ความกดดันของ ‘ลูกคนโต’ ที่ต้องแบกความหวังของพ่อแม่
ชีวิตของ “ลูกคนโต” แบกความคาดหวังของพ่อแม่ ต้องคอยดูแลบ้านและคนในครอบครัว เป็นแบบอย่างที่ดีของน้อง ๆ ตลอดจนสืบทอดกิจการของวงศ์ตระกูล ด้วยภาระที่มากเกินกำลัง อาจทำให้พี่คนโตเป็นโรคซึมเศร้าได้
ในฐานะ “ลูกคนโต” มักจะถูกคาดหวังจากพ่อแม่อยู่เสมอ โดยเฉพาะในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนที่คาดหวังในตัว “ลูกชายคนโต” เป็นผู้สืบทอดกิจการของวงศ์ตระกูล เป็นที่พึ่งให้แก่น้อง ๆ ขณะที่ในฝั่งตะวันตกก็ฝากความหวังไปที่ “ลูกสาวคนโต” หวังให้เป็นพี่สาวที่แสนดี คอยดูแลครอบครัวและเลี้ยงน้อง จนเกิดเทรนด์ “Eldest Daughter Syndrome” เป็นไวรัลทั่วโซเชียล
- ลูกชายคนโตผู้สืบสายเลือด
ในปัจจุบันสังคมตะวันออกใช้การสืบทอดทางสายเลือดเป็นหลัก ซึ่งมอบมรดกและสิทธิ์ต่าง ๆ ให้แก่ลูกคนโต เช่น นามสกุล กิจการต่าง ๆ ตามหลักค่านิยมในสิทธิของบุตรชายคนแรก (Primogeniture) เป็นมรดกตกทอดกันมาตั้งแต่สมัยจีนโบราณ จากแนวคิดมาจากกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งเมื่อคนจีนอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่น ๆ ก็นำเอาแนวคิดนี้ไปด้วย จนกลายเป็นที่แพร่หลายในภูมิภาคนี้ รวมถึงในประเทศไทยที่ครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนยังให้ “ลูกชายคนโต” เป็นทายาทโดยชอบธรรมอยู่
เมื่อลูกชายคนโตจำเป็นต้องเข้ามาสืบทอดกิจการของที่บ้านอยู่ เขาจึงต้องแบกรับความกดดัน ความหวังของครอบครัวอยู่เต็มบ่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาเป็นต้องอยู่ในกรอบที่ครอบครัวกำหนดเอาไว้ ต้องเรียนเก่ง สนใจเรียนรู้กิจการ เป็นที่พึ่งและเป็นแบบอย่างที่ดีของน้อง ๆ
นอกจากนี้ การเป็นผู้สืบทอดกิจการ จะต้องเป็นมีทายาทไว้สืบสกุลต่อไป ดังนั้นลูกชายคนโตที่รู้ตัวดีว่าเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ จึงจำเป็นต้องกดทับอัตลักษณ์ทางเพศเอาไว้ ไม่ให้ใครรู้ เพราะไม่อยากทำให้ทุกคนเสียใจ ซึ่งหลายคนต้องหลบซ่อนตัวเองไปจนวันตาย
- ลูกสาวคนโตดูแลครอบครัว
ขณะที่ลูกสาวคนโตก็ไม่ได้เผชิญความเจ็บปวดน้อยไปกว่ากัน เหล่าลูกสาวคนโตที่ประสบกับความคาดหวังจากคนในครอบครัวได้รวมตัวกันแชร์เรื่องราวของตนเองลงใน TikTok ผ่าน “Eldest Daughter Syndrome” จนมียอดวิวรวมกันถึง 560 ล้านครั้ง แม้ว่ากลุ่มอาการนี้จะไม่ได้เป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ แต่การเป็นลูกคนโต ต้องเป็น “เดอะแบก” ให้กับครอบครัว เช่น ดูแลน้อง ๆ และจัดบ้านให้เป็นระเบียบเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่บ้าน จนบางทีก็ไม่ได้ใช้ชีวิตส่วนตัวของตนเอง เป็นตัวเชื่อมประสานรอยร้าวระหว่างพ่อแม่และพี่น้อง ไหนจะต้องทำงานหาเงินจุนเจือครอบครัว ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความรับผิดชอบที่ “เกินตัว” กว่าที่คนหนึ่งจะทำได้ แถมพ่อแม่ก็ไม่ได้คาดหวังให้ลูก ๆ คนอื่นต้องทำหน้าที่แบบนี้ด้วยซ้ำ
