ความเหงาทำให้เสียศูนย์ | วรากรณ์ สามโกเศศ
เหตุใดการต้มตุ๋นออนไลน์จึงไม่หมดไม่สิ้นและไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น มันหลอกกันไปทั่วโลกอย่างได้ผล นอกจากนี้พวกอินฟลูเอนเซอร์ (influencers) ที่โน้มน้าวใจออนไลน์ก็ขายของกันได้เป็นบ้าเป็นหลังรวยไม่รู้เรื่องอีกด้วย
แถมยังมีพวก “ติ่งดารา” อีก ทำไมดารานักร้องนักแสดงแม้แต่พิธีกรในทีวีจึงมีแฟนคลับกันจำนวนมากมาย ข้อสงสัยเหล่านี้เพิ่งได้พบคำอธิบายที่เข้าท่า ผมจึงขอนำมาเล่าต่อเผื่อเอาไปใช้ประโยชน์ได้ครับ
เมื่อไม่นานมานี้ ดาราแบบในติ๊กต็อกยี่ห้อ Douyin ของจีนชื่อ Xiu Cai (ชูไก่) อายุ 30 ปีเศษ แต่งตัวเป็นผู้ใหญ่มีโชว์ออนไลน์ร้องเพลง พูดจาสร้างความบันเทิงแนวระลึกถึงความหลังกับผู้สูงอายุ จนมีแฟนคลับถึง 12 ล้านคน
เธอสามารถชักชวนให้แฟนคลับส่งเงินส่งของขวัญให้เธอได้รับเฉลี่ยส่งมาคนละ 7,500-10,000 บาทจนเธอร่ำรวย ในที่สุดรายการเธอก็ถูกทางการปิดเพราะเข้าข่ายหลอกลวง คำถามก็คือเหตุใดคนจึงส่งเงินให้เธอ
ในเว็บไซต์ของวารสาร Psychology Today มีข้อเขียนโพสต์เมื่อ18 ก.ย.2566 ของ Dr.Pamela Rutledge ชื่อเรื่อง 5 Tips to Avoid Deception When You’re Lonely อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้นอย่างชัดเจน
เหตุผลหลักก็คือ มนุษย์โดยธรรมชาติมีแรงจูงใจที่จะชดเชยความต้องการพื้นฐานของตน นั่นก็คือ การมีความสัมพันธ์เชื่อมต่อกับมนุษย์คนอื่นๆ (อย่าลืมว่ามนุษย์เป็น “สัตว์สังคม”) และจะใช้หนทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่มีอยู่ เพื่อชดเชยความต้องการนั้น
ในอดีตการมีความสัมพันธ์กับครอบครัวญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ทำให้มีการเชื่อมต่อและขจัดความเหงา แต่ปัจจุบันมันมีอีกหนทางหนึ่ง นั่นก็คือความสัมพันธ์ออนไลน์ ซึ่งไม่ใช่ “ความสัมพันธ์ที่จริง” เหมือนการพบหน้ากัน หากมันเป็น “ความสัมพันธ์เสมือน” ที่รู้จักกันแบบฉาบฉวย
ติดต่อกันคุยกันโดยไม่รู้ว่าเขาเป็นคนที่เราคิดว่าใช่หรือเปล่า อาจเป็นคนอีกเพศ อีกวัยที่แฝงตัวมาก็เป็นได้ หรือเป็นคนในคลิปยูทูปที่เรารู้จักเขาเพียง 15-30 นาที และมีเรื่องราวเนื้อหาอย่างที่เขาอยากให้เราเห็น โดยไม่รู้ว่าอีก 23 ชั่วโมงกว่าใน 1 วันนั้นแท้จริงแล้วเขาเป็นอย่างไร
เมื่อคนเหงาพบสองโลกคือ “โลกจริง” และ “โลกเสมือน” ก็สับสนไม่รู้ว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน ยิ่งพบปะผู้คนจริงไม่มาก ไม่มีเพื่อนพูดคุยด้วย เส้นแบ่งก็จะยิ่งเบลอ
แต่สมองนั้นมันไม่แบ่ง “โลกจริง” กับ “โลกเสมือน” ออกจากกัน สำหรับสมองแล้วทุกความสัมพันธ์เหมือนกันหมด สมองที่เป็นจุดสำคัญอันเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นๆ ก็สั่งไปตามที่มองเห็นและรู้สึก
“โลกเสมือน” ที่เห็นในจอมือถือและจอทีวีนั้น มีความสัมพันธ์กับผู้ดูแบบที่เรียกว่า parasocial relationship กล่าวคือมีความสัมพันธ์ทางอารมณ์จากด้านเดียว เช่น ผู้ดูชื่นชอบดาราคนดังตัวละครในนิยายจากจอ โดยเฉพาะในปัจจุบันผ่านโซเชียลมีเดียคนดูจะรู้สึกผูกพันรักใคร่เชื่อถือไว้ใจบุคคลเหล่านี้
ความเหงาจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์นี้หนักแน่นมากขึ้น นี่คือคำอธิบายทางจิตวิทยาว่าเหตุใดการต้มตุ๋นออนไลน์ การเชื่อถืออินฟลูเอนเซอร์ การเป็น“ติ่ง”ดารา การมีแฟนคลับมากมายของดารานักร้องนักแสดงและตัวละครของยูทูปเบอร์ จึงดำรงอยู่ในสังคม
สำหรับคนที่เหงาก็จะเอาความสัมพันธ์แบบ parasocial ดังกล่าวมาทดแทนความสัมพันธ์จริงที่ขาดไป ตรงจุดนี้แหละที่พวกต้มตุ๋นออนไลน์แทรกเข้ามาโดยใช้ความโลภและรักโรมานติกเป็นเครื่องมือ ปราบเท่าไหร่ก็ไม่หมด ตราบใดที่มีคนเหงาในโลกมีโซเชียลมีเดียและมีคนเลวที่จ้องหาประโยชน์
การไว้วางใจอินฟลูเอนเซอร์จนเชื่อคำแนะนำในการซื้อสินค้าหรือลงทุน การชื่นชอบดารานักร้อง และบางครั้งเขาผันตัวไปเป็นอินฟลูเอนเซอร์ด้วยก็เข้าล็อกของการทำมาหากินของเขา
ความเหงามิได้เกิดเฉพาะกับคนบางวัยบางเพศ หรือบางถิ่นประเทศ มันเกิดขึ้นได้เสมออย่างไม่มีข้อจำกัดและมักเกิดปรากฏการณ์ที่ตามมา อย่าไปโทษคนถูกหลอกว่าโง่เขลา โลภ (อาจมีความจริงอยู่มาก) เชื่อคนง่าย เป็นชาวทุ่งลาเวนเดอร์ ฯลฯตราบใดที่มนุษย์เดินตามสัญชาตญาณของตนเองในการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นเสมอ
คำถามที่สำคัญก็คือ เราจะป้องกันไม่ให้เป็นเหยื่อของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร
คำตอบก็คือต้องมี Digital Literacy ซึ่งมิได้หมายความเพียงใช้เครื่องมือเป็นรู้จักใช้แอปพลิเคชันหาประโยชน์จากโลกไซเบอร์ได้เท่านั้น หากกินความไปถึงการใช้อย่างปลอดภัยโดยให้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นน้อยที่สุด ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวสำคัญออนไลน์ มีสติและระมัดระวังตนเองเสมอ รู้จักการเข้ามาของนักต้มตุ๋ม ฯลฯ
Dr.Rutledge มี 5 คำแนะนำในการหลีกเลี่ยงการหลอกลวงออนไลน์
(1) สังเกตข้อมูลของบัญชีที่ติดต่อกับเราว่าเป็นของปลอมหรือไม่ กล่าวคือไม่มีรูปส่วนตัว ไม่มีเพื่อนจริงที่ติดต่อสัมพันธ์กันอยู่
(2) อย่าส่งเงินหรือของขวัญให้ใครก็ตามที่เรารู้จักเพียงออนไลน์เท่านั้น
(3) คุยหารือกับเพื่อนจริงและครอบครัวโดยเฉพาะเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ออนไลน์
(4) รักษาความสมดุลระหว่างการหาความสุขจากเนื้อหาออนไลน์ กับการพูดคุยพบปะกับเพื่อนและครอบครัว การคุยกันทางโทรศัพท์ก็ใช้ได้ และ
(5) เรียนรู้สัญญาณเตือนภัยจากพวกต้มตุ๋นออนไลน์ เช่น อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาช่วยเหลือปัญหาที่เขาบอกว่าเรามี หรืออ้างว่าญาติพี่น้องกำลังป่วยหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระวังข้อเสนอที่ดูดีเกินกว่าที่จะเป็นไปได้
สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นก็คือ ความสมดุลระหว่างเพื่อนจริง (ความสัมพันธ์จริง) กับเพื่อนออนไลน์(ความสัมพันธ์เสมือน) เพื่อควบคุมมิให้เกิดสภาวการณ์ “ความเหงา” ซึ่งอาจนำมาซึ่งการเปิดช่องให้บุคคลอื่นๆ ใน “โลกเสมือน” มามีอิทธิพลเหนือเราในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ
การมีความสัมพันธ์ใน “โลกเสมือน” ไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นสิ่งดีถ้าเรารู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ประเด็นอยู่ที่การเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์และรู้จักตนเอง อีกทั้งมีสติในการแสวงหา “ความสัมพันธ์เสมือน” เหล่านั้น
บ่อยครั้งความเหงาเกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก ที่เราไม่อาจทำอะไรกับมันได้ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราจะมีปฏิกิริยาและจัดการกับมันอย่างไร.