13 ก.พ. 'วันรักนกเงือก' ไขข้อสงสัยทำไม 'นกเงือก' ถึงเป็นสัญลักษณ์แห่งรักแท้
13 กุมภาพันธ์ 'วันรักนกเงือก' ไขข้อสงสัยทำไม 'นกเงือก' ถึงเป็นสัญลักษณ์แห่ง 'รักแท้' และความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งเป็น 'วันรักนกเงือก' ทั้งนี้ 'นกเงือก' ยังเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความซื่อสัตย์ ตลอดชีวิตของนกเงือกเมื่อจับคู่ผสมพันธุ์กันแล้วจะมีคู่เพียงครั้งเดียว โดย 'นกเงือกตัวผู้' จะทำหน้าที่คอยหาอาหารให้และคอยดูแลปกป้องลูกนกและแม่นกให้ปลอดภัย หากตัวใดตัวหนึ่งตายไปมันก็พร้อมตรอมใจตายตามไปด้วย
นกเงือก สัญลักษณ์แห่งรักแท้ และความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า
นอกจากนี้ นกเงือก ยังเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าอีกด้วย เนื่องจาก นกเงือกกินผลไม้สุกเป็นอาหาร มากกว่า 300 ชนิด ทั้งผลไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อีกทั้งพฤติกรรมของนกเงือกบินหาอาหารไปทั่ว และกินผลไม้เข้าไปทั้งผลแล้วขย้อนเมล็ดออกมา จึงสามารถนำพาเมล็ดพันธุ์พืชไปทิ้งไว้ยังที่ต่าง ๆ และเจริญขึ้นเป็นต้นกล้าได้ทั่วป่า นับเป็นบทบาทเด่นของนกเงือกในการช่วยกระจายพันธุ์ไม้ในป่า รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และทำให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ
ในปี พ.ศ. 2547 มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งดำเนินการศึกษาวิจัยนกเงือกมานานกว่า 20 ปี จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น 'วันรักนกเงือก' เพื่อให้สังคมและประชาชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
นกเงือก เป็นนกป่าขนาดใหญ่ ที่มีจุดเด่น คือ จะงอยปากหนาที่ใหญ่และมีโหนกทางด้านบนเป็นโพรง ภายในโพรงมีเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำ ส่วนใหญ่ลำตัวมีสีขาวดำหางยาว ปีกกว้างใหญ่ บินได้แข็งแรง เวลาบินจะโบกปีกช้า ๆ กินผลไม้เป็นอาหารหลัก และสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ เป็นอาหารเสริม ทำรังในโพรงไม้ ตัวเมียจะเข้าไปกกไข่ในโพรงโดยใช้โคลนและมูลปิดปากโพรงไว้ เหลือเพียงช่องพอให้ตัวผู้ยื่นส่งอาหารเข้าไปได้ เมื่อลูกนกโตพอแล้ว จึงเจาะโพรงออกมา และจากจะงอยปากและส่วนหัวที่ใหญ่เหมือนโหนกหรือหงอนนั้น ทำให้นกเงือกถูกใช้ในเชิงสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาแต่โบราณ โดยใช้ทำเป็นเครื่องประดับของชนเผ่าต่าง ๆ
ลักษณะการทำรังของนกเงือกจะแปลกจากนกอื่น ๆ คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวเองอยู่ภายในเพื่อออกไข่และเลี้ยงลูก
ประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ด้วยกัน โดยในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีอาณาเขตส่วนหนึ่งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา มี 4 ชนิด ได้แก่ นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ และนกแก๊ก หรือนกแกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบ 9 ใน 12 ชนิดของนกเงือกที่พบในไทย ได้แก่ นกเงือกปากย่น นกเงือกชนหิน นกแก๊ก นกกก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ นกเงือกกรามช้าง
รายชื่อนกเงือกที่พบในประเทศไทย
- นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง
- นกเงือกหัวแรด
- นกเงือกหัวหงอก
- นกชนหิน
- นกแก๊ก หรือ นกแกง
- นกเงือกดำ
- นกเงือกคอแดง
- นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว
- นกเงือกสีน้ำตาล
- นกเงือกปากดำ
- นกเงือกปากย่น
- นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋
- นกเงือกกรามช้างปากเรียบ
ที่มา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช / wikipedia