‘Girl Math’ เทรนด์ฮิต TikTok หาข้ออ้างให้การซื้อของฟุ่มเฟือย
ซื้อชุดหรูราคาแพง แล้วหารจำนวนครั้งที่ใส่ กลายเป็นคุ้มอย่างไม่น่าเชื่อ! เป็นตัวอย่างแนวคิดการใช้จ่ายแบบ "Girl Math" เทรนด์ TikTok ที่ชาวมิลเลนเนียลและเจน Z หาข้ออ้างแปลก ๆ สำหรับการซื้อของฟุ่มเฟือย แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนอาจติดนิสัยใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หนี้ท่วมไม่รู้ตัว
เวลาซื้อสินค้า เรามักคำนวณทุกบาทสตางค์ เพื่อให้ได้ของราคาถูกและคุ้มค่ามากที่สุด แต่ดูเหมือนว่าคนเจน Z จะมีแนวคิดการใช้จ่ายที่แตกต่างออกไป ด้วยแนวคิด “Girl Math” ที่พยายามหาเหตุให้ทุกการใช้จ่าย และสะท้อนแนวคิด “เงินไม่มีอยู่จริง”
“หากใช้เงินไม่ถึง 150 บาท ถือว่าฟรี”
“หากซื้อของด้วยเงินในกระเป๋าสตางค์ แสดงว่าคุณได้ของฟรี”
“หากเอาสินค้าไปคืน เพื่อขอรีฟันด์ เท่ากับของชิ้นนั้นทำเงินให้แก่คุณ”
“หากเอาของไปเปลี่ยนที่ร้าน แล้วเพิ่มเงินอีกนิดหน่อย เพื่อได้ของแพงกว่า หมายความว่าคุณได้ของใหม่ในราคาถูกลง”
“หากจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินและที่พักล่วงหน้าก่อนไปเที่ยว แปลว่าคุณได้ท่องเที่ยวฟรี”
นี่เป็นแนวคิด “Girl Math” เทรนด์ใหม่ล่าสุดจาก TikTok ที่ชาวเจน Z ใช้ หาเหตุผลเข้าข้างตนเองในการใช้จ่ายอย่างไร้เหตุผล แบบขำ ๆ โดยเฉพาะกลุ่มสาว ๆ ที่ชอบช้อปปิ้ง เห็นอะไรถูกใจก็ต้องซื้อ เพราะของมันต้องมี
- จุดกำเนิดเทรนด์ “Girl Math”
ก่อนที่เทรนด์ Girl Math จะโด่งดังกลายเป็นที่พูดถึงใน TikTok จนมีผู้เข้าชมใน #girlmath มากกว่า 55 ล้านครั้ง เทรนด์นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากรายการวิทยุของเฟลทช์, วอห์น และ เฮย์ลีย์ ดีเจจากคลื่น FVHZM ในนิวซีแลนด์ เมื่อเดอืนก.ค. ที่ผ่านมาโดยเฮย์ลีย์กล่าวว่า Girl Math คือการนำราคาที่จ่ายไปมาหารด้วยจำนวนครั้งที่ใช้งาน
เฮย์ลีย์ยกตัวอย่างว่าแม่เธอซื้อเดรสผ้าไหมจากอิตาลีในราคา 1,000 ดอลลาร์ แม้จะราคาสูงแต่แม่ของเธอก็มีโอกาสใส่ชุดนี้หลายครั้ง ทั้งใส่ไปงานแต่ง 2 ครั้ง ใส่ลงเรือสำราญอีก 1 รอบ ซึ่งเมื่อเทียบกับคำชื่นชมจากคนรอบข้างแล้ว มันคุ้มค่าจนเหมือนได้ชุดเดรสนี้มาฟรี ๆ
ยิ่งไปกว่านี้ เฮย์ลีย์ ชี้ให้เห็นว่าเดรสชุดนี้ ยังช่วยให้แม่เธอประหยัดเงินได้อีก 50% เพราะเดรสเป็นเสื้อผ้าชิ้นเดียว ไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้าถึง 2 ชิ้นมาจับคู่ให้เข้ากัน เสียเงินมากกว่าเดิม นอกจากนี้แม่ของเธอยังนำแนวคิดนี้ไปบอกพ่อผู้เป็นนักบัญชี แถมพ่อของเธอยังยอมรับแนวคิดนี้อีกด้วย
เฮย์ลีย์เองก็รับแนวคิด Girl Math มาด้วยเช่นกัน เธอใช้เงินสำหรับการไปดูคอนเสิร์ต “Eras Tour” ของ เทย์เลอร์ สวิฟต์ 4 คืนติดกันที่ซิดนีย์ด้วยเงิน 5,600 ดอลลาร์ ซึ่งเธอถือว่าทั้งหมดนี้ “ฟรี” เมื่อคิดถึงผลที่ได้จากการไปคอนเสิร์ตนี้
เนื่องจากเฮย์ลีย์ไปชมคอนเสิร์ต 4 คืนติด แทนที่เธอจะต้องบินไปมาระหว่างนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย 8 รอบ เธอเลือกที่จะไปค้างคืนที่ซิดนีย์ไปเลย แล้วค่อยบินกลับหลังจากชมคอนเสิร์ตเสร็จ ซึ่งทำให้เธอประหยัดค่าตั๋วเครื่องบินไปได้ถึง 1,800 ดอลลาร์ ส่วนค่าที่พักก็เหมือนได้ฟรี เพราะเฮย์ลีย์เปิดให้เช่าที่พักของเธอในนิวซีแลนด์ระหว่างที่เธอไปชมคอนเสิร์ต
ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่เหลือ เฮย์ลีย์จะได้รับกลับมาในรูปแบบของรายได้จากผู้เข้าชมคลิปวิดีโอที่เธอถ่ายจากคอนเสิร์ต ยังไม่รวมถึงการที่เธอสามารถเอาประสบการณ์นี้ไปเล่าให้ลูกหลานฟังได้อีกว่าครั้งหนึ่งเธอเคยพบเทย์เลอร์ สวิฟต์ตัวเป็น ๆ
