‘ตุ๊กตุ๊กไทย’ มีที่มาจากไหน ทำไมใครๆ ก็มองว่าเป็น Soft Power ?

‘ตุ๊กตุ๊กไทย’ มีที่มาจากไหน ทำไมใครๆ ก็มองว่าเป็น Soft Power ?

ไฮไลต์หนึ่งของการมาเที่ยวเมืองไทยของใครหลายคนคงหนีไม่พ้น “รถตุ๊กตุ๊ก” ที่โด่งดังไปทั่วโลกผ่านแวดวงบันเทิงและการท่องเที่ยว แม้แต่คนดังยังต้องได้สัมผัสสักครั้ง จนอาจเรียกได้ว่า Soft Power แต่ความจริงแล้วรถโดยสารคันเล็กนี้ อาจไม่ใช่ของไทยแต่แรก ?

Key Points:

  • “รถตุ๊กตุ๊ก” นอกจากจะเป็นรถโดยสารที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมไทยมานาน ยังเป็นกิจกรรมยอดฮิตสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยอีกด้วย เพราะเมื่อมาถึงแล้วก็ต้องขึ้นรถตุ๊กตุ๊กถ่ายภาพเป็นที่ระลึกสักครั้ง แม้แต่คนดังระดับโลกยังไม่พลาด
  • แม้ว่าภาพจำของรถตุ๊กตุ๊กจะเป็นฉากของประเทศไทยเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่แท้จริงแล้วมีต้นกำเนิดอยู่ที่ “อิตาลี” ในฐานะรถสามล้อและไทยเองก็นำเข้ารถสามล้อมาจาก “ญี่ปุ่น” ภายใต้แบรนด์ “ไดฮัทสุ”
  • ทุกวันนี้หลายคนมองว่ารถตุ๊กตุ๊กก็ถือเป็น “Soft Power” ที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของประเทศไทย ทั้งในแง่มุมของการท่องเที่ยว และในสื่อบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ มิวสิควิดีโอ เวทีนางงาม และล่าสุดกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่แฟนคลับศิลปินเลือกใช้ทำโปรเจ็กต์

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทย แล้วไม่ได้สัมผัสกับการโดยสาร “รถตุ๊กตุ๊ก” ก็อาจจะเรียกได้ว่ายังมาไม่ถึง เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมารถตุ๊กตุ๊กถือเป็นไฮไลต์สำคัญที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจและกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพราะนอกจาก “การท่องเที่ยว” แล้ว ยังอยู่ในภาพยนตร์ชื่อดังหลายเรื่อง รวมถึงคว้าชัยชนะรางวัลชุดประจำชาติบนเวทีระดับโลกอย่างมิสยูนิเวิร์ส ปี 2015 ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนอยากจะลองขึ้นตุ๊กตุ๊กเที่ยวดูสักครั้ง แม้แต่คนดังระดับโลกหลายคนเมื่อมีโอกาสได้มาเยือนประเทศไทยก็ไม่พลาดที่จะขึ้นรถตุ๊กตุ๊กและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ทำให้หลายคนมองว่าตุ๊กตุ๊กนี่แหละที่เป็นหนึ่งใน “Soft Power” ที่สำคัญของประเทศไทย

แม้ว่ารถตุ๊กตุ๊กหรือ “สามล้อเครื่อง” จะโด่งดังอยู่คู่วัฒนธรรมไทยมานานหลายปี แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นของ “รถตุ๊กตุ๊ก” มาจากประเทศอิตาลีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ก่อนจะเริ่มได้รับความนิยมในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งใน ค.ศ. 1957 ประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มจำหน่ายรถบรรทุกสามล้อภายใต้แบรนด์ “ไดฮัทสุ” (Daihatsu) จนกระทั่งปี 1960 ประเทศไทยจึงเริ่มนำเข้ารถจากไดฮัทสุมาขายเป็นครั้งแรกจำนวน 30 คัน และเมื่อได้รับความนิยมมากขึ้นทำให้มีการนำเข้ารถสามล้อลักษณะเดียวกันเข้ามาอีกหลายแบรนด์ เช่น ฮีโน่ มาสด้า มิตซูบิชิ เป็นต้น รวมถึงดัดแปลงให้เหมาะสมกับการจราจรในไทย จนได้ความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

  • “อิตาลี” ประเทศที่ให้กำเนิด รถตุ๊กตุ๊ก ?

ย้อนกลับไปในปี 1948 ที่ประเทศอิตาลี “รถตุ๊กตุ๊ก” ที่ตอนนั้นเรียกกันว่ารถสามล้อถูกผลิตขึ้นโดยผู้ผลิตเดียวกับรถเวสปป้า นั่นก็คือ ปิอาจโจ อาเป (Piaggio Ape) ในช่วงแรกอาจจะมีจุดประสงค์เพื่อใช้สำหรับขนส่งวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปให้กับร้านค้าทั่วๆ ไป แต่เมื่อเข้าสู่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รถสามล้อก็เริ่มได้รับความนิยมในฐานะ “รถโดยสาร”

เนื่องจากในช่วงเวลานั้นผู้คนจำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ด้วยความที่มีต้นทุนการผลิตต่ำรถสามล้อจึงถือว่าเป็นทางเลือกที่ไม่แพงมากสำหรับใช้เป็นรถโดยสาร แม้ว่าจะมีขีดความเร็วจำกัดอยู่ที่ 30ไมล์ต่อชั่วโมงก็ตาม (ประมาณ 48 กิโลเมตร)

หลังจากนั้น “รถสามล้อ” อิตาเลียนก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ทั้งในแถบเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ และตะวันออกกลาง ซึ่งประเทศที่ได้รับอิทธิพลมาค่อนข้างมากก็คือ “ญี่ปุ่น” ในช่วง ค.ศ. 1957 แต่ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดอีกประเทศหนึ่งก็คือ “ไทย” โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่กลายเป็นกิจกรรมเช็กอินที่สำคัญของชาวต่างชาวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว

  • “ไดฮัทสุ” รถสามล้อจากญี่ปุ่น สู่ “รถตุ๊กตุ๊ก” เมืองไทย

ในอดีตคนในกรุงเทพฯ เริ่มมีความต้องการรถโดยสารแบบอื่นที่มีราคาย่อมเยากว่ารถแท็กซี่ แต่ก็มีความสะดวกสบายกว่ารถเมล์หรือรถราง ทำให้ “รถสามล้อ” กลายเป็นตัวเลือกใหม่ที่หลายคนให้ความสนใจ ทำให้ในปี 1960 ไทยนำเข้ารถสามล้อแบรนด์ไดฮัทสุ (Daihatsu) รุ่น Midget DK เข้ามา จำนวน 30 คัน ซึ่งรถรุ่นดังกล่าวมีลักษณะเป็นรถบรรทุกสามล้อขนาดเล็ก เป็นรถสองจังหวะ มีไฟหน้าหนึ่งดวง แต่มีที่บังคับรถเหมือนจักรยานยนต์ คนไทยในสมัยนั้นจึงเรียกกันว่า “สามล้อเครื่อง” โดยสามารถพบเห็นได้บริเวณถนนเยาวราช ก่อนจะเริ่มมีให้เห็นตามถนนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

‘ตุ๊กตุ๊กไทย’ มีที่มาจากไหน ทำไมใครๆ ก็มองว่าเป็น Soft Power ?

Daihatsu Midget DK (VOGUE)

ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นก็ได้มีการนำเข้ารถไดฮัทสุ รุ่น Midget MP4 มาเพิ่ม ซึ่งในรุ่นนี้จะมีประตูสองข้างเพิ่มเข้ามา และเริ่มมีการขยายการจำหน่ายไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะพระนครศรีอยุธยาและตรัง ด้วยความที่คนไทยนิยมรถสามล้อเครื่องกันเป็นอย่างมากทำให้มีการนำเข้ารถยี่ห้ออื่นๆ ตามมา

ช่วงแรกที่รถสามล้อเครื่องเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย มีการนำเข้ามาอยู่ที่ราคาคันละ 20,000 บาทโดยประมาณ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ไดฮัทสุ ฮีโน่ มาสด้า ฮอนด้า และมิตซูบิชิโดยปัจจุบันรถสามล้อเครื่องเหล่านี้มีราคาพุ่งไปจนถึงหลักแสนต่อคัน ซึ่งทุกวันนี้ในประเทศไทยเหลืออยู่แค่ 3 ยี่ห้อเท่านั้น ได้แก่ ไดฮัทสุ มาสด้า มิตซูบิชิ

แม้ว่ารถสามล้อเครื่องเหล่านี้จะเกือบหายไปจากประเทศไทยเนื่องจากในปี 1965 รัฐบาลมองว่าเป็นรถที่มีแรงม้าต่ำทำให้วิ่งได้ช้าและกีดขวางการจราจร แต่เมื่อเจอกับการประท้วงของผู้ใช้รถสามล้อเครื่องก็ตัดสินใจล้มเลิกแผนไป

ต่อมาในช่วงปี 1980 รถสามล้อเครื่องที่มีเครื่องยนต์เสียงดังและมีเขม่าควันออกมาเป็นจำนวนมากก็ถูกแทนที่ด้วยรถสามล้อเครื่องรุ่นใหม่ที่เสียงเงียบกว่าและปล่อยมลพิษน้อยกว่า ทำให้เรายังได้เห็นสามล้อเครื่องหรือ “รถตุ๊กตุ๊ก” มาจนถึงปัจจุบัน และไม่ใช่แค่นั้นแต่รถตุ๊กตุ๊กยังกลายเป็นภาพจำของประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติอีกด้วย

  • รถตุ๊กตุ๊ก “Soft Power” ชื่อดังของเมืองไทย

บางคนอ่านมาจนถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าแล้วจาก “สามล้อเครื่อง” กลายมาเป็น “รถตุ๊กตุ๊ก” อย่างในปัจจุบันนี้ได้อย่างไร คำตอบก็คือในช่วงแรกที่ชาวต่างชาติมาใช้บริการแต่ไม่รู้ว่าควรออกเสียงชื่อรถเหล่านี้ว่าอะไร เลยอาศัยเรียกตามเสียงที่ได้ยินจากท่อไอเสียของรถว่าตุ๊กตุ๊กนั่นเอง และทำให้รถตุ๊กตุ๊กกลายเป็นขวัญใจชาวต่างชาติมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่โด่งดังไกลไปในระดับโลกด้วย ซึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ชื่อเสียงของรถโดยสารคันเล็กนี้ได้รับการพูดถึง ก็คือการนำเสนอรถตุ๊กตุ๊กผ่านภาพยนตร์ไทยชื่อดัง “องค์บาก” ที่ต่อมากลายเป็นหนังแอคชันไทยระดับตำนานที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก หรือภาพยนตร์ต่างชาติเรื่อง The Gray Man ที่นอกจากจะได้รับการตอบรับที่ดีแล้ว ยังมีชาวต่างชาติทดลองเหมาตุ๊กตุ๊กจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่เพื่อตามรอยภาพยนตร์อีกด้วย แม้ว่าจะตกใจกับค่าโดยสารแต่ก็ถือว่าทำให้รถตุ๊กตุ๊กได้รับการพูดถึงในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก

‘ตุ๊กตุ๊กไทย’ มีที่มาจากไหน ทำไมใครๆ ก็มองว่าเป็น Soft Power ? ภาพยนตร์ The Gray Man (beartai)

ไม่ใช่แค่วงการภาพยนตร์เท่านั้น แต่รถตุ๊กตุ๊กก็ปรากฏอยู่ในอุตสาหกรรม K-POP เช่นกัน เมื่อ SUGA (ชูก้า) จากวง บีทีเอส (BTS) เลือกประเทศไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำมิวสิควีดิโอเพลง Haegeum และปรากฏภาพของรถตุ๊กตุ๊ก อาหารไทย รวมถึงสถานที่ต่างๆ ของไทยอยู่ใน MV

อ่านข่าว :

ก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ตุ๊กๆ Soft Power ไทยในเพลง 'Haegeum' ของ SUGA บีทีเอส

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สร้างเสียงฮือฮาให้กับ “รถตุ๊กตุ๊ก” เป็นอย่างมากก็คือเมื่อครั้งที่ แนท อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ สวมชุด “ตุ๊กตุ๊ก ไทยแลนด์” ขึ้นเวที Miss Universe 2015 และคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมกลับมาได้ แม้ว่าก่อนหน้านั้นชุดดังกล่าวจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความเหมาะสมก็ตาม แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในด้านการนำเสนอ “ประเทศไทย” ออกไปสู่สายตาชาวโลก สำหรับชุดตุ๊กตุ๊ก ไทยแลนด์ ออกแบบโดย หิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย คณะมัณฑนศิลป์  มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งในปัจจุบันชุดตุ๊กตุ๊ก ไทยแลนด์ ก็ยังคงได้รับการพูดถึงในแวดวงนางงามในเรื่องความสวยงามแปลกใหม่ที่ยังหาคนมาเปรียบเทียบได้ยาก

‘ตุ๊กตุ๊กไทย’ มีที่มาจากไหน ทำไมใครๆ ก็มองว่าเป็น Soft Power ?

อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ ในชุด ตุ๊กตุ๊ก ไทยแลนด์ (Major Group)

แม้ว่าปัจจุบันความนิยมโดยสารด้วย “รถตุ๊กตุ๊ก” อาจลดน้อยถอยลงไปบ้างเพราะมีขนส่งมวลชนสาธารณะรูปแบบใหม่ที่สะดวกกว่าเกิดขึ้นมากมาย แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้รถตุ๊กตุ๊กยังอยู่ได้นอกจากผู้โดยสารขาประจำที่ส่วนมากจะเป็นกลุ่มนักเรียนหรือพ่อค้าแม่ค้าแล้วก็คือ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ที่มองว่าหากมาเที่ยวเมืองไทยก็ต้องได้ลองนั่งรถตุ๊กตุ๊ก เพราะถือว่าเป็นกิจกรรมสำคัญที่ไม่ควรพลาด จะเรียกได้ว่าเป็นการเช็กอินก็ว่าได้ ทำให้เหล่าคนดังมากมายที่ได้เดินทางมายังประเทศไทย ต่างพากันขึ้นรถตุ๊กตุ๊กและถ่ายรูปลงโซเชียลกันเป็นจำนวนมาก เช่น ชินเซคยอง และ ฮาซอกจิน นักแสดงชาวเกาหลีใต้ หรือล่าสุด เอ็ด ชีแรน ศิลปินชื่อดังที่ถ่ายภาพนั่งรถตุ๊กตุ๊กก่อนจะเดินทางไปแสดงที่ประเทศอื่นต่อ

‘ตุ๊กตุ๊กไทย’ มีที่มาจากไหน ทำไมใครๆ ก็มองว่าเป็น Soft Power ?

ชินเซคยอง

‘ตุ๊กตุ๊กไทย’ มีที่มาจากไหน ทำไมใครๆ ก็มองว่าเป็น Soft Power ?

เอ็ด ชีแรน

อีกหนึ่งรายได้ที่สำคัญของ “รถตุ๊กตุ๊ก” ในทุกวันนี้ก็คือ “ป้ายโฆษณา” ที่ติดอยู่ด้านหลังรถ ซึ่งบรรดาแฟนคลับ (แฟนด้อม) ของศิลปินหรือนักแสดงมักจะทำมาติดเพื่อฉลองวันสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อวยพรวันเกิด เปิดตัวภาพยนตร์หรือซีรีส์ ครบรอบการฟอร์มวง เป็นต้น ซึ่งค่าโฆษณาจะอยู่ที่ประมาณ 300-800 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับพื้นที่การวิ่งรถที่แตกต่างกัน

โดยเหตุผลที่แฟนคลับส่วนหนึ่งหันมาเลือก “รถตุ๊กตุ๊ก” แทนที่จะเป็น “รถไฟฟ้า” เหมือนในอดีตก็เพราะมีราคาไม่แพงมากทำให้สามารถติดป้ายได้มากขึ้น และเนื่องจากรถตุ๊กตุ๊กต้องวิ่งรับส่งผู้โดยสารเกือบทุกวัน ก็จะยิ่งทำให้คนทั่วไปมองเห็นป้ายได้มากขึ้น ที่สำคัญแฟนคลับคนอื่นๆ ก็สามารถเข้าไปถ่ายภาพได้ด้วย

‘ตุ๊กตุ๊กไทย’ มีที่มาจากไหน ทำไมใครๆ ก็มองว่าเป็น Soft Power ? แอลลี่ อชิรญา ศิลปินชาวไทยกับป้ายอวยพรวันเกิดจากแฟนคลับ (Spring News)

ท้ายที่สุดนี้แม้ว่า “รถตุ๊กตุ๊ก” จะไม่ได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ “ประเทศไทย” รวมถึงมีการดัดแปลงจากแบบดั้งเดิมมาเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในเมืองไทยมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้รถตุ๊กตุ๊กเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะเอกลักษณ์ที่สำคัญของประเทศไทยและกลายเป็นกิจกรรมเช็กอินยอดฮิตของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครหลายคนนิยามว่ารถตุ๊กตุ๊กก็ถือว่าเป็น “Soft Power” ที่สำคัญของประเทศไทย

อ้างอิงข้อมูล : Veicoli Speciali, VOGUE, Realtime carmagazine, Nation Story และ TCDC