความหมายมากขึ้น ในจุดนี้จำเป็นจะต้องใช้เวลาพัฒนาความสัมพันธ์ หมั่นติดต่อกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการออกงานสังคมที่อีกฝ่ายจัด มอบของขวัญให้ในวันสำคัญ เช่น วันปีใหม่ วันครบรอบการก่อตั้งบริษัท หรือไปทานข้าวด้วยเมื่อเป็นคนที่สำคัญ
การมีเส้นสายช่วยให้คุณมีภาษีดีกว่าคนอื่น เป็นประตูให้คนอื่นได้ค้นพบคุณ ยิ่งเครือข่ายของคุณกว้างขึ้นเท่าไร คุณก็ยิ่งได้รับโอกาสมากขึ้นเท่านั้น แต่ขณะเดียวกันทักษะอื่น ๆ ในการทำงานคุณก็จำเป็นต้องมีเช่นกัน เพราะท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีใครอยากได้คนที่ไม่มีศักยภาพเข้าทำงาน
ที่มา: Entrepreneur, Forbes, Thairath Plus, The Matter, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์