- เงินไม่มีอยู่จริง
คนรุ่นมิลเลนเนียล และ คนเจน Z เติบโตขึ้นมาเห็น “เฟด” หรือ “ธนาคารกลางสหรัฐ” พิมพ์ธนบัตรออกมาหลายล้านล้านดอลลาร์ แต่สหรัฐยังคงเต็มไปด้วยหนี้สิน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงคิดว่าเงินไม่มีอยู่จริง แถมมีทัศนคติที่เหยียดหยามและไม่แยแสต่อการเงิน
ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนทำให้พวกเขาไม่ไว้ใจสถาบันการเงินขนาดใหญ่ อีกทั้งพวกเขายังต้องผ่านวิกฤติทางการเงินจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังต้องมาพะวงเรื่องวิกฤติสภาพอากาศที่รุนแรงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น Girl Math จึงไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นกลไกปกป้องเมื่อพวกเขาต้องเผชิญปัญหาไม่มีเงินเก็บของคนวัย 20 กว่า ๆ
ดังที่ แชนนอน ทริม โปรดิวเซอร์ในรายการวิทยุของเฮย์ลีย์กล่าวติดตลกว่า “Girl Math มันเป็นไลฟ์สไตล์ และเป็นภาพลวงตา”
ขณะที่เหล่าผู้ใช้งาน TikTok ให้ความเห็นว่า เมื่อก่อนเวลาจะพิมพ์เงินจะต้องมีทองคำคอยหนุนหลัง แต่ตอนนี้สิ่งที่คอยหนุนเงินอยู่ก็คือความฝันและความหวัง ขณะที่บางคนกล่าวว่าเราต่างรู้ดีว่าว่าเงินไม่มีอยู่จริง และเศรษฐกิจก็ถูกสร้างขึ้นมา ดังนั้นเศรษฐศาสตร์จึงเป็นเหมือนศาสตร์การละคร
- ข้ออ้างการใช้เงิน
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับเทรนด์นี้ ผู้เชี่ยวชาญต่างออกโรงเตือนให้ระวังพฤติกรรมแบบ Girl Math อย่างเช่น ฮาลีย์ แซ็คซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เชื่อว่าแนวทางดังจะส่งเสริมการใช้จ่ายโดยประมาทแก่คนรุ่นใหม่ และสร้างภาพเหมารวมต่อผู้หญิงว่า “ไม่เห็นคุณค่าของเงิน”
“ถึงแม้มันจะฟังดูตลก แต่ทัศนคติแบบเหมารวมเช่นนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมทางการเงิน และเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการพูดคุยกันเรื่องเงินของชายและหญิงที่แตกต่างกันในสื่อ ผู้ชายต้องลงทุนและหาความมั่งคั่ง แต่ผู้หญิงถูกด่าว่าโง่และไม่ควรไว้ใจให้ดูแลเงิน” แซ็คซ์โพสต์ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว
แต่อันที่จริงแล้วผู้ชายก็ใช้เงินฟุ่มเฟือยไม่ต่างจากผู้หญิง ตามรายงานของ Deloitte บริษัทให้บริการระดับมืออาชีพข้ามชาติ ที่เผยแพร่เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า ผู้ชายทั่วโลกใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกือบ 40%
แนวคิด Girl Math ทำให้เกิด “การซื้อด้วยอารมณ์” มากกว่า “การซื้อด้วยเหตุผล” ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัวง่ายมากขึ้น ด้วยบริการซื้อก่อนจ่ายที่หลังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยก่อให้เกิดการก่อหนี้ระยะยาวเพื่อแลกกับความพึงพอใจในระยะสั้น
“Girl Math เป็นการพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง สำหรับพฤติกรรมทางการเงินที่เรารู้อยู่แล้วว่าไม่ควรทำ” แบรด คลอนทซ์ นักจิตวิทยาและที่ปรึกษาทางการเงินกล่าวกับสำนักข่าว CNBC
Girl Math เป็นอีกกลไกที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกผิดที่ซื้อของดี ๆ ให้ตัวเองน้อยลง ให้พวกเธอได้เพลิดเพลินและสนุกสนานไปกับการช้อปปิ้ง ผ่อนคลายความเครียดจากชีวิตประจำวัน และสบายใจที่จะพูดคุยเกี่ยวกับการเงินของตน แต่ทั้งนี้ก็ต้องระวังไม่ให้ใช้จ่ายมากเกินไปด้วยเช่นกัน จะได้สนุกกับการช้อปปิ้งไปนาน ๆ
ที่มา: Evening Standard, Glamour Magazine, Mashable, Today