14 กุมภาฯ 'วันรักษ์พญาแร้ง' กับเรื่องราวการสูญสิ้น พญาแร้ง ไปจากป่าเมืองไทย
14 กุมภาพันธ์ 'วันรักษ์พญาแร้ง' กับเรื่องราวการสูญสิ้น 'พญาแร้ง' ไปจากป่าเมืองไทย และความหวังที่จะได้เห็นกลับมาโบยบินเหนือป่าห้วยขาแข้งอีกครั้ง
'วันรักษ์พญาแร้ง' จัดขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ 'พญาแร้งฝูงสุดท้าย' ถูกวางยาตายยกฝูง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 จากเหตุการณ์พรานวางยาเนื้อเก้งเพื่อหวังให้เสือโคร่งมากิน แต่กลับกลายเป็น 'พญาแร้ง' ที่ลงมากินซาก กว่า 30 ตัว และตายยกฝูงในคราวเดียว เป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปีที่เราได้สูญสิ้นพญาแร้งไปจากป่าเมืองไทย นับตั้งแต่นั้นมา
'แร้ง' มีความสำคัญต่อระบบนิเวศมาก เพราะแร้งเป็นสัตว์กินซาก (Scavenger) จากงานวิจัยพบว่าในกระเพาะอาหารของแร้งมีความเป็นกรดสูงมาก จึงทำให้เชื้อโรคไม่สามารถเติบโตได้ แร้งจึงเป็นนักควบคุมโรคชั้นดี มีความสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และถือเป็นเทศบาลประจำผืนป่าอีกด้วย
การสูญพันธุ์ของพญาแร้งตามธรรมชาตินั้น จึงนับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง แต่ภายใต้ความโศกเศร้านี้ กลับมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยังมีความหวังว่า พวกเขานั้นสามารถฟื้นฟู 'พญาแร้งสายพันธุ์ไทย' ให้กลับมามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง พวกเขาวางแผนเพาะพันธุ์พญาแร้งที่เหลืออยู่ในกรงเลี้ยง เพื่อหวังว่าสักวันหนึ่งพญาแร้งจะกลับมาบินอีกครั้งในผืนป่าของไทย โดยความร่วมมือนี้เกิดจาก 4 องค์กร ได้แก่ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในชื่อโครงการ 'การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย' แต่การทำโครงการนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะการจะทำให้สัตว์ที่สูญพันธุ์จากธรรมชาติกลับคืนมานั้นมันช่างยากเย็นยิ่งกว่าการทำให้มันหายไปหลายเท่าเลยทีเดียว
ปัจจุบันประเทศไทยมี 'พญาแร้ง' ในกรงเลี้ยงที่ได้มาจากการพลัดหลงจากการอพยพผ่านประเทศไทย และได้รับมอบจากสวนสัตว์พาต้า รวมเป็นทั้งหมด 6 ตัว ถูกนำมาดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพที่สวนสัตว์นครราชสีมา จำนวน 4 ตัว (2 คู่) และอยู่ในกรงฟื้นฟูขนาด 20×40 เมตร สูง 20 เมตร บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จำนวน 2 ตัว (1 คู่) ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการที่จะฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในธรรมชาติที่เป็นถิ่นอาศัยเดิมในผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง ให้กลับมาโบยบินอีกครั้ง
และตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมานี้ โครงการ 'การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย' ได้ดำเนินการมาจนจะเข้าใกล้ความสำเร็จเข้าไปทุกที โดยโครงการนี้สามารถดูแลและฟื้นฟูให้พญาแร้งสามารถผสมพันธุ์และออกไข่ได้ และสามารถให้กำเนิด 'ต้าวเหม่ง' ลูกพญาแร้ง เพศเมีย ตัวแรกของไทย ได้สำเร็จ ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2566
โครงการ 'การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย' มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กรเครือข่ายได้ร่วมดำเนินโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการฯ เพื่อเป็นต้นแบบในการฟื้นฟูประชากรแร้งในพื้นที่ธรรมชาติในการช่วยฟื้นฟูประชากรพญาแร้งให้กลับคืนมา ผ่านการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา วิจัย และการฟื้นฟูประชากรได้ที่ โครงการพญาแร้งคืนถิ่น ธนาคารกรุงไทย สาขาเทสโก้โลตัส รัตนาธิเบศร์ บัญชีเลขที่ 679-6-72119-5
ข้อมูลจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร / โครงการ “การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย”