ไม่ใช่แค่ 'อินเดีย' แต่ตุรกีก็ 'เปลี่ยนชื่อประเทศ' เปิดสาเหตุใช้ชื่ออื่น
ไม่ใช่แค่ประเทศ “อินเดีย” แต่ก่อนหน้านี้ “ตุรกี” ก็ “เปลี่ยนชื่อประเทศ” มาแล้ว ทำไมบางประเทศถึงอยากเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่น ส่องเหตุผลที่บางคนอาจยังไม่รู้
สร้างความงุนงงและความแปลกใจให้คนทั่วโลกไม่น้อย เมื่อ “อินเดีย” เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ภารัต” ในเวทีประชุม G20 ซึ่งชื่อดังกล่าวถูกใช้ในบัตรเชิญรับประทานอาหารค่ำของการประชุมสุดยอด G20 ที่ประเทศอินเดีย ขณะที่ก่อนหน้านี้ หลายคนคงจำได้ว่า “ตุรกี” ก็เป็นอีกหนึ่งชาติที่เปลี่ยนชื่อประเทศเช่นกันเมื่อปีที่แล้ว โดยเปลี่ยนเป็นชื่อ “ทูร์เคีย” ณ เดือนมิถุนายน 2565
ด้าน “ประเทศไทย” ก็อินเทรนด์ไม่แพ้ใคร เพราะสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเคยปรับเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงในภาษาอังกฤษจาก “Bangkok” เป็น “Krung thep Maha Nakhon” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงยังได้ปรับเปลี่ยนวิธีเขียน (การสะกดคำ) “ชื่อเมืองต่างประเทศ” ในภาษาไทยอีกหลายเมือง
แล้วทำไมจึงมีการปรับเปลี่ยนชื่อประเทศ-ชื่อเมืองหลวง ให้ต่างไปจากเดิม? ทั้งที่ทุกคนคุ้นเคยชื่อเหล่านั้นมานาน เรื่องนี้มีเหตุผลเฉพาะตัวที่ต่างเหตุการณ์ต่างวาระกันออกไป แต่ถ้าใครจำไม่ได้ กรุงเทพธุรกิจ สรุปข้อมูลและเหตุผลการเปลี่ยนชื่อของทั้ง 3 เหตุการณ์มาให้ทราบกันอีกครั้ง ดังนี้
1. อินเดีย (India) เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ภารัต (Bharat)
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ในบัตรเชิญที่ผู้นำอินเดียส่งให้กับผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด "จี20" นั้น พบว่าผู้นำประเทศอย่าง “เทราปที มุรมู” ลงชื่อตำแหน่งว่าเป็น “ประธานาธิบดีแห่งภารัต” แทนที่จะเป็น “ประธานาธิบดีอินเดีย”
เมื่อเจาะลึกลงไปพบว่า จริงๆ แล้วประเทศอินเดียมีชื่อที่เป็นทางการ 2 ชื่อด้วยกัน คือ อินเดียและภารัต แต่ชื่ออินเดียถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากกว่าทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ชื่อภารัต เป็นภาษาสันสกฤตโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งแปลว่า อินเดีย ในภาษาฮินดู
การเปลี่ยนชื่อประเทศอินเดียได้รับการสนับสนุนจากพรรครัฐบาล "ภารติยะชนตะ" (Bharatiya Janata Party - BJP) ที่ชี้ว่า ชื่ออินเดียถูกนำมาใช้ในยุคอาณานิคมอังกฤษ และเป็น “สัญลักษณ์แห่งระบอบทาส” โดยอังกฤษปกครองอินเดียมาราว 200 ปีจนกระทั่งได้รับอิสรภาพในปี 2490 ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียระบุว่า การเปลี่ยนชื่อเป็นความพยายามทวงคืนประวัติศาสตร์ฮินดูของอินเดียกลับมา
2. ตุรกี (Turkey) เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ตุรเคีย (Türkiye)
รัฐบาลตุรกีได้ส่งจดหมายถึง UN สำนักงานใหญ่ เพื่อขอจดทะเบียนชื่อใหม่ในภาษาต่างประเทศ จาก ตุรกี (Turkey) เป็น ทูร์เคีย (Türkiye) และสหประชาชาติได้เปลี่ยนชื่อตามคำขอดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 โดยสาเหตุที่รัฐบาลตุรกีขอเปลี่ยนชื่อประเทศนั้น เนื่องจากต้องการให้ภาพลักษณ์ของประเทศแข็งแกร่งขึ้น และเพื่อไม่ให้ชื่อประเทศไปพ้องเสียงกับ ไก่งวง (Turkey) ในภาษาอังกฤษ
นอกจากนี้ หากมองในมุมของประชาชนชาวตุรกีพวกเขาเรียกชื่อประเทศตัวเองในภาษาตุรกีว่า Turkiye ซึ่งใช้ชื่อนี้มาตั้งแต่ประกาศเอกราชจากอิทธิพลของประเทศตะวันตกเมื่อปี 2466 แต่ก็ใช้ภาษาอังกฤษที่เรียกตัวเองว่า ตุรกี (Turkey) มาอย่างยาวนานเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนชื่อประเทศครั้งนี้ ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdogan ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า การเปลี่ยนชื่อประเทศมาเป็น Türkiye นั้น ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรม อารายธรรม และคุณค่าของชาวตุรกีได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงมีคำสั่งให้ระบุสินค้าที่ส่งออกจากประเทศว่า “Made in Türkiye” แทนที่ “Made in Turkey” ส่วนหน่วยงานราชการก็ให้ใช้ชื่อ Türkiye ในเอกสารทางการด้วยเช่นกัน
3. เมืองหลวงไทยภาษาอังกฤษจาก Bangkok ปรับเป็น Krung Thep Maha Nakhon
ส่วนในประเทศไทย หากย้อนไปในอดีตในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี พ.ศ. 2482 ประเทศไทยก็เคยเปลี่ยนชื่อจาก “สยาม” มาเป็น “ไทย” เช่นกัน โดยรัฐบาลขณะนั้นให้เหตุผลว่า เพื่อให้สอดคล้องกับ “เชื้อชาติ” ของคนในประเทศมากขึ้น
ขณะที่ในปี 2565 ประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง แค่คราวนี้เป็นการปรับเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงในภาษาอังกฤษ โดย “สำนักงานราชบัณฑิตยสภา” ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศ ดินแดน และเมืองหลวงใหม่ ให้ถูกต้องชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ซึ่งรวมถึง “เมืองหลวงของประเทศไทย” โดยแก้ไขจาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon
ทั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชาจากกระทรวงการต่างประเทศร่วมพิจารณาด้วย และทางสำนักงานราชบัณฑิตฯ ก็ได้นำเรื่องนี้เสนอต่อ ครม. ในขณะนั้น หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบ จึงมีการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ มีการอธิบายเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของทาง “ราชการ” เท่านั้น
กล่าวคือ จากเดิมการทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่คำว่า Bangkok จะอยู่หลังเครื่องหมาย อัฒภาค “Krung Thep Maha Nakhon; Bangkok กทม.” เปลี่ยนเป็น “Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) กทม.” โดยเก็บชื่อเดิมไว้ในวงเล็บ อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปยังคงใช้ชื่อเมืองหลวงของไทยในภาษาอังกฤษ ทั้งคำว่า Krung Thep Maha Nakhon และใช้คำว่า Bangkok ได้เช่นเดิม
------------------------------------------