สำหรับ Eldest Daughter Syndrome มาจากความคาดหวังทางสังคมที่ต้องการให้ผู้หญิงต้องทำหน้าที่ดูแลบ้านและเลี้ยงดูเด็กมากกว่าผู้ชาย ทำให้ “ลูกสาว” ต้องเป็นแม่ศรีเรือนไปโดยปริยาย ซึ่งในสังคมตะวันออกลูกผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นลูกคนที่เท่าใดก็ต้องทำหน้าที่นี้ ถูกคาดหวังให้ต้องคอยดูแลบ้าน ทำกับข้าว ดูเลี้ยงน้อง ๆ ดูแลผู้พิการในครอบครัว (ถ้ามี) โดยไม่มีสิทธิ์โต้แย้งหรือตั้งคำถามต่อบทบาทที่ได้รับ ซึ่งถูกกำหนดไว้ด้วยบทบาททางเพศ
- ชีวิตที่ไม่ง่ายของลูกคนโต
อัลเฟรด แอดเลอร์ นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย คิดค้นทฤษฎีลำดับการเกิด (Birth Order Theory) เพื่อใช้อธิบายว่า ลำดับการเกิดของเด็กเป็นตัวกำหนดพัฒนาการและบุคลิกภาพของพวกเขา และเป็นวิธีจัดการกับงานด้านมิตรภาพ ความรัก และการงาน โดยระบุว่า “ลูกคนโต” จะถูกมองว่าเป็นผู้นำ อาจมีความเข้มงวดและเป็นเผด็จการเล็กน้อย เพราะถูกเลี้ยงดูมาอย่างเข้มงวดกว่าพี่น้องคนอื่น ๆ และถูกตั้งความหวังไว้สูงจากพ่อแม่ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่น้อง ๆ
ขณะที่ลูกคนกลางเป็นคนช่างเจรจาต่อรองและรักษาสันติภาพในครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันมักจะถูกละเลย มองข้าม ไม่มีตัวตน จนอาจกลายเป็น Wednesday Child หรือ Middle Child Syndrome ที่รู้สึกว่าตนเองแปลกแยกกว่าคนอื่น ได้รับความสนใจจากพ่อแม่น้อยกว่าลูกทุกคน ไม่ค่อยสนิทกับทุกคนในครอบครัว ส่วนน้องคนเล็กมักจะเป็นคนมีหัวคิดกบฏเล็ก ๆ รักความอิสระ และมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นผลพวงจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ไม่เข้มงวดเท่ากับพี่ ๆ
มิเชลล์ เอลแมน ไลฟ์โค้ชชื่อดังเผยว่า การเป็นลูกคนโตมีข้อเสียอยู่ไม่น้อย เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่กำลังปรับตัวอยู่ พวกเขาไม่มีประสบการณ์เป็นพ่อแม่ใครมาก่อน
“การเลี้ยงลูกคนโตเป็นเหมือนกับฝึกทักษะและเรียนรู้การเลี้ยงเด็กของพ่อแม่ไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นถ้าพูดแบบเหมารวมก็คือ พ่อแม่มักจะเข้มงวดกวดขัน และเอาใจใส่เป็นพิเศษ แต่เมื่อมีลูกเพิ่มพวกเขาเรียนรู้แล้วว่าต้องรับมืออย่างไร ยิ่งเป็นลูกคนเล็กจะได้รับการเลี้ยงดูที่แตกต่างจากลูกคนโตมาก” เอลแมนกล่าว
นอกจากนี้ พ่อแม่ยังปลูกฝังให้ลูกคนโตคอยดูแล แบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ให้กับน้อง ขณะเดียวกันน้องๆ ก็ต้องการให้พี่คนโตคอยชี้แนะและปกป้องพวกเขา เพราะมองว่าพี่โตแล้วเปรียบเสมือนเป็นผู้ปกครองคนหนึ่ง
ความกดดันของลูกคนโต แสดงออกมาในรูปแบบของความเครียดและความวิตกกังวล และในกรณีที่รุนแรง อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า และ PTSD เพราะตอนเด็กต้องคอยรับมือกับความรับผิดชอบและหน้าที่เกินวัย ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินบทบาทนี้ต่อไป ไม่มีเวลาจะได้ทบทวนบาดแผลภายในใจ จนกว่าจะแยกตัวไปมีครอบครัวเป็นของตนเอง และอาจส่งต่อวังวนเดิม ๆ ให้แก่ของลูกคนโตของพวกเขาโดยไม่รู้ตัว
เอลแมนกล่าวเสริมว่า แนวคิดเหล่านี้จึงทำให้ความรับผิดชอบมากมายที่ตกอยู่กับลูกคนโต ซึ่งบางครั้งอาจทำให้พวกเขารู้สึกไม่พอใจที่ได้รับการปฏิบัติที่ต่างออกไปจากพ่อแม่ และต้อง “เสียสละ” ทุกอย่างให้น้อง
- เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้สัมภาษณ์กับ Urban Culture ไว้ว่า ความเป็นพี่น้องถูกมายาคติตีกรอบไว้มากมายนับไม่ถ้วน และถูกเสนอซ้ำผ่านสื่อบันเทิง จนทำให้พ่อแม่ใช้มายาคติเหล่านี้กำกับผู้เป็นพี่ เพราะถือว่ามีวุฒิภาวะและการจัดการทางอารมณ์ “พูดรู้เรื่อง” มากกว่าคนเป็นน้อง ด้วยการสอนให้พี่เสียสละให้น้อง ยอมน้องอยู่เสมอ โดยไม่ได้สนว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
พฤติกรรมเหล่านี้จะก่อเกิดความรู้สึกไม่ดีในใจพี่ ซึ่งหากปล่อยไว้นาน ๆ จะเป็นปัญหาเรื้อรังจนอาจถึงจุดแตกหักในความสัมพันธ์พี่น้อง เพราะความต้องการของตัวเองไม่ได้รับการตอบสนอง แต่กลับต้องคอยตอบรับความต้องการของคนอื่นตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้นคนเป็นพี่จะไม่รู้จักสิทธิของตนเอง อีกทั้งไม่เห็นคุณค่าของตนเอง และไม่รู้จักความต้องการของตนเองอีกด้วย
การต้องยอมให้น้องตลอดเวลา ไม่ได้ส่งผลแก่คนเป็นพี่เท่านั้น แต่น้องจะกลายเป็นคนที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ถือว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น ไม่เคารพสิทธิคนอื่น มองความไม่ยุติธรรมเป็นเรื่องปรกติ และพยายามจะเอาเปรียบคนอื่นอยู่ตลอดเวลา
การเลี้ยงดูของพ่อแม่ส่งผลต่อลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของลูก ๆ แต่ละคน อันที่จริงไม่ใช่แต่ลูกคนโตที่มีปัญหา แต่ลูกทุกคนล้วนมีปัญหาเป็นของตนเอง ซึ่งสามารถคล้ายปมในใจได้ถ้าหากเปิดอกพูดคุยกัน
ที่มา: Brookings, Charlie Health, Cosmopolitan, Independent, Pacific Standard, Refinery29, The Matter, Urban Creature