ฟังคำแนะนำ "ยิ่งช่วยแก้ ปัญหายิ่งยุ่ง"
ปัญหาบางแบบช่วยกันแก้แล้วสำเร็จได้เร็วขึ้น แต่มีปัญหาอีกหลายแบบที่ยิ่งช่วยกัน แล้วปัญหายิ่งขยาย วิธีการแก้ปัญหาที่บางคนนำไปใช้อาจไปสร้างอุปสรรคให้กับอีกคนหนึ่งในการจัดการกับปัญหานั้นได้
ปัญหาเดิมจะสร้างปัญหาใหม่ และเป็นปัญหาใหม่ที่มาจากความตั้งใจดีของทุกคนที่เข้าไปช่วย ซึ่งปัญหาแบบนี้มักนำไปสู่ปัญหาใหญ่ที่แก้ยาก
คือความขัดแย้งในแนวคิดแนวทางการทำงาน จากการมองแบบแยกส่วน ไม่มีมุมมองเชิงระบบ ไม่เห็นภาพรวม จะแก้ปัญหาช้าง แต่คนหนึ่งเห็นหาง คนหนึ่งเห็นงา อีกคนหนึ่งเห็นงวง สุดท้ายทั้งสามคนจะมาทะเลาะกันว่าช้างที่ไม่มีปัญหานั้นเป็นอย่างไรกันแน่
ปัญหาที่เราไม่สามารถเห็นภาพรวมได้ ปัญหาที่เรายังไม่มีมุมมองเชิงระบบที่ชัดเจน เริ่มต้นตรงไหน แล้วไปไหนต่อ ปลายทางคืออะไรกันแน่ ถ้าทุกคนที่จะเข้าไปช่วยกันนั้น ยังงงๆกันอยู่ว่าตรงไหนเริ่มต้น ตรงไหนอยู่ตรงกลาง ตอนท้ายอยู่ที่ไหน แต่ละตอนนั้นได้รับผลกระทบจากปัญหาอย่างไรบ้าง
แนะนำว่าอย่าเพิ่งเข้าไปช่วย อยู่ใกล้ ๆแค่นั้นพอ จนกว่าจะแน่ใจจริง ๆว่าเข้าใจปัญหานั้นอย่างกระจ่างชัด และต้องเป็นความชัดเจนในแบบเดียวกับที่คนที่กำลังจัดการปัญหานั้นมองเห็น
ถ้าคิดว่าเห็นต่าง อย่างลุยเข้าไปจัดการเองเลย แค่บอกกล่าวคนเดิมที่กำลังลุยกับปัญหานั้นดีกว่าว่า มีหนทางอื่น ที่น่าจะช่วยแก้ไขปัญหานั้น มีจุดอื่นที่อาจเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่ต้องรีบแก้ไข บอกแล้วถ้าเขาเห็นตรงกัน ค่อยเข้าไปช่วย ซึ่งจะลดการสร้างปัญหาใหม่จากการแก้ปัญหาเดิมไปคนละทางลงได้มาก
ถ้าบอกแล้วเขาเห็นไม่ตรงกับเรา ขอให้คิดใหม่เลยว่า เราได้ช่วยเขาแก้ปัญหาไปแล้ว หมดหน้าที่ของเรา อย่าได้พยายามเอาชนะกันว่าปัญหานี้ต้องแก้แบบที่ฉันบอกเท่านั้น
ปัญหาหนึ่งมีหนทางแก้ได้ร้อยแปด หนทางหนึ่งอาจจะเร็วกว่า ใช้เรี่ยวแรงน้อยกว่า ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าหนทางนั้นจะเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหานั้นได้ ถ้าไม่มั่นใจแน่ ๆว่าถ้าปล่อยให้เขาเดินหน้าไป จะกลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ก็ปล่อยวางไปเถอะ
ปัญหาที่ซับซ้อนทางเทคนิคมาก ๆ มักต้องการคนที่มีสมรรถนะสูงในเรื่องนั้น เข้าไปปัดเป่า ถ้ามีคนมีฝีมือระดับที่จะแก้ปัญหานั้นได้ ไม่กี่คน การแก้ไขก็อาจดูไม่ทันอกทันใจกองเชียร์ แต่อย่าได้พยายามเข้าไปช่วยแก้ปัญหาแบบนี้ โดยไม่มีความเชี่ยวชาญที่เพียงพอ
คนดูกีฬามักเก่งสารพัด ตราบเท่าที่ยังไม่ได้เป็นคนเล่นกีฬานั้นเอง ตำราบอกไว้ว่า ถ้าเอาคนที่มีความเชี่ยวชาญต่างกันมาก ๆไปช่วยกันแก้ไขปัญหาที่มีเทคนิคซับซ้อนแล้ว เวลาที่ใช้ในการแก้ปัญหาจะยืดยาวขึ้น
แทนที่จะลดลงเพราะมีคนมาช่วยกันแก้ไข ลองนึกถึงการให้นักเรียนประถม ไปช่วยนักศึกษาปริญญาเอกทำวิจัยในห้องปฏิบัติการควอนตัม คงพอจะเข้าใจได้ว่าทำไมจึงต้องเสียเวลาในการทำวิจัยมากขึ้น
ยิ่งถ้าผู้ช่วยยังเป็นเด็กอนุบาลสาม แค่คอยไล่จับไม่ให้ไปกดตรงนั้น หมุนตรงนี้ ก็กินเวลางานวิจัยเป็นเยอะแยะแล้ว
ปรากฏการณ์ทำนองนี้ช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมกระทรวงด้านเทคนิคที่มีคนเก่งเยอะแยะและเป็นคนเก่งคนเดิมๆ พอเปลี่ยนรัฐมนตรี ความสำเร็จของงานที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกันไปได้แบบฟ้ากับดิน
ปัญหาที่ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับหน้าตา ชื่อเสียง เกียรติยศ ของคนที่แก้ปัญหานั้นได้สำเร็จ มักเป็นปัญหาที่ไม่ต้องการพระเอก นางเอกหลายคน ไม่ว่าปัญหาแบบนี้จะแก้ได้ง่ายดายแค่ไหน
คนที่ได้หน้าตาไปจากปัญหาแบบนี้ มักพยายาม ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ที่จะทำให้ปัญหาดูใหญ่โต จะได้ดูเหมือนมีความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น ถ้าเราดูไม่ออกว่าใครกำลังต้องการชื่อเสียงเกียรติยศจากปัญหาง่าย ๆ ที่ปั่นให้ดูเหมือนเป็นเรื่องยากนั้น เรามักจะพยายามเข้าไปช่วย
ด้วยเห็นว่าแก้ไขได้ง่ายนิดเดียว ซึ่งช่วยแก้ได้เมื่อไหร่ คนช่วยก็มักได้ความเดือดร้อนเป็นการตอบแทนความตั้งใจดีนั้น
ดังนั้น ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่า ยังมีปัญหาที่แก้ได้ง่าย ๆ อีกมากมายหลายเรื่อง ที่คนใหญ่โตเขาอยากให้คงอยู่ และให้ดูเป็นเรื่องยากเย็น เพื่อไว้เก็บเกี่ยวหน้าตา บารมีของท่าน.
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]