รวมมาครบ! ‘คำแห่งปี’ 2023 จากสถาบันดังทั่วโลก รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์
สำนักภาษาทั่วโลกยกคำศัพท์เกี่ยวกับ “ปัญญาประดิษฐ์” เป็น “คำแห่งปี” ตั้งแต่ “AI” “Authentic” (แท้จริง) และ “Hallucinate” (สร้างข้อมูลเท็จ) รับยุคที่พิสูจน์ความจริงได้ยาก ขณะที่ “ญี่ปุ่น” ยก “ภาษี” เป็น “อักษรคันจิแห่งปี” ส่วน “ฉ่ำ” เป็นคำที่มียอดเอ็นเกจสูงสุดบนโซเชียลไทย
เป็นธรรมเนียมที่ทุกปีบรรดาผู้จัดทำหนังสืออ้างอิงและพจนานุกรมจะต้องคัดเลือก “คำแห่งปี” หรือ “Word of The Year” ขึ้นมาหนึ่งคำ เพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีนั้น ๆ โดยในปีนี้เกือบทุกสถาบันเลือกให้คำที่เกี่ยวข้องกับ “ปัญญาประดิษฐ์” เป็น “คำแห่งปี 2023” ตั้งแต่ “AI” “Authentic” (แท้จริง) และ “Hallucinate” (สร้างข้อมูลเท็จ) สะท้อนว่าปีนี้เป็น “เอไอ” เข้ามามีบทบาทในสังคมเป็นอย่างมาก จนยากที่จะพิสูจน์ได้ว่าอะไรเป็นเรื่องจริงหรือปลอม
แต่ละสำนักจะมีคำว่าอะไรบ้าง และมีความหมายว่าอย่างไร กรุงเทพธุรกิจรวบรวมไว้ที่นี่แล้ว
- “AI” จาก Collins English Dictionary
เริ่มต้นกันที่ “Collins English Dictionary” พจนานุกรมภาษาอังกฤษที่จัดทำโดยสำนักพิมพ์ HarperCollins ของสหรัฐ ยกให้คำว่า “AI” หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” เพราะเป็นการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว และถูกพูดถึงอย่างมากในปี 2023
ทุกวันนี้ AI แฝงตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของมวลมนุษยชาติ โดยที่เราเองอาจจะไม่รู้ตัว เช่น ตัวช่วยพิมพ์ที่คาดว่าเราจะพิมพ์อะไรต่อ ฟิลเตอร์ต่าง ๆ ที่ใช้อย่างแพร่หลายในโซเชียลมีเดีย ไปจนถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง การนำมาใช้วินิจฉัยด้านการดูแลสุขภาพ รถยนต์ไร้คนขับ
เนื่องด้วย AI ถูกพัฒนาความสามารถอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น แถมทำได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วผ่านโปรแกรม Gen-AI ต่าง ๆ จนทำให้คนทั่วไปสามารถใช้ AI สร้างผลงานเชิงสร้างสรรค์ ทั้งงานศิลปะ งานเพลง ภาพถ่าย จนกลายเป็นข้อถกเถียงว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะกฎหมายยังตามไม่ทันเทคโนโลยี อีกทั้งทำให้ผู้คนหวั่นใจว่า AI อาจจะแย่งงานมนุษย์ หรืออาจยึดครองโลกได้เช่นกัน
Collins ระบุว่า AI เปรียบเสมือนกับการสร้างแบบจำลองการทำงานทางจิตของมนุษย์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในมุมหนึ่งเทคโนโลยีช่วยลดข้อผิดพลาดของมนุษย์และช่วยให้ทำงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกัน AI ก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อขโมยงาน ทำลายข้อมูล และสร้างความคลุมเครือทางจริยธรรม
- “authentic” จาก Merriam-Webster
Merriam-Webster ดิกชันนารีที่เก่าแก่ที่สุดของสหรัฐ ระบุว่าในปี 2023 ผู้คนค้นหาคำว่า “Authentic” เพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจาก AI แพร่ระบาดทั่วโซเชียลมีเดียจนทำให้ผู้คนเริ่มแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นจริงปลอม อีกทั้ง “Authentic” มีความหมายกว้างไม่ได้แปลว่า ของแท้ หรือ ของจริงเท่านั้น แต่ตามข้อมูลของพจนานุกรมยังรวมถึง “ไม่เป็นเท็จหรือเลียนแบบ” และ “บุคลิกภาพ จิตวิญญาณ หรืออุปนิสัยที่แท้จริงของบุคคล” อีกด้วย
รวมไปถึง “ความต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีคุณภาพอย่างชัดเจน” ซึ่งในบริบทนี้มักจะหมายถึงการแสดงออกถึงอัตลักษณ์บางอย่าง เช่น อาหาร
นอกจากนี้ “Authentic” ยังถูกใช้พาดหัวข่าวที่เกี่ยวข้องกับเหล่านักร้องและเซเล็บคนดัง เช่น เทย์เลอร์ สวิฟต์ แซม สมิธ และไลนีย์ วิลสัน เมื่อต้องการค้นหา “ตัวตนที่แท้จริง” และ “เสียงจริง” ของเหล่าคนดัง
ส่วนอีลอน มัสก์ ที่มักจะกล่าวให้ผู้คนควรมี “ความจริงใจ” (authentic) ต่อกันบนโลกโซเชียล แต่เขากลับทำสิ่งตรงข้าม หลังจากเข้าซื้อทวิตเตอร์ ซึ่งปัจจุบันคือ X ได้ยกเลิกเครื่องหมายยืนยันตัวตนสีฟ้า หรือว่า Blue Check แต่กลับมอบให้กับใครก็ตามที่สมัครบริการรายเดือนแทน
การเพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์แยกได้ยากขึ้นว่าอะไรคือเรื่องจริง หรือถูกทำขึ้นส่งผลให้คนดัง แบรนด์ และเหล่าอินฟลูในโซเชียลมีเดีย ต่างกระตือรือร้นที่จะพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นตัวจริง
- “hallucinate” จาก Cambridge Dictionary และ Dictionary.com
“hallucinate” เป็นคำที่ถูกผู้จัดทำพจนานุกรมยกเป็น “คำแห่งปี” ถึง 2 สำนัก คือ Cambridge Dictionary ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ และ Dictionary.com ดิกชันนารีออนไลน์ที่ได้รับความนิยม โดยแต่สำนักให้ความหมายของคำนี้ไว้ดังนี้
แคมบริดจ์ระบุว่าความหมายดั้งเดิมของ hallucinate ว่าเป็น “อาการหลอน” ที่มองเห็น ได้ยิน รู้สึก หรือดมกลิ่น ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งมักเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพหรือเสพยา แต่ในตอนนี้มีการเพิ่มความหมายเพิ่มขึ้น โดยใช้กับระบบปัญญาประดิษฐ์ เช่น ChatGPT ซึ่งสร้างข้อความที่เลียนแบบการเขียนของมนุษย์ คล้ายกับอาการหลอน และทำให้เกิดข้อมูลเท็จ
ดังนั้นแคมบริดจ์เลือกคำนี้เป็นคำแห่งปีเพราะการสร้างข้อมูลเท็จของ AI ทำให้เกิดเรื่องไม่จริง และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนต่างพูดถึง AI โดยข้อมูลจากโพสต์ของแคมบริดจ์ระบุว่า Gen-AI เป็นเครื่องมือที่ “ทรงพลัง” แต่ “ยังห่างไกลจากความสมบูรณ์แบบ” พร้อมแนะนำว่ามนุษย์จำเป็นต้องเรียนรู้ถึงการใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ได้
ขณะที่ Dictionary.com ให้ความหมายของ hallucinate ไว้ว่าเป็นอาการที่ AI ผลิตข้อมูลอันเป็นเท็จขัดต่อเจตนาของผู้ใช้ และนำเสนอเสมือนเป็นความจริงและเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งเว็บไซต์เปิดเผยว่าในปีนี้มีการค้นหาคำว่า hallucinate เพิ่มขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
อีกทั้งมีการค้นหาความหมายคำศัพท์เกี่ยวกับ AI เพิ่มขึ้นถึง 62% เมื่อเทียบกับปี 2022
แกรนท์ บาร์เร็ตต์ หัวหน้าแผนกพจนานุกรมของเว็บไซต์ Dictionary.com กล่าวว่า ที่ยกให้คำนี้เป็นคำแห่งปี เพราะว่าคำนี้สามารถสรุปผลกระทบจากเทคโนโลยีที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม จนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและความยุ่งเหยิงต่ออนาคตของมนุษย์ได้ อีกทั้งยังเป็นการพิสูจน์ว่า AI เป็นหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะส่งผลสืบเนื่องต่ออนาคตได้มากที่สุดในช่วงชีวิตของเรา อีกทั้งเป็นคำที่เหมาะสมกับช่วงเวลาที่เทคโนโลยีทำให้เราตกอยู่ในความฝันหรือนิยายที่สร้างขึ้นมาด้วยมือของเราเอง
