รถไฟฟ้าราคาประหยัด มิชชันกลางปี 68 ค่ายเทสลา
เทสลาเตรียมผลิตรถไฟฟ้ารุ่นใหม่สำหรับตลาดแมส ภายใต้โค้ดเนม “Redwood” กลางปี 2568 เป็นรถครอสโอเวอร์ขนาดกะทัดรัด
แหล่งข่าววงใน 4 รายเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์เมื่อวันพุธ (24 ม.ค.) ว่า เทสลาได้ติดต่อกับซัพพลายเออร์เพื่อเตรียมผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่สำหรับตลาดแมส ภายใต้โค้ดเนม “Redwood” ภายในกลางปี 2568 โดยจะเป็นรถครอสโอเวอร์ขนาดกะทัดรัด
รถ EV ดังกล่าว รวมถึงรุ่นเริ่มต้นที่ราคา 25,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 893,000 บาท จะช่วยให้เทสลาสามารถแข่งกับรถน้ำมันราคาประหยัดและรถ EV ราคาไม่แพง เช่น BYD ของจีนได้
แหล่งข่าว 2 รายเผยว่า เทสลาได้ส่ง “คำขอใบเสนอราคา” หรือคำเชิญชวนเข้าร่วมประมูลสำหรับรถยนต์รุ่น “Redwood” ไปยังซัพพลายเออร์เมื่อปีที่แล้ว โดยคาดการณ์ปริมาณการผลิตไว้ที่ 10,000 คันต่อสัปดาห์
ส่วนแหล่งข่าวอีก 3 รายระบุว่า การผลิตรถ Redwood จะเริ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. 2568
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเทสลามักเปิดตัวและตั้งราคาจริงไม่ตรงตามเป้าหมายเดิมที่ระบุไว้ และการผลิตรถยนต์จำนวนมากต้องใช้เวลาพอสมควร
“พวกเขามีแนวโน้มมองโลกในแง่ดีเกินไปกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ส่วนใหญ่ การผลิตรุ่นนี้น่าจะเริ่มจริงในปี 2569” แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าว
นอกจากนี้ แหล่งข่าวอีก 2 รายยังบอกว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทสลาได้ทำการถอดชิ้นส่วนฮอนด้า ซีวิค เพื่อศึกษาแนวทางการผลิตรถยนต์ราคาประหยัด
แหล่งข่าวระบุว่า สถาปัตยกรรมรถยนต์รุ่นถัดไปของเทสลา ซึ่งเรียกกันภายในว่า “NV9X” จะรวมถึงรถ 2 รุ่นขึ้นไป
ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวระบุว่า เทสลามีแผนสร้างโรงงานผลิตรถ EV ราคาประหยัดที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี และสนใจที่จะสร้างโรงงานแบบเดียวกันนี้ในอินเดียด้วย
การเคลื่อนไหวของเทสลามีขึ้นหลังจากเมื่อวันอังคาร(23ม.ค.)บีวายดี บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รายใหญ่ที่สุดของโลกจากจีน ขึ้นแท่นแบรนด์รถยนต์ขายดีที่สุดในจีนประจำปี 2566 อย่างเป็นทางการ แซงหน้าโฟล์คสวาเกน ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าการเดิมพันหมดหน้าตักกับรถยนต์ไฟฟ้าในจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังผลิดอกออกผลและช่วยให้บริษัททำยอดขายแซงหน้าแบรนด์ชื่อดังระดับโลกได้
ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีและวิจัยยานยนต์จีน (CATRC) ระบุว่า บีวายดีมียอดจดทะเบียนประกันภัยรถยนต์ใหม่ในจีน 2.4 ล้านรายการเมื่อปีที่แล้ว ทำให้บริษัทสามารถคว้าส่วนแบ่งตลาดจากทั่วประเทศได้ 11% ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.2 จุดเปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบรายปี
ยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้ำหน้าของบีวายดีในด้านการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดและไฮเทค ซึ่งกำลังได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างรวดเร็ว จนทำให้บริษัทต่าง ๆ เช่น สเตลแลนทิส เอ็นวี และโฟล์คสวาเกน เริ่มหันมาพึ่งพาบริษัทรถยนต์จีนในกลยุทธ์ด้านรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง
ก่อนหน้านี้ บีวายดีเบียดโฟล์คสวาเกนขึ้นแท่นแบรนด์รถยนต์ที่ขายดีที่สุดเมื่อเทียบรายไตรมาสเมื่อปีที่แล้ว แต่ข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่า ยอดขายรายปีของบีวายดีแซงหน้าโฟล์คสวาเกนแล้วเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ โฟล์คสวาเกนเคยเป็นรถยนต์ที่ขายดีที่สุดในจีนนับตั้งแต่ปี 2551 เป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นปีแรกที่ CATRC เริ่มเปิดเผยข้อมูล
ในบรรดาแบรนด์รถยนต์ 5 อันดับแรกอื่น ๆ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป และฮอนด้า มอเตอร์ โค ต่างมีส่วนแบ่งตลาดและยอดขายที่ลดลง ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศจีนอย่างบริษัทฉงชิ่ง ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด ได้รับผลประโยชน์จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าส่วนแบ่งตลาดของบริษัทจะทรงตัวก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงอันดับดังกล่าวถือเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับบีวายดีและผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ๆ ของจีนในปี 2567 โดยการเติบโตของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดโดยรวมในประเทศจีนมีแนวโน้มจะขยายตัวขึ้น 25% สู่ระดับ 11 ล้านคัน
โกลบอลดาตา ระบุว่า ยอดขายทั่วโลกของบีวายดีสูงกว่า 3 ล้านคัน ส่งผลให้บริษัทมีแนวโน้มก้าวขึ้นสู่การเป็นหนึ่งในบริษัท 10 อันดับแรกที่มียอดขายรถยนต์สูงสุดทั่วโลกเป็นครั้งแรก โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไตรมาส 4 เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะแซงหน้าเทสลาในฐานะผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของโลกได้เป็นครั้งแรก
ส่วนมุมมองของผู้บริหารระดับสูงค่ายรถชั้นนำที่มีต่ออนาคตของรถอีวีนั้น ‘อากิโอะ โตโยดะ’ ประธานบริษัทโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกเมื่อพิจารณาจากยอดขาย มีความเห็นว่า ผู้ผลิตรถยนต์ไม่ควรมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่ควรพัฒนาควบคู่กับเทคโนโลยีอื่นๆ ด้วย เช่น รถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่โตโยต้ากำลังพัฒนาอยู่ พร้อมกับระบุว่าศัตรูคือคาร์บอนไดออกไซด์
โตโยดะ เชื่อว่ารถยนต์อีวี 100% จะครองส่วนแบ่งตลาดได้สูงสุดแค่ 30% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าส่วนแบ่งตลาดของโตโยต้าในสหราชอาณาจักรถึงสองเท่า ส่วนที่เหลืออีก 70% จะเป็นของรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน
โตโยดะ ยังกล่าวด้วยว่า ลูกค้าควรเลือกรถประเภทใดก็ได้ที่เหมาะกับความต้องการ และการเปลี่ยนไปใช้อีวีจะไม่รวดเร็วอย่างที่บางคนคาดการณ์ไว้
กลยุทธ์แนวทางที่หลากหลายของโตโยต้าได้รับการพิสูจน์แล้ว หลังจากที่โตโยต้า เปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมียอดการผลิตรถยนต์ 9.2 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้น 7% เป็น 10.2 ล้านคัน