นายจ้างเผยไม่อยากรับ ‘เด็กจบใหม่‘ ทำงานด้วยยาก ไม่เตรียมตัว ไม่มืออาชีพ
ผลสำรวจเผย นายจ้างไม่อยากจ้าง “เด็กจบใหม่” เพราะรู้สึกว่าทำงานด้วยยาก ไม่มีทักษะทางสังคม ไม่เป็นมืออาชีพ บางคนพาพ่อแม่มาสัมภาษณ์งานด้วย ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ เป็นเพราะโควิดทำให้ขาด “ซอฟต์สกิล” ที่จำเป็น
“เด็กจบใหม่” ช่วงนี้เป็นรุ่นที่ต้องเรียนออนไลน์ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าสังคม จนทำให้นายจ้างไม่อยากรับพวกเขาเข้าทำงาน เพราะเจอประสบการณ์แปลก ๆ ระหว่างการสัมภาษณ์งาน เช่น ไม่กล้าสบตา แต่งตัวไม่เรียบร้อย เรียกเงินเดือนสูงไป หนักสุดพาพ่อแม่มาสัมภาษณ์งานด้วย
- เด็กจบใหม่ไม่พร้อมทำงาน?
นิตยสารออนไลน์ Intelligent ทำการสำรวจความเห็นผู้บริหาร กรรมการ ผู้จัดการ และตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงาน จำนวน 800 ราย พบว่านายจ้างถึง 40% ชอบจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์การทำงานมาแล้ว มากกว่าจะจ้าง “เด็กรุ่นใหม่” ที่พึ่งเรียนจบ เนื่องจากเด็กพึ่งจบใหม่ไม่สามารถสร้างความประทับใจในการเจอกันครั้งแรกได้
นายจ้างให้เหตุผลว่าเด็กจบใหม่ดู “ไม่พร้อม” และเตรียมตัวมาไม่ดีพอในการสัมภาษณ์งาน มากกว่าครึ่งหนึ่งกล่าวว่าเด็กจบใหม่ไม่สบตาระหว่างการสัมภาษณ์ และ 50% ของผู้จ้างงานกล่าวว่า เด็กจบใหม่เรียกร้องค่าชดเชยที่ไม่สมเหตุสมผล
ขณะที่นายจ้างเกือบครึ่งหนึ่งระบุว่าผู้สมัครงานรุ่นใหม่แต่งกายมาไม่เหมาะสมกับการสัมภาษณ์งาน ส่วนอีก 21% พบว่าเด็กรุ่นใหม่ปฏิเสธที่จะเปิดกล้องเวลาสัมภาษณ์งานผ่านระบบออนไลน์ และยังมีอีกเกือบ 20% กล่าวว่าเจอเด็กที่เพิ่งเรียนจบพาผู้ปกครอง มาสัมภาษณ์งานด้วย
ด้วยเหตุนี้นายจ้างจึงอยากจ้างคนที่เคยทำงานมาแล้ว แม้ว่าจะต้องยื่นข้อเสนอที่สูงกว่า เช่น เงินเดือน สวัสดิการ การทำงานแบบไฮบริดและ Work From Home หรือแต่บางคนจะมีคุณสมบัติที่สูงกว่าต่ำแหน่งก็ตาม เพื่อดึงดูดให้พวกเขาสนใจทำงาน
นอกจากนี้ นายจ้างส่วนใหญ่มีทัศนคติในแง่ลบกับเด็กจบใหม่ โดยมีนายจ้างถึง 85% เห็นด้วยว่าเด็กรุ่นใหม่ทำงานด้วยยาก ขณะที่อีก 63% เห็นว่าเด็กจบใหม่เรียกร้องสิทธิ์มากเกินไป อยากทำอะไรก็ตามที่อยากจะทำ ขณะที่ 58% มองว่าเด็กเจน Z อารมณ์ขึ้นง่ายเกินไป
รวมไปถึงนายจ้างรู้สึกว่าเด็กจบใหม่ไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน โดยนายจ้างให้เหตุผลว่า เด็กเพิ่งเรียนจบไม่สามารถจัดการภาระงานของตนได้ (61%) ทำงานไม่ทันตามเวลาที่กำหนด (59%) ขาดความเป็นมืออาชีพ (57%) ไม่ตอบสนองหรือไม่พอใจกับฟีดแบ็กในการทำงาน (55%) เข้าประชุมสาย (53%) และมีทักษะในการสื่อสารที่ไม่ดี (52%)
นายจ้าง 47% ยอมรับว่าเพิ่งไล่เด็กจบใหม่ออกจากงาน
- โควิด-19 ทำลายโอกาสเด็กจบใหม่สร้างทักษะสังคม
ไดแอน เอ็ม เกย์สกี ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ที่วิทยาลัยอิธากา กล่าวว่าพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่นายจ้างพูดถึงไม่อาจจะโทษว่าเป็นความผิดของพวกเขาทั้งหมด แต่ส่วนมากเกิดจากการพยายามปรับตัวในสถานการณ์โควิด-19
“นายจ้างจำเป็นต้องรับรู้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำลายชีวิตของเด็กจบใหม่ เพราะพวกเขาต้องเรียนออนไลน์ ทำให้ขาดโอกาสการพัฒนาทักษะทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชมรม ฝึกงาน หรือหางานพิเศษทำช่วงซัมเมอร์” เกย์สกีกล่าวในรายงานการศึกษาของ Intelligent
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่รับเด็กจบใหม่เข้าทำงาน เปิดหลักสูตรอบรมพัฒนา “ซอฟต์สกิล” ให้แก่ชาวเจน Z ที่เรียนจบในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด
บริษัทในกลุ่ม “Big4” ของวงการตรวจสอบบัญชี พบว่า เด็กจบใหม่กำลังประสบปัญหาในการใช้ทักษะพื้นฐาน เช่น การนำเสนองาน การจัดการโครงการ การทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบเจอหน้ากัน ซึ่งเมื่อเข้าทำงานจริง พวกเขาก็ไม่สามารถปรับตัวและเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับออฟฟิศได้ ทางบริษัท จึงได้จัดโครงการพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้แก่เด็กจบใหม่
ทั้ง KPMG, Deloitte และ PWC ต่างเปิดโปรแกรมฝึกสอนซอฟต์สกิล และทักษะพื้นฐานให้แก่เด็กรุ่นใหม่ โดยให้พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศสัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อสร้างความคุ้นเคย
“โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเด็กจบใหม่และเด็กฝึกงานที่เพิ่งเข้าสู่วัยทำงาน มันทำให้พวกเขาพลาดโอกาสไปเยอะมาก” จอน โฮลต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ KPMG UK กล่าวกับ สำนักข่าว The Telegraph
อย่างไรก็ตามโฮลต์ได้กล่าวชื่นชมเด็กรุ่นใหม่ที่มีความยืดหยุ่นต่อการทำงาน เพราะถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องคอยสนับสนุนพวกเขาในช่วงเริ่มต้นอาชีพ ด้วยการเปิดหลักสูตรเพื่อช่วยสร้างซอฟต์สกิลที่พวกเขาขาดไป พร้อมกับฝึกอบรมทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นในปัจจุบัน เช่น ความยั่งยืน และเทคโนโลยี เป็นต้น
ที่มา: Insider 1, Insider 2, New York Post, The Telegraph