- “rizz” จาก Oxford
ขณะที่ “Oxford English Dictionary” ของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด มาแปลกกว่าที่อื่น ยกให้คำว่า “rizz” เป็นคำแห่งปี โดยคำนี้เป็นสแลงมีความหมายว่า เสน่ห์ มีแรงดึดดูดเย้ายวนใจ เหมือนกับคำว่า charisma ซึ่งสามารถใช้เป็นคำกริยาได้เมื่อคู่กับคำว่า up เป็น rizz up แปลว่า มีเสน่ห์หรือเย้ายวนใจ
คำนี้นิยมใช้กันมากในหมู่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาวเจน Z ที่ใช้คำนี้ใน TikTok และโซเชียลมีเดียอื่น ๆ สำนักพิมพ์ให้เหตุผลที่ยกให้คำนี้เป็นคำแห่งปีเพราะ คำนี้เป็นการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ที่พยายามสร้างพื้นที่ของตนเอง ผ่านการสร้างสรรค์คำใหม่ ๆ สำหรับสื่อสารระหว่างกัน ให้เป็นภาษาของตนเอง
“ตอนนี้เจน Z เข้ามามีบทบาท สร้างผลกระทบต่อสังคมมากขึ้น ความแตกต่างในไลฟ์สไตล์และมุมมองของเขากับรุ่นอื่น ๆ ก็ส่งผลต่อการใช้ภาษาด้วยเช่นกัน” สำนักพิมพ์กล่าวในแถลงการณ์
- ญี่ปุ่นยกให้ “ภาษี” เป็น “อักษรคันจิแห่งปี”
ทุกวันที่ 12 ธ.ค. ของทุกปีเจ้าอาวาสวัดคิโยมิซุเดระ (วัดน้ำใส) จะประกาศผล “อักษรคันจิแห่งปี” (Kanji of the Year) ผ่านการเขียนอักษรคันจิด้วยพู่กันลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ โดยในปีนี้คำที่ได้รับเลือก คือ 税 อ่านว่า เซอิ หรือ เซย์ แปลว่า ภาษี ได้รับคะแนนโหวตจากประชาชนสูงถึง 5,976 เสียง จากคะแนนโหวตทั้งหมด 147,878 เสียง
จากข้อมูลของสมาคมทดสอบความถนัดคันจิของญี่ปุ่นผู้จัดการโหวตหาอักษรคันจิแห่งปีระบุว่า ตลอดปี 2023 นโยบายภาษีปรากฏในหน้าข่าวและมีการหารือของผู้กำหนดนโยบายอยู่เสมอ อีกทั้งในปีนี้ญี่ปุ่นยังมีการจัดเก็บภาษีการบริโภครูปแบบใหม่ที่เรียกว่า JCT ซึ่งบังคับใช้เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนเองก็เป็นกังวลราคาน้ำมันและสินค้าในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นับเป็นครั้งที่สองแล้วที่คำว่าภาษีถูกเลือกให้เป็นตัวอักษรคันจิแห่งปี ครั้งแรกที่คำนี้ได้รับเลือกคือปี 2014 เมื่อภาษีการบริโภคของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 8% จาก 5%
- “ฉ่ำ” เป็นคำที่มียอดเอ็นเกจสูงสุดบนโซเชียลไทย
บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เก็บรวบรวมข้อมูลคำศัพท์และวลีฮิตมากกว่า 40 คำที่ใช้กันบนโลกโซเชียลในปี 2023 ด้วยเครื่องมือ Social Listening หรือ ZOCIAL EYE ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 12 ธ.ค. 2023 พบว่า “ฉ่ำ” เป็นคำที่มีจำนวนการพูดถึงและจำนวนเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด ถึง 68,658,379 ครั้ง
ฉ่ำ ตามความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะเป็นคำวิเศษณ์ที่มีความหมายว่า ชุ่มชื่น, ชุ่มน้ำในตัว แต่ด้วยความสร้างสรรค์ของคนไทยได้นำคำนี้มาใช้ในอีกความหมายว่า มาก, เยอะ, สุด ๆ โดยใช้ขยายความของคำนาม หรือกริยาอีกที เช่น วีนฉ่ำ แพงฉ่ำ เป็นต้น
ที่มา: AP News, Cambridge, CBS News, Collins Dictionary, Dictionary.com, Japan Times, Kanken, Merriam-Webster, Oxford, Quartz, The Economist, The Guardian, Wisesight
กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี