เขวี้ยง ‘ไม้เทนนิส’ ระบายอารมณ์ ไม่ผิด ใคร ๆ ก็ทำ?
โซเชียลจวก “ควอน ซุนวู” นักเทนนิสทีมชาติเกาหลีใต้หลังเขวี้ยง “ไม้เทนนิส” เมินไม่จับมือ “บูม กษิดิศ” หลังตกรอบ “เอเชียนเกมส์ 2022” แม้การปาแร็กเกตลงพื้นจะเป็นการระบายอารมณ์ของนักเทนนิสทั่วโลกใช้กัน แต่เสี่ยงเสียค่าปรับ-ปรับแพ้
ชาวเน็ตทั้งไทยและเกาหลีใต้วิจารณ์ “ควอน ซุนวู” นักเทนนิสทีมชาติเกาหลีใต้ที่เขวี้ยงไม้เทนนิส และฟาดลงกับพื้นซ้ำ ๆ จนไม้เทนนิสหัก หลังจากแพ้การแข่งขันเทนนิสชายเดี่ยวรอบสอง กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ให้แก่ “บูม - กษิดิศ สำเร็จ” นักเทนนิสของไทย แถมเมื่อบูมเดินเข้าไปพยายามที่จับมือตามธรรมเนียมการแข่ง แต่ควอนกลับเมินไม่สนใจ ซึ่งเป็นการไม่ให้เกียรติคู่แข่งอย่างมาก
ควอน ซุนวู ถือเป็นนักเทนนิสชื่อดังของเกาหลีใต้ คว้าแชมป์เทนนิสระดับอาชีพหลายสิบรายการ นับเป็นหนึ่งในตัวเต็งแชมป์เอเชียนเกมส์ในครั้งนี้ แต่มักมีรายงานว่าควอนมีอารมณ์ฉุนเฉียวกับอุปกรณ์และฟอร์มการเล่นของตัวเองบ่อยครั้ง อีกครั้งเขายังคาดหวังการแข่งขันในครั้งนี้อย่างมาก เพราะหากได้รับเหรียญทองก็จะทำให้เขาไม่ต้องเข้าเกณฑ์ทหาร
แต่ดูเหมือนว่าเส้นทางเป็นนักเทนนิสของควอนหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ อาจจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอีกแล้ว สำนักข่าวทุกสำนักลงข่าวตำหนิการกระทำของเขา โดนทัวร์ชาวเน็ตเกาหลีลงหนัก ถึงกับไล่ให้ออกจากทีมชาติ เพราะแสดงพฤติกรรมไม่มีน้ำใจนักกีฬา สร้างความอับอายให้กับประเทศ แม้ว่าภายหลังควอนจะเข้าขอโทษบูม ทีมนักกีฬาและทีมงานสต๊าฟโค้ชของไทยแล้วก็ตาม
ควอน ซุนวูเข้าขอโทษ บูม กษิดิศ และทีมชาติไทย
เครดิต: สมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ - LTAT
- เขวี้ยงไม้เทนนิสระบายอารมณ์
อันที่จริงแล้วการเหวี่ยงไม้เทนนิสหลังการแข่งขันจบ เป็นวิธีที่นักเทนนิสทั่วโลกใช้เพื่อระบายอารมณ์ (แต่ก็ไม่ใช่พฤติกรรมที่ควรทำ) เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา “โนวัค ยอโควิช” นักเทนนิสชื่อก้องโลก พึ่งโดนปรับ 6,100 ปอนด์ หรือราว 270,000 บาท จากการที่เขา “ทำลายแร็กเกต” ระหว่างแมตช์ชิงชนะเลิศของการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดัน 2023 ซึ่งเป็นโทษปรับสูงสุดในการแข่งขันครั้งนี้ขณะที่ มารัต ซาฟิน อดีตนักเทนนิสมือหนึ่งของโลก ได้รับสโนว์บอร์ดจาก บริษัท HEAD สปอนเซอร์ของเขา ซึ่งเป็นของขวัญสำหรับการแขวนแร็กเกต โดยตัวสโนว์บอร์ดได้สลักหมายเลข 1,055 ไว้ โดยซาฟินได้ให้สัมภาษณ์กับ ESPN สำนักข่าวกีฬา ว่าตัวเลขดังกล่าว คือจำนวนแร็กเกตที่เขาเขวี้ยงทิ้งตลอดการเป็นนักเทนนิสของเขา
ส่วนเซเรนา วิลเลียมส์ นักเทนนิสหญิงที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกปัจจุบัน มักจะฟาดแร็กเกตลงบนพื้นทุกครั้งเวลาที่เธอรับลูกพลาดหรือฟอร์มการเล่นไม่เป็นดังใจ
แล้วทำไมนักเทนนิสถึงเขวี้ยงไม้เทนนิส? ทั้ง ๆ ที่แร็กเกตเป็นเครื่องมือทำมาหากิน แถมทำแล้วยังมีบทลงโทษตามมาอีกด้วย
การแข่งขันเทนนิสต้องใช้สมาธิเป็นอย่างมาก ไม่เหมือนอีกหลายกีฬา เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ที่ผู้ชมสามารถส่งเสียงเชียร์ได้เต็มที่ หลายการแข่งขันห้ามผู้ชมเดินเข้าออกระหว่างการแข่งขันเพราะอาจเป็นการทำลายสมาธินักกีฬา ดังนั้นเมื่อผลการแข่งขันออกมาเป็นไม่เป็นที่พอใจของตนเอง ไม่ว่าจะเพราะตัดสินค้านสายตา เล่นได้ไม่ดีเอง หรือผู้เข้าแข่งขันเก่งเกินไป จนทำให้โกรธหรือหงุดหงิด พวกเขาก็จะปาไม้เทนนิสเพื่อเป็นการระบายอารมณ์ของตนเอง
- หงุดหงิดตัวเอง
เหตุผลที่พบได้บ่อยและเข้าใจได้มากที่สุดในการเขวี้ยงไม้เทนนิสทิ้ง คือหงุดหงิดกับตัวเองฟอร์มการเล่นของตนเอง เช่น รับลูกง่าย ๆ ไม่ได้ 2-3 ครั้งติด แล้วไม่สามารถคืนฟอร์มกลับมาได้ จนต้องเสียคะแนนไปทั้งเซ็ต ลงเอยด้วยการแพ้ จนต้องระเบิดอารมณ์ออกมา เหมือนกับที่ยอโควิชเขวี้ยงไม้ตัวเองลงพื้นในการแข่งขันวิมเบิลดัน
หลายฝ่ายก็สันนิษฐานว่าควอนเองก็คงหงุดหงิดและกดดันตัวเองมากเช่นกันที่เล่นแพ้บูม ซึ่งมีอันดับที่ต่ำกว่าตนเองพอสมควร แถมยังต้องกลับไปเป็นทหารอีกด้วย จนต้องระบายออกมาด้วยการฟาดไม้เทนนิสลงบนสนามซ้ำ ๆ จนแร็กเกตพังไม่มีชิ้นดี
อย่างไรก็ตาม ในการแข่งขันเทนนิสประเภทคู่ แม้ผู้เข้าแข่งขันจะไม่พอใจ หงุดหงิดกับวิธีการเล่นของเพื่อนร่วมทีมมากเท่าใด แต่ไม่ค่อยมีการปาไม้เทนนิสลงพื้น เพราะถือเป็นการไม่ให้เกียรติเพื่อนร่วมทีมเป็นอย่างมาก ทำให้เพื่อนร่วมทีมอึดอัด ส่งผลต่อการเล่นอย่างเห็นได้ชัด
- ฝ่ายตรงข้ามเก่งเกินไป
บรรยากาศในสนามเทนนิสค่อนข้างตึงเครียดเมื่อเทียบกับกีฬาประเภทอื่น ๆ ผู้ชมเงียบกริบ ได้ยินแม้แต่เสียงลูกเทนนิสกระทบพื้น สายตานับร้อยคู่จับจ้องมาที่ผู้เข้าแข่งขัน แถมบางทียังมีแสงแดดสาดมาจนร้อนผ่าว ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้นักเทนนิสเกิดความกดดันและเครียดได้ทั้งสิ้น
สถานการณ์ยิ่งแย่ลง หากต้องแข่งขันกับคู่ต่อสู้ที่ฝีมือห่างชั้นมาก หรือหวนมาเจอกับคู่ปรับเก่าที่กินกันไม่ลง จนกลายเป็นนัดล้างตา สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา เช่น การแสดงออกท่าทาง และการใช้ความรุนแรง ที่มีบทลงโทษรุนแรงมากกว่าการขว้างไม้เทนนิสลงพื้น
- ผลตัดสินค้านสายตา
เมื่อเกมเริ่มดุเดือด ผลัดกันนำผลัดกันตาม สูสีกันสุด ๆ ผู้เข้าแข่งขันเริ่มเข้าสู่สภาวะกดดัน ต้องการคว้าชัยชนะมาครองดั่งใจหวัง แต่บางครั้งก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะบางครั้งถูกตัดสินอย่างไม่ยุติธรรม โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอกับเจ้าภาพ จนเกิดผลการตัดสินที่ค้านสายตา อาจทำให้นักเทนนิสไม่พอใจจนทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่นการเขวี้ยงไม้เทนนิสขึ้นได้
ทั้งนี้นักกีฬาสามารถทักท้วงผลการตัดสินได้ โดยผู้ตัดสินจะร่วมหารือกัน เพื่อทบทวนการตัดสินอีกครั้ง ซึ่งจะใช้เวลาเล็กน้อยเพื่อให้ผู้เล่นใจเย็นลง
- โทษของการเขวี้ยงไม้เทนนิส
สมาพันธ์นักเทนนิสชาย หรือ ATP (Association of Tennis Professionals) กำหนดบทลงโทษของการนำทำลายไม้เทนนิสด้วยการจ่ายค่าปรับ 500 ดอลลาร์ หรือประมาณ 18,173 บาท ส่วนสหพันธ์เทนนิสแห่งเอเชีย หรือ ATF (Asian Tennis Federation) กำหนดค่าปรับไว้สูงถึง 2,500 ดอลลาร์ หรือราว 90,865 บาท
อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ตัดสินด้วยว่าจะมีบทลงโทษอย่างไร สำหรับนักกีฬาที่ทำลายไม้เทนนิส โดยปรกติแล้ว หากนักกีฬาฟาดเทนนิสสักครั้งสองครั้งเพราะหงุดหงิดตนเองก็ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ผู้ตัดสินอาจจะเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ หรือกล่าวตักเตือน
นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับผู้ตัดสินด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับการตีอย่างแรงของแร็กเกต โดยทั่วไป เมื่อคุณทุบไม้เทนนิสเนื่องจากความคับข้องใจในตัวเอง และทุบไม้เทนนิสลงบนพื้น 1-2 ครั้ง ผู้ตัดสินจะมองไปทางอื่นหรือตักเตือนอย่างมากที่สุด แต่หากยังไม่หยุดพฤติกรรมดังกล่าว ผู้ตัดสินมีสิทธิ์ตัดแต้ม ตัดเกม ตัดเซ็ต หรือแม้แต่ปรับแพ้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินของผู้ตัดสิน
ที่มา: ESPN, Racket Rampage