'นิยายจีนออนไลน์' ขายดีเพราะใช้ AI แปล หนุนยอดขายบูมในต่างแดน
วงการนิยายแปลสะเทือน! ผลวิจัยล่าสุดชี้ อุตสาหกรรมวรรณกรรมออนไลน์จีน ทำยอดขายในต่างประเทศเติบโตขึ้นอย่างมาก อานิสงส์จากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี AI ซึ่งช่วยให้เว็บไซต์นิยายจีนได้รับการแปลอย่างรวดเร็วสำหรับลูกค้าในต่างแดน
ไชน่า ลิเทอเรเจอร์ (China Literature) แพลตฟอร์มวรรณกรรมออนไลน์ของจีนซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก “เทนเซ็นต์” (Tencent) บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ เผยแพร่รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ระบุว่า ในปี 2565 อุตสาหกรรมนิยายออนไลน์ของจีน มียอดขายจากต่างประเทศมากถึง 4,060 ล้านหยวน (ราว 2.01 หมื่นล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 40% เมื่อเทียบเป็นรายปี
รายงานดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสมาคมสื่อเสียง-วิดีโอและสื่อดิจิทัลแห่งประเทศจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานการค้าภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเน้นย้ำถึงบทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เช่น ปัญญาประดิษฐ์เชิงรู้สร้าง (Generative AI) ในการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน
นับถึงปีที่แล้ว อุตสาหกรรมวรรณกรรมจีนเผยแพร่สิ่งพิมพ์ออนไลน์ไปกว่า 34 ล้านฉบับ โดยบางฉบับได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ กว่า 20 ภาษา และวางจำหน่ายในกว่า 40 ประเทศและภูมิภาคทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อเมริกาเหนือ ยุโรป และแอฟริกา
- กำเนิด ChatGPT สะเทือนงานแปล
หลังจาก “โอเพนเอไอ”(OpenAI) สตาร์ทอัพสหรัฐที่มียักษ์ใหญ่ “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) เป็นผู้สนับสนุนหลัก เปิดตัวแชตบอตอัจฉริยะ “ChatGPT” ต่อสาธารณะเมื่อราว 1 ปีที่แล้ว Generative AI ก็ได้พลิกโฉมหลายธุรกิจทั้งในด้านการดำเนินงานและช่วยผู้ใช้ร่างเนื้อหาอีเมล ไปจนถึงการสรุปรายงานและการเขียนสุนทรพจน์ในวาระต่าง ๆ
นับจากนั้นมา บรรดาบริษัทจีนตั้งแต่ระดับบิ๊กเทคไปจนถึงสตาร์ทอัพ AI ต่างพากันเปิดตัวแชตบอตที่คล้ายกัน หวังประชันกับ ChatGPT และโหมโปรโมตคุณประโยชน์ของแชตบอตตัวเองที่มีต่ออุตสาหกรรมดั้งเดิม
เครื่องมือ AI เหล่านี้ได้พัฒนากระบวนการแปลซึ่งเคยต้องใช้คนเป็นจำนวนมากก่อนหน้านี้ และสามารถปรับเนื้อหาภาษาจีนเป็นภาษาที่หลากหลายสำหรับตลาดทั่วโลกได้
นอกจากนี้ ข้อมูลจากไชน่า ลิเทอเรเจอร์ ระบุว่า AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแปลภาษาถึงกว่า 100 เท่า และยังลดต้นทุนลงได้กว่า 90% ซึ่งทางแพลตฟอร์มได้เพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยีนี้ตั้งแต่ต้นปี เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของระบบแปลภาษาภายในองค์กร
- ไม่ใช่ผู้อ่านทุกคนจะปลื้มงาน AI
อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมที่แปลโดย AI ในขณะนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับสำหรับผู้อ่านทุกกลุ่ม โดยบางส่วนมองว่าภาษาที่ใช้ยังไม่ได้อรรถรสเท่าที่ควรและยังแปลผิดหลักไวยากรณ์อยู่
“การแปลที่แย่และผิดไวยากรณ์ ทำให้อ่านแล้วรู้สึกขัดอารมณ์ และสุดท้ายก็ไม่คุ้มค่ากับที่เราปวดหัวไปด้วย” ผู้ใช้รายหนึ่งที่ชื่อ Kastelan แสดงความเห็นในเพจนิยาย “Mythical Era” ที่ใช้ AI ช่วยแปลจากภาษาจีนเป็นอังกฤษ
“การแปลภาษาด้วย AI ขยะ ทำให้นิยายดี ๆ พังหมด” ผู้ใช้อีกรายที่ชื่อ Tardtastic ระบุ
ขณะเดียวกัน ผู้อ่านกลุ่มที่สนับสนุนงานแปลโดย AI ก็มองว่า ผลงานแนวใหม่นี้ก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น
“บอกตรง ๆ ช่วงเริ่มต้นเรื่องมันเข้าใจยากมาก โดยเฉพาะการแปลชื่อต่าง ๆ แต่ถ้าคุณอ่านจนติดแล้ว เรื่องจะยิ่งสนุกขึ้นเรื่อย ๆ” ผู้ใช้ที่ชื่อ BadgeLeopard2A7 แสดงความเห็น
- เตรียมใช้ AI แปลภาษาใหม่ ๆ
ไชน่า ลิเทอเรเจอร์ เปิดเผยว่า “WebNovel” แพลตฟอร์มนิยายออนไลน์ระดับโลกของบริษัท เปิดตัววรรณกรรมที่แปลจากภาษาจีนไปแล้วกว่า 3,600 เรื่อง และยังมีแผนจะใช้ AI แปลนิยายของตัวเองเป็นภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย รวมถึงภาษาอังกฤษ สเปน บาฮาซา (อินโดนีเซีย) เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และโปรตุเกส
นอกจากนั้น กลุ่มผู้อ่าน “เจน Z” ซึ่งเกิดระหว่างช่วงกลางทศวรรษ 1990 ถึงช่วงต้นทศวรรษ 2010 คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของยอดการอ่านทั้งหมดบนแพลตฟอร์ม WebNovel ซึ่งมีผู้อ่านหลากหลายจากกว่า 200 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก
อ้างอิง: SCMP